Skip to main content

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่อาคารรัฐสภา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้แทนประชาชน 135,247 รายชื่อที่ผ่านการคัดกรองของรัฐสภา ที่ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา “รื้อระบอบประยุทธ์” ในนามของกลุ่ม Re:Solution ขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยชี้แจงในเนื้อหาสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการเพิ่มเติมบทบาทของฝ่ายค้านและบทบาทของสภาผู้แทนราษฎร, การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ, และการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร

เพิ่มอำนาจฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล-ส.ส.เป็นผู้ตรวจการกองทัพ

โดยปิยบุตร ได้อภิปรายเพิ่มเติมถึงกรณีการเพิ่มบทบาทของฝ่ายค้านและบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่าเมื่อข้อเสนอของกลุ่มเรายืนยันให้ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะเป็นจะต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม

ประกอบด้วย การกำหนดให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 1 คน จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายค้าน กำหนดให้ประธานกรรมาธิการสามัญในคณะสำคัญ ที่มีบทบาทในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินอย่างน้อย 5 คณะ จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายค้าน และการแบ่งสรรปันส่วนประธานกรรมาธิการวิสามัญ จำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนกับให้กับ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน

ยกเลิกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเงิน ที่ปัจจุบันต้องให้นายกรัฐมนตรีให้การรับรองก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภา เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีสามารถคว่ำร่างพระราชบัญญัติที่ ส.ส.เสนอมาได้ ทั้งที่ควรเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณากันเอง 

กลับมาใช้บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ป้องกันไม่ให้นายทหารที่ทำรัฐประหารมาสืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนทุกครั้ง และเพิ่มบทบาทของประชาชน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเฉพาะหมวดสิทธิและเสรีภาพหรือหมวดห้าหน้าที่ของรัฐ

และให้มีการตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพ มาจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 5 คน ส.ส.ฝ่ายค้านอีก 5 คน เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ และเป็นหลักประกันที่ให้ทหารชั้นผู้น้อย ได้มีโอกาสร้องเรียนเรื่องทางวินัยต่อคณะผู้ตรวจการกองทัพ และให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน 1 คนรัฐบาล 1 คน เข้าไปนั่งอยู่ในสภากลาโหม 2 คนเท่ากัน

ปฏิรูปศาล รธน.และองค์กรอิสระให้เป็นกลาง-ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

ปิยบุตรอภิปรายต่อไปถึงข้อเสนอการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเกิดขึ้นในประเทศไทยหลังรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นดอกผลของการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปการเมืองมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และในที่สุดก็นำมาซึ่งการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 

แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นมา มีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลไปครอบงำวุฒิสภาเพื่อครอบงำที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอีกทีหนึ่ง เป็นหนึ่งในข้ออ้างของการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากนั้นก็มีการทำรัฐธรรมนูญ 2550 ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งนึง

ต่อมา เกิดการรัฐประหารปี 2557 ที่นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้วุฒิสภาที่จะเป็นคนเคาะคนสุดท้ายว่าใครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งปัจจุบันทั้งหมด 250 คนมาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. โดยที่หลายคนมาจากความเห็นชอบของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในสมัยที่ คสช. ยึดอำนาจมาด้วย

“นี่ย่อมแสดงให้เห็นชัด ว่าต่อให้คุณอมพระมาพูด ต่อให้คุณพูดทุกวันคุณเป็นกลางต่อให้คุณพูดทุกวัน ว่าเป็นอิสระ ต่อให้รัฐธรรมนูญเขียนว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลางและอิสระ ต่อให้รัฐธรรมนูญเขียนว่าองค์กรอิสระมีความเป็นกลางและอิสระ แต่ข้อเท็จจริงมันปรากฏให้เห็นอย่างที่เป็นที่ประจักษ์ชัด ว่าที่มานั้นมันไปเชื่อมโยงกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของคุณประยุทธ์ เชื่อมโยงกับสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ไปเชื่อมโยงกับหัวหน้า คสช.” ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ว่าผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญ คำตัดสิน การชี้ขาดหลายเรื่องนำไปสู่ปัญหากับสังคม มีการตั้งคำถามจากประชาชนว่าสุดท้ายแล้วเรามีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อเป็นเครื่องมือให้ฝักฝ่ายทางการเมืองเข้าไปช่วงชิงกันแน่

ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ว่าในเมื่อทุกฝ่ายต่างอยากจะเข้ามาครอบงำกำหนด แล้วต่อให้ออกแบบวุฒิสภาอย่างไรก็หนีการครอบงำทางการเมืองไม่พ้น จึงควรแบ่งสรรปันส่วนอำนาจให้เท่าเทียมกัน

โดยข้อเสนอ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มี 9 คนเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เป็นผู้คัดเลือกมา 6 คน ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอมาอีก 6 คน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสนอมาอีก 6 คน รวมแล้วเป็น 18 คน

แล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เลือกให้เหลือฝั่งละ 3 คน ด้วยมติ คือ 2 ใน 3 เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรยึดองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญได้

ส่วนกรณีองค์กรอิสระ ก็กำหนดให้มีที่มาจากสัดส่วนของสามฝ่าย ในทำนองเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยต้องใช้มติสองในสาม

นอกจากนี้ เรายังเสนอให้มีการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และให้มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุล โดยในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ให้คงเหลือเฉพาะอำนาจในเรื่องสำคัญ คือการตรวจสอบพระราชบัญญัติว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และชี้ขาดเมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญขัดแย้งกัน 

และเพื่อสร้างความเป็นกลางและความอิสระอย่างแท้จริง เราเสนอว่าบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จะต้องไม่เคยเป็นคนที่ดำรงตำแหน่งจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 

พร้อมกับให้มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุล และการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยการถอดถอนต้องมีเหตุ เช่น ส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าใช้อำนาจโดยมิชอบขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่อว่าจะทุจริตต่อต่อความยุติธรรม แล้วเราเปิดให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าชื่อเสนอถอดถอนด้วย

โดยให้มีองค์คณะพิจารณาถอดถอน ซึ่งจะมีตุลาการศาลเข้ามานั่งร่วมกันด้วยร่วมกับ ส.ส. ให้มีคำวินิจฉัยด้วยมติที่สูงมาก หากมติองค์คณะฯเห็นว่าควรถอดถอน ก็ให้มาลงมติต่อที่สภาผู้แทนราษฎร์ ซึ่งต้องใช้มติ 3 ใน 4 จึงจะถอดถอนได้

“เราสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมาเป็นองค์กรตรวจสอบ แต่คำถามที่ต้องคิดกันต่อคือแล้วใครตรวจสอบองค์กรตรวจสอบ หากไม่มีคนมาตรวจสอบองค์กรตรวจสอบ องค์กรตรวจสอบก็มีโอกาสใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยเช่นเดียวกัน ในเมื่อเรามอบความภารกิจการตรวจสอบให้องค์กรเหล่านี้ คุณก็ต้องถูกตรวจสอบเช่นเดียวกัน” ปิยบุตรกล่าว

นอกจากนี้ ปิยบุตรยังกล่าวถึงข้อเสนอให้มีผู้ตรวจการศาลและผู้ตรวจการองค์กรอิสระ เป็นระบบถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายตุลาการ รมาจาก ส.ส.รัฐบาล 5 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 5 คน โดยไม่ได้มีอำนาจยกเลิกการตัดสินของศาลและองค์กรอิสระ แต่มีอำนาจหน้าที่ในการเอาคำวินิจฉัยต่าง ๆ มาศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบ ทำเป็นรายงานเสนอต่อประชาชน



เลิกมาตรา 279-เลิกนิรโทษฯคนทำรัฐประหาร-ให้อำนาจ ปชช.ต้านรัฐประหาร


ปิยบุตรยังอภิปรายต่อไป ถึงข้อเสนอการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วย การยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ที่ว่าด้วยการรับรองให้บรรดาประกาศ/คำสั่ง คสช.และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560

