Skip to main content

สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัด 8 จังหวัด จัดเวทีเสวนา 'ประชาสังคม : ควบคุม VS ส่งเสริม' คัดค้านรัฐบาลออกกฎหมายควบคุม จำกัดสิทธิและเสรีภาพกิจกรรมเพื่อสังคม เพิ่มบทลงโทษอาญา ลดบทบาทการตรวจสอบโครงการรัฐ

สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออก ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งกัน พ.ศ. .... หรือเรียกได้ว่าเป็น 'พ.ร.บ.ควบคุม NGO' ฉบับดังกล่าว มีฐานคิดแบบอำนาจนิยม เพราะหากมีฐานคิดแบบประชาธิปไตย จะเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม การที่รัฐคิดจะออกกฎหมายควบคุมการทำงานของภาคประชาชน ทำให้ประชาชนถูกลดบทบาทการมีส่วนร่วม ซึ่งการบริหารขับเคลื่อนประเทศไม่ได้มีเฉพาะรัฐ จะกลายเป็นรัฐราชการอย่างเดียว ภาคประชาชนจะเสียประโยชน์ การรวมเป็นกลุ่มก้อนหายไป การบริหารประเทศจะถูกกำหนดโดยรัฐเพียงลำพัง ทั้งที่รัฐบาลประกาศว่าขับเคลื่อนประเทศด้วยการเป็นประชารัฐ จะต้องมีทั้งรัฐและประชาชน ร่วมกันทำงานแบบหุ้นส่วน ซึ่ง NGO ช่วยให้รัฐทำงานอย่างรอบคอบ คำนึงถึงเสียงของประชาชนมากขึ้น
 
ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคม ปฏิบัติตาม ก.ม.ควบคุมอยู่แล้ว เช่น การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล องค์กร หรือมูลนิธิ มีการตรวจสอบการเสียภาษีอยู่แล้ว หรือหากรัฐเห็นว่าองค์กรจัดตั้งมาอย่างไม่สุจริตหรือหลอกลวง ก็สามารถใช้กฎหมายอื่นๆ ควบคุมได้ แต่ขณะนี้รัฐบคาลพยายามควบคุมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดย ครม. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็น หรือประเมินผลกระทบของผู้ที่เกี่ยวข้อง หากมีผลบังคับใช้ องค์กรภาคประชาสังคมจะต้องขออนุญาตทุกกิจกรรมที่ทำ แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ก็ตาม ถือเป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ที่สำคัญมีบทลงโทษรุนแรง เป็นโทษอาญาทั้งจำและปรับ 

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะ มาตรา 42 ที่ระบุว่า ที่บุคคล มีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น จะจำกัดเสรีภาพไม่ได้ และมาตรา 26 ที่ระบุถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งการออกกฎหมายควบคุมไปถึงองค์กรที่รวมตัวกันในรูปแบบคณะบุคคล การรวมตัวของบุคคลที่รวมกันในลักษณะองค์กรชุมชน ถือเป็นเรื่องเกิดกว่าเหตุไปมาก เพราะหากรวมตัวกัน 3-4 คนทำกิจกรรมทางสังคม จะต้องจดแจ้งตรวจสอบบัญชี แสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีเจตจำนงต้องการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน เหมือนการเซ็นเช็คเปล่าให้ รมว.กระทรวงมหาดไทย เปิดช่องให้เขียนหลักเกณฑ์ลงไป โดยที่ไม่มีใครเห็นว่ามีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง เป็นการตั้งใจ จำกัดการเคลื่อนไหวประชาชนที่จะคัดค้านนโยบายของภาครัฐ

ไพศาล ลิ้มสถิตย์ อนุกรรมการด้านการศึกษาและพัฒนากฎหมายฯ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) เสริมว่า การที่ ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของภาคประชาสังคมอย่างไม่เหมาะสม ถือว่ารัฐบาลไทยดำเนินการขัดต่อข้อมติของสหประชาชาติ ที่สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) 

รัชดา อนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ​​กล่าวว่า ในฐานะเป็นรองโฆษกฯ อยากทำความเข้าใจดังนี้ ร่างที่เป็นประเด็นคือ ร่างเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม แต่ยังมีร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาร่างประชาสังคม ซึ่งเป็นร่างที่ส่งเสริมภาคประชาสัคมทำงานกับภาครัฐอย่างเข็มแข็งขึ้น โดยร่างนี้จะมีกรรมการ และกรรมการจะให้ทางภาคประชาสังคมเข้าร่วม โดยการทำงานนร่วมกันในการเสนอแนะ ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมการทำงานให้เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งกรณีมีสำนักงานเกิดขึ้นก็จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น อย่างปัจจุบันมีงบ 90 ล้านทั่วประเทศก็ไม่เพียงพอ แต่หากมีร่างกฎหมายนี้จะมีการจัดสรรงบเพิ่มให้ปีละ 150 ล้านบาท  ทั้งนี้ ความกังวลเรื่องแทรกแซงนั้น หากจดแจ้งให้ถูกต้องโปร่งใสก็จบ และขณะนี้​กระบวนการขอกฎหมายยังไม่จบ ยังรับฟังเสียงและปรับแก้ได้