ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ในฐานะแกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวถึงการศึกการแก้รัฐธรรมนูญว่า อยากชวนให้ประชาชนติดตามและจับตาการประชุมรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.นี้ เนื่องจากที่ประชุมรัฐสภาจะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งกฎหมายนี้มีความสำคัญพอๆ กับร่างแก้รัฐธรรมนูญ เพราะถ้าหากไม่มี พ.ร.บ.ประชามติฯ การจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเขียนใหม่ทั้งฉบับจะถูกยืดออกไปไม่รู้จบ และต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะที่ผ่านมามีการเลื่อนพิจารณากันมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยการเลื่อนครั้งแรก เลื่อนเพราะ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. แพ้โหวต ก็เลยขอเลื่อนไปแก้ไขเนื้อหาใหม่ ต่อมาก็พิจารณาไปหนึ่งครั้ง ก็มาบอกว่าพิจารณายังไม่เสร็จ ก็มีการขอเลื่อนไปอีก มารอบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาว่าจะเลื่อนพิจารณา พ.ร.บ. ประชามติ ถอยออกไป แล้วเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาก่อน
"ผมคิดว่า ร่าง พ.ร.บ. ประชามติ ต้องพิจารณากันให้จบ อย่างน้อยประชาชนจะได้มีหลักประกันว่าเราจะมีช่องทางในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงจำเป็นต้องช่วยกันจับตาตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. นี้" ณัชปกร กล่าวย้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อถูกถามถึงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขรายมาตราโดยพรรคพลังประชารัฐ และมีการคาดหมายกันว่าจะมีการรวบหัวรวบหางพิจารณากันให้จบและลงมติวาระหนึ่งภายในสิ้นเดือน หากร่างนี้ได้รับมติจากสภา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร
ณัชปกร กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ เนื้อหาส่วนใหญ่หากตัดเกรดเป็น A B C ก็จะเข้าเกณฑ์เป็นเพียงเกรด B และเกรด C หรือเป็นประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ จัดเป็นเพียงประเด็นลำดับที่ 2 และที่ 3 ที่จะหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาคุยกัน เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพที่ร่างของพรรคพลังประชารัฐเสนอ แม้เป็นเรื่องดี หรือต่อให้เขียนสิทธิเสรีภาพไว้ดี แต่ผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ดี จะมีประโยชน์อย่างไร เปรียบเหมือน 'การเอาน้ำตาลมาเคลือบยาพิษ' คือการเอาประเด็นสิทธิเสรีภาพมาล่อใจว่าจะมีการแก้ไขเรื่องที่สำคัญอย่างสิทธิเสรีภาพ แต่เอามากลบประเด็นที่ทางพรรคพลังประชารัฐอยากจะแก้จริงๆ คือ ระบบเลือกตั้ง กับ อำนาจหน้าที่ ส.ส.
"หัวใจร่างของพรรคพลังประชารัฐมี 2 เรื่อง แม้ว่าจะเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพมาทำเป็นเหมือนเคลือบน้ำตาลเพื่อห่อหุ้มยาพิษไว้ก็ตาม โดยมียาพิษที่อยากจะให้แก้จริงๆ อยู่ 2 เรื่อง คือ 1. แก้ระบบเลือกตั้ง 2. การให้อำนาจ ส.ส. มีส่วนในการใช้งบประมาณและแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำได้ ประเด็นแรกหากพูดถึงระบบเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐเสนอและเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอด้วย ส่วนตัวคิดว่า ถ้าหากเป็นระบบเลือกตั้งแบบปี 40 แท้ ผมคิดว่าอาจไม่ได้น่ากังวลมาก แต่พลังประชารัฐก็มีการสอดแทรกอะไรบางอย่างเข้ามา ทำให้น่าเกลียดกว่า" ณัชปกร ระบุ
ณัชปกร กล่าวต่อไปว่า การที่เขาเสนอให้กลับไปใช้บัตรแบบ 2 ใบ อาจฟังดูดี เพียงแต่การที่กำหนดสัดส่วนให้ ส.ส. เขต มีจำนวน 400 คน และ ส.ส. แบบสัดส่วนมีจำนวน 100 คนนั้น การเขียนแบบนี้มันสะท้อนว่าการเลือกตั้งแบบใหม่ เป็นระบบที่เน้นตัวบุคคล ซึ่งเอื้อให้ระบบเจ้าพ่อหรือพรรคที่มีความสามารถในการดูดตัว ส.ส. ยิ่งได้เปรียบ การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งรอบนี้จึงยิ่งปูทางให้พวกเขาสามารถสืบทอดอำนาจภาค 2 ได้ และการที่ระบบเลือกตั้งให้น้ำหนักกับ ส.ส. เขต มากก็ไปลดทอนความสำคัญของการเมืองเชิงนโยบายที่มาจากคะแนนเสียงของพรรค หรือ ที่นั่งของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ถูกจำกัดไว้เพียง 100 ที่นั่งเท่านั้น
"ยิ่งไปกว่านั้น เขายังไปเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไปขยายอำนาจให้ ส.ส. สามารถไปติดต่อราชการ ไปทำงานในพื้นที่ได้ สามารถจัดสรรงบประมาณ โยกงบประมาณได้ อันนี้เป็นการปลดล็อกให้บรรดา ส.ส. เขตทั้งหลายสามารถที่จะสร้างผลงานในพื้นที่ได้ จึงเห็นได้ว่าร่างของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นการมุ่งสืบทอดอำนาจต่อผ่านกลไกการเลือกตั้ง โดยเอาระบบเจ้าพ่อ มาเอาชนะชิงชัยกันในรอบนี้" ณัชปกร กล่าว
ณัชปกร กล่าวทิ้งท้ายว่า "พวกเขาก็น่าจะมั่นใจว่าสรรพกำลังต่างๆ ที่พวกเขามี ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน และกลไกต่างๆ ที่ใช้ตอนเลือกตั้งเมื่อครั้งที่แล้ว ก็ยังจะทำให้พวกเขาได้เปรียบอยู่ แม้ว่าจะเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากปี 60 กลับไปเป็นแบบระบบแบบปี 40 ก็ตาม และการที่ไปกำหนดด้วยว่าพรรคการเมืองที่จะส่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ต้องส่ง ส.ส. แบบเขตไม่น้อยกว่า 100 เขตนั้น ประเด็นนี้ก็ทำให้สมรภูมิ ส.ส.เขต เกิดการตัดคะแนนของพรรคที่อุดมการณ์ใกล้เคียงกันมากขึ้น"