ปิยบุตรระบุว่าการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ สร้างหลุมดำให้กับระบบรัฐธรรมนูญและความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เท่ากับยอมให้ประเทศมีกฏหมายสองระบบ คือระบบทั่วไปทุกอย่าง สามารถถูกโต้แย้งที่ศาลได้หมด แต่อีกระบบหนึ่งคือบรรดาอำนาจของ คสช.จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ไปชั่วกัลปวสาร

“ถ้าคุณมั่นใจว่าการกระทำหน้าคุณถูกต้องทั้งหมดคุณจะกลัวอะไร แต่ผมก็ได้ยินรัฐมนตรีท่านพูดอยู่บ่อยครั้งด้วย ว่าไม่ทำผิดกลัวอะไร ต้องเคารพกฎหมาย นี่แหละตัวอย่างของการเคารพกฎหมาย อันแรกคือยกเลิกมาตรา 279 ไปเสีย” ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตรยังกล่าวต่อไปถึงข้อเสนอ ประกาศให้การนิรโทษกรรมรัฐประหารปี 2557 เป็นโมฆะ ให้การยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นความผิดฐานกบฏ สามารถถูกดำเนินคดีได้ ซึ่งไม่ใช่การล้างแค้น แต่เพื่อป้องกันไม่ให้นายทหารรุ่นหลังมาทำรัฐประหารอีก  

และยังให้ปวงชนชาวไทย มีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านการรัฐประหารในทุกวิธีการ และให้บรรดาข้าราชการ ทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน มีหน้าที่ในการไม่ฟังคำสั่งของคนทำรัฐประหาร พร้อมกันนั้น ห้ามมิให้ศาลพิพากษาในลักษณะที่เป็นการยอมรับการรัฐประหารด้วย



นี่คือร่าง รธน.ที่อยู่บนกติกาที่เป็นกลาง วอนสมาชิกร่วมผ่านวาระแรก เห็นแก่อนาคตของประเทศ


ในช่วงท้าย ปิยบุตรได้อภิปราย ระบุว่าทั้งสองประเด็นที่พูดไปนี้ จะเห็นได้ว่าไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการสร้างกติกาที่เป็นกลาง เพื่อนสมาชิกควรคิดอยู่เสมอ ว่าวันหนึ่งเราอาจจะเป็นฝ่ายค้าน วันหนึ่งเราอาจจะกลายมาเป็นรัฐบาล และวันนึงเราก็อาจจะกลับมาเป็นฝ่ายค้านได้อีก

รัฐธรรมนูญที่ดีต้องสร้างกติกาการเมืองในลักษณะที่ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ตนอภิปรายมาถึงตรงนี้ ไม่เห็นเหตุผลอื่นใดที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่พี่น้องประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอมา

ทั้งนี้ หากเพื่อนสมาชิกมีความเห็นที่แตกต่างกัน เรายังมีโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขในวาระที่สอง และหากผ่านวาระที่สาม ก็ยังมีหนทางไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีก และยังต้องไปทำประชามติตอนจบอีกด้วย

จึงขอความเห็นชอบจากเพื่อนสมาชิกร่วมลงมติรับหลักการวาระที่หนึ่งไปก่อน อย่างน้อยที่สุดเพื่อเป็นการแสดงออกว่าพวกท่านไม่ได้ปิดประตูใส่พี่น้องประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกันมา เป็นการแสดงออกว่าท่านพร้อมรับฟังร่างฯที่ประชาชนเสนอมา

“หากเรื่องนี้หากผ่านไปได้ บังคับใช้ได้จริง เราจะได้ศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันของระบอบเสรีประชาธิปไตย เราจะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญที่รับรองการรัฐประหาร ตัดสินโดยเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ นำมาซึ่งการก่อวิกฤติการณ์ทางการเมือง เราจะมีองค์กรอิสระที่มีความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ได้ดุลยภาพในทุกอำนาจ ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดด้วยกัน ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของทุกฝ่ายทางการเมือง คนทำรัฐประหารจะต้องถูกดำเนินคดีและการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ร่วมกันของประเทศชาติและประชาชน ขอความกรุณาเพื่อนสมาชิกรัฐสภาทุกท่านช่วยกันลงมติรับหลักการในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย” ปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย