Skip to main content

รายงานของบลูมเบิร์ก Anti-Vaxxer Propaganda Spreads in Asia, Endangering Millions ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ระบุว่า การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนโจมตีวัคซีนโควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปฏิเสธวัคซีน และการฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชาชนดำเนินไปอย่างล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อหลายล้านคนในภูมิภาคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในขณะที่มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ และบางประเทศไม่มีตัวเลือกเกี่ยวกับวัคซีนมากนัก ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นและไม่กล้าฉีดวัคซีนเช่นกัน

จากการสำรวจข้อมูล 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าสิงคโปร์ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วมากที่สุด โดยผู้ที่ฉีดวัคซีน 1 เข็มคิดเป็น 57.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และที่ฉีดครบโดสแล้วคิดเป็น 36.7% ตามด้วยกัมพูชาที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 19.8% และฉีดครบโดสอีก 16.2% ของประชากรทั้งหมด ส่วนมาเลเซียที่อยู่อันดับ 3 ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 16.0% และวัคซีนครบโดส 6.2% ของจำนวนประชากร หลังจากนั้นจึงเป็นติมอร์เลสเต ฉีดเข็มแรก 12.8% ของประชากร แต่ยังไม่ได้ฉีดเข็มสอง 

บรูไนฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 11.8% และฉีดครบโดส 2.6% ของประชากร ขณะที่อินโดนีเซียฉีดเข็มแรก 10.6% และฉีดเข็มสอง 5.0% ของประชากร ส่วนลาวฉีดเข็มแรก 10.0% และเข็มสอง 5.4% ของประชากร ตามด้วยไทยซึ่งฉีดเข็มแรกไปแล้ว 9.7% และเข็มสอง 3.9% ของประชากร จากนั้นจึงเป็นฟิลิปปินส์ที่ฉีดเข็มแรก 5.8% และเข็มสอง 2.0% เมียนมาฉีดเข็มแรก 3.4% และเข็มสอง 0.2% ส่วนเวียดนามติดอันดับสุดท้าย ฉีดเข็มแรก 3.4% และเข็มสอง 0.2%

ข้อมูลบิดเบือนกระทบความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน

บลูมเบิร์กระบุว่าการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนที่มีส่วนให้ประชาชนไม่มั่นใจหรือไม่กล้าฉีดวัคซีน พบในหลายประเทศ พร้อมยกตัวอย่างกลุ่มชาวคริสต์เคร่งศาสนาในฟิลิปปินส์ที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอในกลุ่ม โดยอ้างข้อมูลที่เป็นทฤษฎีสมคบคิด ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ ระบุว่า การฉีดวัคซีนโควิดเป็นการต่อต้านพระเจ้า ทำให้ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากไม่เข้ารับฉีดวัคซีน และข้อมูลอีกชุดหนึ่งระบุว่าที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาเชื่อถือได้มากกว่าวัคซีนที่ผลิตในประเทศอื่นๆ ทำให้ประชาชนเกิดการลังเลและรอเพื่อจะฉีดวัคซีนตัวที่ประสิทธิภาพดีที่สุด

ขณะที่มาเลเซียกับสิงคโปร์ พบว่ามีการเผยพร่ข้อมูลเกินจริงเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด โดยเฉพาะวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) มีการบิดเบือนว่าถ้าฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมในร่างกาย ส่วนกรณีของประเทศไทย มีการอ้างอิงผลสำรวจของสวนดุสิตโพล พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เชื่อมั่นวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อจัดหามาใช้ในประเทศ 

วัคซีนทางเลือก แต่คนส่วนใหญ่ 'เข้าไม่ถึง'

บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การฉีดวัคซีนในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล่าช้า คือ การจัดซื้อจัดหาและการกระจายวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งบทความของบลูมเบิร์กไม่ได้ยกตัวอย่างชัดเจน แต่วันเดียวกับที่บทความดังกล่าวเผยแพร่ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทยได้ทวีตข้อความพร้อมแฮชแท็ก #โมเดอร์นา จนติดเทรนด์ยอดนิยมในช่วงเช้า 

ผู้ติดแฮชแท็กส่วนใหญ่แสดงความเห็นต่อกรณีที่ครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนในไทย เคาะราคาวัคซีนโควิดของ 'โมเดอร์นา' ที่ 3,400 บาทต่อ 2 เข็ม กลายเป็นต้นทุนที่ประชาชนต้องออกเงินเองเพื่อจะได้เข้าถึงวัคซีนทางเลือก ทั้งที่ความเป็นจริง รัฐบาลต้องรับผิดชอบจัดซื้อจัดหาให้ครอบคลุมกับจำนวนประชากร เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกดำเนินการ

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว ‘รอยเตอร์ส’ รายงานด้วยว่า สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดหาวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) มาฉีดในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพดีขึ้นด้านการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมระบุว่าสัดส่วนวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาหนักไปทางซิโนแวคมากเกินไป แต่ผลการศึกษาหลายแห่งบ่งชี้ว่าซิโนแวคฉีดครบ 2 เข็มแล้วก็ยังไม่ได้สร้างภูมิให้เกิดขึ้นมากนัก