Skip to main content

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และพริษฐ์ วัชรสินธุ จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ในฐานะแกนนำกลุ่ม Re-solution ร่วมจัดรายการ "สปอยล์ ประชุมสภา ผ่าร่างแก้รัฐธรรมนูญ Season 3" วิเคราะห์สถานการณ์การแก้รัฐธรรมนูญ หลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรารื้อระบอบประยุทธ์ที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา ซึ่งจะมีการเปิดอภิปรายในวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายนนี้

ย้ำ ส.ว. ไร้ประโยชน์-เปลืองงบ ประชาชนตัดสินใจได้เองควรมีต่อไปหรือไม่

ทั้งสอง ได้ร่วมกันสรุปเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับรื้อระบอบประยุทธ์ของกลุ่ม Re-Solution ซึ่งภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภา โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1) ล้ม วุฒิสภาเดินหน้าสู่สภาเดี่ยว 2) โละ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 3) เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ และ 4) ล้าง ผลพวงการรัฐประหาร

ข้อเสนอ โละ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ได้เสนอแก้ที่มาให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีความยึดโยงกับประชาชน และเป็นไปตามสภาพการเมืองที่เป็นจริง ให้ได้ดุลยภาพมากขึ้น โดยให้ทั้งฝ่ายศาลต่างๆ ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง ก่อนให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับรองในขั้นสุดท้ายแทน ส.ว.โดยใช้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 จากทั้งสองฝ่าย

รวมทั้งได้เสนอให้เริ่มกันใหม่ ใครที่เคยได้รับประโยชน์จากการรัฐประหารจะไม่ให้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว และให้มีการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ ผ่านการเข้าชื่อถอดถอนของประชาชน และเสนอให้มีผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญมาจาก ส.ส. ฝ่ายค้านและ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอย่างละ 5 คน ตรวจสอบการใช้งบประมาณของศาล วิเคราะห์ผลกระทบจากคำพิพากษาต่างๆ

ส่วนข้อเสนอสภาเดี่ยวนั้น เนื่องจากวุฒิสภาในรูปแบบที่เป็นอยู่ของประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ควรมีที่ยืนในประเทศที่จะอ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจและที่มาไม่สอดคล้องกัน คือไม่มีความยึดโยงกับประชาชน แต่มีอำนาจมาก ทั้งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระและร่วมลงมติในร่างกฎหมายที่เข้าข่ายการปฏิรูปประเทศได้

อีกทั้งยัง เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ดังจะเห็นได้จากการที่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. ส่วนใหญ่ แล้ว ส.ว. ก็กลับมาเลือกหัวหน้า คสช. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ทางเลือกที่ดีที่สุด จึงเป็นการไม่ต้องมีวุฒิสภา ซึ่งจะเป็นการประหยัดเวลาที่ต้องมาออกแบบกลไก ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สูงถึงหลักพันล้านบาทต่อปี และจะทำให้ประเทศมีความคล่องตัวในการออกกฎหมายมากกว่า

ส่วนข้อกังวลเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล พริษฐ์ ระบุว่าการเปลี่ยนกฎหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น คุ้มครองคนที่เปิดโปงการทุจริต รวมทั้งการเพิ่มอำนาจของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ที่ Re-solution เสนอในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย จะทำให้กลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มข้นกว่าการมี ส.ว. อย่างมาก 

“วันอังคารนี้ ภาระการพิสูจน์ว่าทำไมต้องยกเลิกวุฒิสภาไม่ได้อยู่ที่เรา ในเมื่อคุณเป็นองค์กรที่อาศัยงบประมาณอย่างน้อยหนึ่งพันล้านบาทต่อปี ภาระการพิสูจน์ต้องอยู่กับสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน ว่าจะอภิปรายอย่างไรเพื่อชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ในการคงไว้ของวุฒิสภา ถ้าชี้แจงแล้วไม่ชัด ประชาชนไม่เห็นด้วย หรือเหตุผลที่ให้มามันฟังไม่ขึ้น ก็จะยิ่งทำให้การเดินหน้าสู่สภาเดี่ยวเป็นทางเลือกเดียวของประเทศนี้มากขึ้น” พริษฐ์กล่าว

ขอประชาชนร่วมจับตาการอภิปราย-เตรียมเปิดแคมเปญชวนประชาชนส่งเสียงถึงผู้แทน

นอกจากนี้ ปิยบุตรยังระบุด้วยว่าที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าเวลาจะมีการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญๆ ของประชาชน ส.ว. มักทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองตลอด แต่กลับไปสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น เรื่องระบบเลือกตั้ง

“การแก้รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ คุณต้องผ่านผู้ออกใบอนุญาตไม่รู้กี่ด่าน ปัญหาก็คือแล้วประชาชนอยู่ตรงไหนของสมการแบบนี้ ประชาชนซึ่งถูกอ้างว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่เป็นเจ้าของอำนาจ แต่ถึงเวลาพอประชาชนจะใช้อำนาจจริงกลับถูกสกัดขัดขวางตลอดเวลา” ปิยบุตรกล่าว

ในช่วงสุดท้าย ปิยบุตร กล่าวว่าตนอยากให้ประชาชนทุกคนร่วมกันจับตาและเรียกร้องไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ช่วยโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนในวาระที่หนึ่งในขั้นรับหลักการเป็นอย่างน้อย หากไม่เห็นด้วยในส่วนไหนก็ยังมีโอกาสปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการได้ แต่ไม่ควรปฏิเสธความต้องการของประชาชนไปทั้งหมด

ทั้งนี้ ตนอยากเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมกันติดตามการถ่ายทอดสดการประชุมสภา อย่าคิดแค่เพียงว่าไม่ผ่านแน่ๆ เพราะการอภิปรายในสภายังมีประโยชน์อยู่ในการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ฟังการให้เห็นเหตุผลของแต่ละฝ่าย

“ในท้ายที่สุดแน่นอนว่าสภาจะต้องเป็นคนโหวต แต่พี่น้องประชาชนจะเป็นคนตัดสินว่าการอภิปรายการลงมติของพวกเขามีเหตุผลที่ฟังได้ไหม และถ้าหากพี่น้องประชาชนเห็นว่าฟังไม่ได้ พี่น้องก็มีอำนาจลงโทษเขาในการเลือกตั้งครั้งถัดไป” ปิยบุตรกล่าว

ด้านพริษฐ์ได้เปิดเผยว่า กลุ่ม Re-solution จะเปิดการรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนร่วมกันแสดงพลังส่งจดหมายทางออนไลน์ไปถึงผู้แทนที่ประชาชนแต่ละคนเลือกมาให้ร่วมกันรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนและเพื่อยืนยันว่าประชาชนคือเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญและเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้