Skip to main content

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดพิษณุโลก อภิปรายให้ความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเรื่องระบบเลือกตั้ง โดยระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ ไม่ได้แก้ปัญหาทางโครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยว และเป็นการเอาข้อดีบางข้อมาอ้าง เพื่อปกปิดมาตราสำคัญ แต่กลับยิ่งส่งเสริมผลประโยชน์ของรัฐบาลใน ‘ระบอบประยุทธ์’ 

การเสนอในมาตรา 144 และ 185 เปิดช่องให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปแทรกแซงการทำงานของราชการ และการจัดสรรงบประมาณได้ พอมาบวกกับการเสนอแก้ไขระบบการเลือกตั้ง โดยไม่ปิดสวิตซ์ ส.ว. สภาแห่งนี้และประชาชนเลยดูออกไม่ยากว่า "หวังกินทั้งงบประมาณ กินทั้งอำนาจในพื้นที่ กินอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี กินรวบเบ็ดเสร็จและมูมมาม"

“ตอนนี้นอกห้องประชุม ประชาชนเกิดคำถาม เกิดความกังวล และความไม่เชื่อมั่น ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ การเดินหน้าผลักดันให้ประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่คืบหน้าเลยแม้แต่น้อย ถูกตีตก ถ่วงเวลาสารพัดรูปแบบ หรือถ้าจะทำก็ไปกำหนดตรงนั้นตรงนี้ให้ แก้นั้นได้ แก้นี้ไม่ได้ สารพัดวิธีการที่จะไม่ให้อำนาจกับประชาชน แต่กลับรีบเร่งเสนอเสนอหลายมาตรา หลายประเด็นจนประชาชนสับสน ขอให้ยอมรับกันตรงไปตรงมาว่า การเสนอแก้กติกาเรื่องการเลือกตั้งโดยไม่ปิดสวิตซ์ ส.ว. เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น และที่น่าสลดก็คือ เมื่อจะคุยเรื่องกติกาการแข่งขัน ผู้เล่นที่มีส่วนได้เสียมาเถียงกันเรื่องระบบเลือกตั้งกันเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนจะตำหนิสภา ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองกันอยู่”

ปดิพัทธ์ ชี้ว่า พรรคก้าวไกลเองก็ถูกกล่าวหาว่าที่ไม่ต้องการให้มีการแก้กติกาเลือกตั้ง เพราะกลัวแพ้ อยากยืนยันว่า ตนและเพื่อนๆอดีตพรรคอนาคตใหม่ เข้าสู่สนามการเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญ 60 โดยรู้ทั้งรู้ว่ากติกานี้ไม่ใช่แค่กติกาที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่เขียนมาเพื่อพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. มีการใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบทุกรูปแบบ แต่เราก็ตัดสินใจแข่ง เนื่องจากไม่รู้จะลงคะแนนให้พรรคใดที่เป็นตัวแทนอุดมการณ์และนโยบายที่เราต้องการ เราจึงตั้งพรรคขึ้นมาโดยยืนยันมาแต่แรกว่าพร้อมสู้ในทุกกติกา 

"ผมฟังสัมภาษณ์ของแกนนำพรรครัฐบาลที่บอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อเรา แต่เราก็เข้าสู่สนามนี้ และได้รับความไว้ใจจากพี่น้องประชาชน และตั้งแต่วันแรกที่เรามีพรรคการเมือง เราพูดมาตลอดว่าระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูณ 60 ไม่ได้มาตรฐาน ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่สภาลืมเรื่องที่สำคัญที่สุดไป คือ ไม่ว่าเราเลือกตั้งด้วยระบบอะไรก็แล้วแต่ ส.ว.250 กกต. และศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ การเสนอแก้ระบบเลือกตั้งแต่ไม่แก้องคาพยพของ คสช. ที่กำกับและมีผลกับการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่ข้อเสนอที่เป็นจริงเลย"

"อย่างไรก็ตาม หากพรรคก้าวไกลต้องให้ความเห็นต่อระบบเลือกตั้ง ผมในฐานะ ส.ส.เขต และรอบหน้าก็จะลงสมัครในระบบเขตอีกครั้งเพื่อให้ชาวพิษณุโลกพิจารณาใหม่ และในฐานะที่เป็นกรรมาธิการพัฒนาการเมือง ซึ่งได้หารือกับนักวิชาการและฟังความเห็นของประชาชนมาตลอดสองปี ผมสรุปได้ว่าการออกแบบระบบเลือกตั้งไม่ควรเริ่มคุยกันเรื่องเทคนิค แต่จะต้องเริ่มคิดอยู่บนหลักการใหญ่ๆ 3 ด้านด้วยกัน คือ หนึ่งสะท้อนเสียงของประชาชนได้มากที่สุด ต่อให้ไม่ใช่ในอุดมคติ แต่ต้องมีความพยายามที่จะใกล้เคียงมากที่สุด สองสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมของพรรคการเมืองทุกพรรค เปิดโอกาสให้เกิดการริเริ่มและพัฒนาพรรคการเมือง สามสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันทางการเมืองในระยะยาว"

ปดิพัทธ์ ระบุว่า ด้วยเหตุนี้ การกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบปี 40 แต่เอามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 60 ฉบับแก้ไข จึงเข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการต้องการกินรวบสภาแห่งนี้ เพื่อเป็นภาคต่อของกระบวนการสืบทอดอำนาจ ผ่านละครปาหี่ที่เรียกว่า ‘การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา’ โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง เห็นด้วยว่าระบบการเลือกตั้งแบบปี 40 ดีที่สุดเท่าที่ผ่านมา และดีกว่าระบบการเลือกตั้งพิสดารของปี 60 แต่สิ่งที่ต้องการเสนอต่อสภาและพี่น้องประชาชนคือ เราทำระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ โดยการแก้ไขจุดอ่อนที่เรียนรู้ผ่านการเลือกตั้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และต้องเตือนตัวเองว่าเราหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า 

“รัฐธรรมนูญปี 40 ออกแบบมาจากบริบทของความล้มเหลวทางการเมืองหลายด้าน การเมืองไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ บริหารประเทศไม่ได้ และเราจึงปฏิรูปการเมืองและทำได้ดีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ กติกาเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ใช้บัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต อีกใบหนึ่งเลือกพรรค ระบบนี้ทำให้เกิดสิ่งที่ดีมากคือ เกิดการแข่งขันเชิงนโยบาย เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แต่ก็เหมือนกับทุกเรื่อง 

เมื่อทดลองใช้ไปแล้วก็มีบทเรียนหลายด้านที่ยังต้องปรับปรุง จุดอ่อนใหญ่ที่สุดของระบบเลือกตั้งคู่ขนานปี 40 คือ จำนวนส.ส. ที่ได้ของแต่ละพรรคเบี่ยงเบน ไม่สอดคล้องกับผลคะแนนเสียงของประชาชน จากการวิจัยของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งในปี 2548 พรรคอันดับหนึ่งได้คะแนนเสียง 55.49% แต่ได้จำนวน ส.ส. 77.50% เกินมา 22% ขณะที่พรรคอันดับสองได้คะแนนเสียง 24.95 แต่ได้จำนวนส.ส.เพียง 17.50 น้อยกว่าที่ควรจะได้ 7.45% 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในช่วงนั้นมีความมั่นคงตามการออกแบบระบบการเลือกตั้ง แต่เมื่อเห็นชัดว่าสัดส่วนคะแนนไม่ถูกต้อง แล้วเราไม่เรียนรู้จากผลการใช้งานระบบเลือกตั้ง ทั้งที่ข้อเท็จจริงชัดขนาดนี้ คิดว่าจะทำให้แม้แต่ผู้เสนอก็ตอบประชาชนไม่ได้ว่าซ่อนความคิดอะไรอยู่ หรือจริงๆรู้อยู่แล้วว่ามีจุดอ่อนตรงนี้ แต่เป็นฝันหวานของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่หวังเป็นโอกาสในการกินรวบสภา เอาการคิดถึงประชาชนและการแก้รัฐธรรมนูญเล็กๆ น้อยๆ มาเป็นข้ออ้าง พรรคก้าวไกลจึงไม่สามารถรับหลักการในเรื่องนี้ได้” 

นอกจากปัญหาของการคิดคำนวนคะแนนไม่ได้สัดส่วนที่ถูกต้องแล้ว ยังมีปัญหาตามมาในการตรวจสอบถ่วงดุล มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ และ ส.ว.เลือกตั้ง เกิดการดูดก๊วน รวมพรรค รวมขั้วของพรรคต่างๆ จนไม่เกิดการตรวจสอบสมดุลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภายในรัฐสภาและภายในฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงกลายเป็น ‘ข้ออ้าง’ ของการรัฐประหาร จนประเทศถูกแช่แข็งมา 15 ปีเต็ม คำถามคือประวัติศาตร์เป็นแบบนี้ จะกลับไปจริงๆหรือ 

ปดิพัทธ์ ชี้ว่า เราควรจะคิดถึงระบบการเลือกตั้งที่นำสังคมไปข้างหน้า ระบบเลือกตั้งปี 40 มีมรดกที่ดีที่ควรเก็บไว้ แต่มีข้อบกพร่องที่ชัดเจนมาก เรื่องสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่ไม่สอดคล้องกับคะแนนเสียงของประชาชน มีปัญหาในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ดังนั้น โจทย์แรกที่ควรใช้ในการออกแบบการเลือกตั้งที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคต คือควรหาระบบที่ปิดจุดอ่อนของการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 40 ให้ได้ สร้างระบบเลือกตั้งด้วยบัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือกคนที่รักเป็น ส.ส.เขต ใบที่สองเลือกพรรคที่ชอบเป็นปาร์ตี้ลิสต์ และสุดท้ายคือได้สัดส่วนจำนวน ส.ส.ตรงตามเสียงของประชาชนมากที่สุด 

โจทย์ที่สอง คือควรออกแบบการเลือกตั้งโดยนำโจทย์ของสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตมาเป็นตัวตั้ง เพื่อเป็นการออกแบบที่คิดถึงสังคมที่เราฝันเห็นร่วมกัน โจทย์ของการเมืองไทยในวันนี้ ไม่เหมือนเมื่อปี 40 แล้ว ประเด็นเรื่องของรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ และประเด็นการตรวจสอบถ่วงดุล ยังเป็นปัญหาสำคัญ แต่โจทย์ในปัจจุบันและอนาคตที่ชัดเจนมากกว่า คือการต่อสู่ระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ ความคิดเก่ากับความคิดใหม่ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย ซึ่งยังหาจุดลงตัวไม่ได้ มีการขยายอำนาจของกองทัพ มีการย้ายกำลังพลออกจากกลไกรัฐปกติ มีการขยายตัวของรัฐราชการรวมศูนย์ ขยายอำนาจของทุนผูกขาด ทำทุกวิถีทางที่ให้อำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเข้มแข็งขึ้น ตรึงและขยายพื้นที่อำนาจในการครอบครองทรัพยากรของประเทศนี้ กดทับและคุกคามอำนาจของประชาชนและอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง คนหนุ่มสาวและประชาชนจำนวนมากที่แสดงออกถึงความฝันที่เกินกว่าเพดานทางการเมืองแบบเก่าๆ กลับถูกคุกคาม จับกุมด้วยข้อหาร้ายแรง ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองให้ได้สิทธิในการมีชีวิตที่ดีและปลอดภัย เห็นชัดเจนจนตาสว่างทั้งแผ่นดินจากสถานการณ์โควิดทุกมิติ 

“ระบบการเลือกตั้งต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ เพื่อให้โลกเก่ากับโลกใหม่ได้ปะทะกันอย่างสันติในระบบรัฐสภา เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้สามารถผนวกรวมเอาตัวแทนของคนไทยทุกคนเข้ามา ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ๆ ความใฝ่ฝันใหม่ๆที่โลกใบเก่าไม่อยากได้ยิน มากกว่าแค่คิดจะกินรวบอำนาจในแบบเดิม ซึ่งจะทำให้สภาไม่สามารถแสวงหาฉันทามติได้” 

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า พรรคก้าวไกลขอเสนอให้ประชาชนพิจารณาต่อไป คือ ระบบการเลือกตั้งแบบ MMP ที่ไม่ใช่ระบบกลายพันธุ์แบบคุณมีชัยเป็นทางออก ซึ่งระบบ MMP มีการใช้ในหลายประเทศรวมถึงเป็นข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สะท้อนเสียงของประชาชนได้มากที่สุด หรือต่อให้ไม่ใช่ในอุดมคติก็มีความพยายามที่จะใกล้เคียงมากที่สุด และอยู่ในหลักของระบบการเลือกตั้งที่ดี  สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมของพรรคการเมืองทุกพรรค สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันทางการเมืองในระยะยาว ปิดจุดอ่อนได้ และตอบโจทย์การเมืองไทยในปัจจุบันและอนาคต 

สำหรับข้อเสนอ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องรัฐสภาให้ปฏิเสธร่างของพลังประชารัฐ ที่ส่อเจตนาที่เจตนาร้ายในการกินรวบสภานี้ออกไป และในเมื่อ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติได้ผ่านการพิจารณาแล้ว ก็ควรเดินหน้าผลักดันคืนอำนาจให้กับประชาชน และปล่อยให้ สสร.ที่มาจากประชาชนเป็นผู้ออกแบบระบบการเลือกตั้ง เพราะมีแต่การหารือ ถกเถียงของประชาชนเท่านั้นที่จะทำให้กติกาการเลือกตั้งซึ่งเป็นของประชาชนสามารถพูดได้ว่า ออกแบบมาเพื่อพวกเรา ที่พวกเราไม่ใช่คนที่นั่งอยู่ในห้องนี้เป็นคนพูด ถ้าให้ประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญ ตนมั่นใจเต็มร้อยว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญ และระบบเลือกตั้งที่ดีขึ้นกว่า 40 แน่นอน 

"File:Pita Limjaroenrat - 2.jpg" by Sirakorn Lamyai is licensed under CC BY-SA 4.0

'พิธา' จี้ถก “อำนาจสูงสุดของประเทศนี้ เป็นของใคร?

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายให้ความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่รัฐสภาได้อภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 89 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ​​เพราะ ‘ปมปัญหาใจกลาง’ ที่ยังไม่ลงตัวนับตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2475 คือ "อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของใคร" โดยยืนยัน "ต้องถกกันให้จบใน ‘รัฐธรรมนูญ’ ฉบับใหม่" พร้อมอวยพรถึงผู้มีอำนาจให้อายุยืนพอได้เห็นความพยายามเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาล่มสลาย และรับรู้กับตาตัวเองว่าจะถูกผู้คนและยุคสมัยตราหน้าว่าอย่างไร 

“วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งในประเทศนี้ เช่น เป็นจุดที่ให้กำเนิดระบบรัฐสภา เป็นวันที่ไพร่ฟ้าทั้งหลายได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นเจ้าของประเทศที่มีสิทธิเสมอกัน วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ยังเป็นจุดกำเนิดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามาอภิปรายกันในวันนี้ แก่นแกนที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญหลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ปรากฏอยู่ในมาตราแรก ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเรียบง่ายว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” นี่คือเจตจำนงที่ต้องการจะเปลี่ยนระบอบการเมืองจากระบอบเจ้าชีวิต มาสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ สร้างสถาบันการเมืองที่ยึดโยงกับอำนาจสูงสุดของราษฎร หาใช่อำนาจที่ทำนาบนหลังราษฎร” 
 
อย่างไรก็ตาม พิธา กล่าวต่อไปว่า เจตจำนงในการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ถูกต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่า และเกิดการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 2490 โดยกองทัพกับฝ่ายนิยมเจ้า ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบของการยึดอำนาจในประเทศไทยหลังจากนั้นเรื่อยมาด้วยการทำการรัฐประหาร เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจ พอไม่พอใจก็ทำรัฐประหารใหม่ วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบ
 
“วุฒิสภาที่เรารู้จักกันในวันนี้ ก็กำเนิดขึ้นจากการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรก เราถูกสอนให้ท่องกันมาผิดๆ ตลอดว่าวุฒิสภามีหน้าที่ในการช่วยกลั่นกรองกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วหน้าที่หลักเสมอมาของวุฒิสภาไทยคือ เป็นกลไกหนึ่งที่คอยกดทับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้อยู่ใต้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีครั้งเดียวที่เรามีสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง นั่นคือ วุฒิสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 แต่สุดท้าย รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปธงเขียวก็จบชีวิตอันสั้นลง ด้วยการรัฐประหาร 2549 หลังจากนั้นการเมืองไทยก็ถอยหลังลงคลองเรื่อยมาจนมาจบที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญ ประสบการณ์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย คือการจัดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 การปฏิรูปการเมืองและการจัดทำรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ถูกออกแบบด้วยโจทย์และสถานการณ์ของสังคมไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นหลงเชื่อกันว่า ทหารได้กลับเข้ากรมกองไปแล้ว จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกแล้ว ปัญหาหลักของการเมืองไทยมีเพียงการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง พรรคการเมืองไม่มีความเป็นสถาบัน และรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ” 
 
