Skip to main content

 

นับจากวันที่ 1 มกราคมปีหน้า การนำเข้าขยะพลาสติกมาในประเทศไทยจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามแล้ว หลังมาตรการทางกฎหมายที่มีการเรียกร้องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เริ่มมีผลบังคับใช้

หลังจากจีนห้ามการนำเข้า “ขยะพลาสติก” จากประเทศพัฒนาแล้วในปี พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย กลายเป็นแหล่งนำเข้าขยะพลาสติกขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยมาเลเซียเป็นชาติที่มีการนำเข้าขยะพลาสติกจากสหภาพยุโรปมากที่สุดของโลก

แต่ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า มาตรการทางกฎหมายที่จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์ 2 ฉบับ ตามมติ ครม.เมื่อกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว กำลังจะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า

อารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานผู้ออกกฎหมายดังกล่าว เผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปะปนมากับขยะพลาสติก ประกอบกับปริมาณขยะพลาสติกในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมาตรการควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติกทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการรีไซเคิลเศษพลาสติกในประเทศเพิ่มขึ้น ตลอดจนช่วยลดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน

ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับแรก กำหนดให้ต้องขออนุญาตนำเข้าเศษพลาสติก เฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีในปริมาณไม่เพียงพอ โดยผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตนำเข้า และต้องนำเข้าให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ส่วนประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 2 กำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจะไม่สามารถนำเข้าเศษพลาสติกมาในประเทศนับตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

หลังกฎหมายห้ามนำเข้าเศษพลาสติกดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมแสดงความชื่นชมต่อมาตรการดังกล่าว โดยมองว่า เป็นการป้องกันไม่ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับขยะพลาสติก และเป็นการปกป้องเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ รวมถึงรายได้และวิถีชีวิตของกลุ่มซาเล้งและคนเก็บขยะ

เฟสบุ๊กมูลนิธิบูรณะนิเวศ เผยว่า ผลกระทบจากขยะพลาสติกที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลพลาสติกขึ้นมาก และมักเป็นโรงงานที่ประกอบกิจการโดยผิดกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

เฟสบุ๊กมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า นับจากปี พ.ศ. 2561 ภาคประชาสังคมร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านการส่งออกขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทย โดยรัฐบาลได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในปี พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และมีการจับกุมผู้นำเข้าขยะพลาสติกและโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2564 องค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันออกแถลงการณ์กระตุ้นให้รัฐบาลไทยออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกโดยเด็ดขาด ซึ่งนำไปสู่การที่คณะรัฐมนตรีมีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566  โดยกำหนดให้มีผลหลัง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ทำให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกลายเป็นกฎหมายโดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

“ภาคประชาสังคมเห็นว่า หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในปีหน้า รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดจริงจัง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของภูมิภาคอาเซียนในการแก้ไขปัญหาอาณานิคมขยะ ควรใช้โอกาสและบทบาทนี้ในการผลักดันการควบคุมและยับยั้งปัญหาการค้าขายขยะข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาคและในระดับโลก” มูลนิธิบูรณะนิเวศระบุ
 


อ้างอิง
คต. ออกมาตรการ “อนุญาตให้นำเข้า” ก่อน “ห้ามนำเข้า” เศษพลาสติก
4 องค์กรสิ่งแวดล้อมร่วมกันออกแถลงการณ์ ชื่นชมกรณีการออกประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา