Skip to main content

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงการโหวตไม่รับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ว่า หยุดเอาประชามติอัปยศ อ้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งตนคือคนที่ถูกทหารจับกุม เพียงแค่เห็นต่างเรื่องประชามติไปจากคณะรัฐประหาร กลับถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร และต้องเข้าไปอยู่ในคุกถึง 21 วัน

และต้องทนนั่งฟัง ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว. อภิปรายยกเรื่องประชามติอัปยศในครั้งนั้น ที่คนเห็นต่างไปจากผู้มีอำนาจถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก ว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ผ่านประชามติของประชาชน 16 ล้านเสียง ไม่สมควรถูกแก้ไข

ประชามติแบบนี้ พวกท่านยังกล้าอ้างความชอบธรรมกันอยู่อีกเหรอ ประชามติที่ไม่ต่างอะไรจากการเอาปืนจี้หัวคนเห็นต่าง ไม่ควรได้รับความชอบธรรม
รัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการและเขียนมาเพื่อสืบทอดอำนาจต้องได้รับการแก้ไข ให้เป็นประชาธิปไตย ให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ตนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถูก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ปัดตกไป และผิดหวังที่หลายคนใช้ประชามติอัปยศในครั้งนั้น มาเป็นเหตุผลในการไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ

จึงอยากให้เพื่อนสมาชิกทุกคนระลึกไว้เสมอว่า การเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยนั้น เราต้องเคารพและปกป้องประชาชน ไม่ใช่ปกป้องผู้มีอำนาจ จนลืมประชาชนที่เลือกพวกเราเข้ามาทำหน้าที่

ย้อนอดีตปี 2559 กับการจับกุมผู้รณรงค์โหวตโน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ช่วงการทำประชามติ เจ้าหน้าที่ทหารคุมตัว บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ และทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ กับพวกรวม 11 คน ภายหลังตรวจค้นมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดซีพียู คอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง คอมพิวเตอร์จำนวน 2 ชุด และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของกล้องวงจรปิด และเอกสารส่วนหนึ่งภายในห้องของบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ไปตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อหาหลักฐานที่เกี่ยวโยงกับการบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งทั้งหมดโดนข้อหาหนัก ทั้งสิบคนถูกควบคุมตัวตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. มาตรา 44 รวมถึงถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดการทำผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเทือง และมาตรา 210 สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปกระทำการเข้าข่ายอั้งยี่ซ่องโจร

ครั้งนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นผู้จัดทำจดหมายวิจารณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีลักษณะบิดเบือน โดยมี บุญเลิศ และทัศนีย์ เป็นผู้จ้างวาน รวมถึงคนอื่นๆ เป็นผู้ควบคุม ยุยงปลุกปั่น ซึ่งข้อหาดังกล่าว ถูกส่งตรงไปดำเนินคดียังศาลทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่

หลังศาลทหารไม่ให้ประกันตัว อดีตนักการเมืองใหญ่ ก็ถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทันที โดยทั้งหมดถูกศาลคัดค้านไม่ให้ได้รับการประกันตัว ซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 10 ปี