พิธา กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญ 40 พยายามออกแบบให้เน้นระบบสองพรรคการเมืองใหญ่ ภายใต้การกำกับควบคุมขององค์กรอิสระต่างๆ ที่หวังเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ นอกจากนี้ ยังพยายามเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนและขยายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผลของรัฐธรรมนูญ 40 ประสบความสำเร็จ ทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงมาก ประชาชนได้ผลประโยชน์จากการแข่งขันในเชิงนโยบาย แต่ต่อมาก็เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในปัญหาเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ เกิดคำถามเกี่ยวกับการแทรกแซงองค์กรอิสระ ตนเชื่อว่า หากปล่อยให้สังคมได้เรียนรู้ประสบการณ์และใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยในการแก้ข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น สังคมการเมืองไทยคงจะพัฒนาไปไกลกว่านี้มากแล้ว

“ทว่า ‘การเมืองที่มีเสถียรภาพ’ ก็ถูกกระชากให้ตื่นขึ้นมาพบกับ ‘การเมืองที่เป็นจริง’ เมื่ออดีตประธานองคมนตรีท่านหนึ่งได้ไปบรรยายที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ต่อหน้าผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นว่า เราเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จากนั้นท่านก็เปรียบเปรยว่ารัฐบาลเป็นเพียงแค่ jockey เป็นเด็กขี่ม้า แต่ไม่ใช่เจ้าของม้า ซึ่งเจ้าของม้าที่ว่าไม่ใช้ประชาชนหรือรัฐบาลด้วยซำ้ไป
 
นี่เป็นปฐมบทที่สุดท้ายจบลงด้วยการก่อรัฐประหารในปี 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเมื่อรัฐประหาร 2549 ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 กระทั่งเรามีรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในวันนี้”

 
พิธา ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันนี้ คือความขัดแย้งทางการเมืองที่ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนโดยแสดงผ่านอำนาจจากการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา ดังนั้น ประเด็นที่ควรนำมาเป็นโจทย์ในการพิจารณาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้และในอนาคต จึงเป็นปัญหาที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้ เป็นของใคร ซึ่งนี่เป็นปมปัญหาใจกลางที่ยังไม่ลงตัวนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475
 
ปัญหาใจกลางของการเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องงบประมาณของ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพที่เป็นแค่ตัวหนังสือ ไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้งที่หวังว่าจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมาก เพราะต่อให้ใครชนะเลือกตั้งได้ท่วมท้นเพียงใด พวกเราก็เป็นได้แค่เพียง ‘เด็กขี่ม้า’ ซึ่งม้าอาจพยศอีกเมื่อไรก็ได้ตามคำสั่งเจ้าของม้า
 
ตราบใดที่ยังแก้ปมปัญหาใจกลางนี้ไม่ได้ เราจะไม่สามารถหลุดออกจากหลุมดำทางการเมืองได้ และสังคมไทยคงจะไม่มีศักยภาพไปทำเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทลายทุนผูกขาดที่เกาะกุมกันแน่นกับระบบการเมืองที่ผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้ประชาชนพร้อมที่จะเผชิญกับโลกยุคใหม่ หรือไม่ว่าจะเป็นการยกเครื่องระบบการศึกษาให้ลูกหลานของเราเท่าทันโลก
 
“เมื่อมองเห็นการเมืองที่เป็นจริงเช่นนี้ ผมและพรรคก้าวไกลจึงเสนอให้รัฐสภาเร่งเดินหน้าการจัดทำประชามติเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้แสวงหาฉันทามติร่วมกันว่าระบบการเมืองแบบไหนที่เรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน แม้จะมีความคิด ความฝัน หรืออุดมการณ์ไปกันคนละแบบ” 
 
พิธา สรุปทิ้งท้ายว่า ในการลงมติเฉพาะหน้าวันนี้ ขอเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภาผู้ที่ยังห่วงใยในอนาคตของบ้านเมือง ช่วยกันโหวตเพื่อหยุดแผนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุระบอบประยุทธ์ และร่วมมือร่วมใจกันโหวตเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อเปิดประตูบานแรกในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ ให้ได้ หากไม่สามารถปิดสวิตช์ ส.ว. ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้จะไมมีความหมาย เป็นเพียงละครตบตาประชาชนฉากใหญ่

“ท้ายที่สุดนี้ ผมขออวยพรผ่านไปยังผู้มีอำนาจทุกท่านที่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาไว้ได้ ผมขออวยพรให้ท่านมีอายุยืนเพียงพอที่จะเห็นความพยายามของท่านล่มสลายไม่มีชิ้นดี เห็นความต้องการของท่านถูกบดขยี้ด้วยกงล้อของเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีโอกาสรับรู้กับตาตัวเองว่า ผู้คนและยุคสมัยจะตราหน้าพวกท่านว่าอย่างไรในประวัติศาสตร์ของชาติเรา”