Skip to main content

 

Libertus Machinus

 

‘อินเดีย’ เป็นชาติที่ไม่เคยขาดงานจากบริษัทต่างชาติมาช้านาน และเราก็คงเคยได้ยินการ "เอาท์ซอร์ส" งานบริการสารพัดมาที่อินเดีย ตั้งแต่การรับสายในการบริการลูกค้า หรือกระทั่งงานในกลุ่ม "คอนซัลท์" สารพัด

เราน่าจะเคยได้ยินคำอธิบายว่า เพราะอินเดียเป็นประเทศที่ค่าแรงถูกและมีทักษะภาษาอังกฤษระดับสูง เค้าเลยได้งานพวกนี้ แต่ความจริงเป็นสิ่งที่มืดมนกว่านั้นมาก เพราะจริงๆ แล้ว ค่าแรงคนอินเดียนั้นถูกก็จริงถ้าเทียบกับชาติตะวันตก แต่ชาติตะวันตกก็มีตัวเลือกแรงงานข้ามชาติที่ทักษะภาษาดีจากชาติอื่น เช่น ฟิลิปปินส์ก็ได้ แต่ที่บริษัทข้ามชาติเลือกอินเดีย เพราะความต่างหลักของการจ้างงานแรงงานในอินเดียและฟิลิปปินส์ก็คือ การจ้างงานคนอินเดียเป็นพนักงานประจำ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องจ่าย "ค่าล่วงเวลา" หรือ "เงินโอที" ในขณะที่จ้างคนฟิลิปปินส์ต้องจ่าย ไม่ได้ต่างจากการจ้างคนในชาติตะวันตก


กฎหมายแรงงานเก่า ตามไม่ทันกับการจ้างงานยุคใหม่

 

เหตุทั้งหมดเกิดจาก "ภาษากฎหมายแรงงาน" ของคนอินเดียที่คลุมเครือ ซึ่งบทบัญญัติเรื่องการจ่ายค่าล่วงเวลานั้น มาจาก กฎหมายโรงงานปี 1948 ที่บัญญัติชัดเจนว่า ถ้าคนทำงานเกิน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต้องได้เงินค่าจ้างล่วงเวลา แต่ประเด็น คือ ในกฎหมายระบุว่า "คนงานโรงงาน" หรือ "คนงาน" เท่านั้นที่อยู่ในกรอบของกฎหมายนี้

นี่เลยทำให้พวกบริษัทข้ามชาติสร้างตำแหน่งใหม่ๆ ที่หลีกเลี่ยงนิยาม "คนงาน" ไม่ว่าจะเป็นพวกชื่อตำแหน่งที่เหมือนเป็นตำแหน่งบริหารทั้งหลาย ไปจนถึงการใช้คำว่า "เจ้าหน้าที่" แทน เพื่อให้การจ้างงานไม่ต้องเป็นไปตามกฎหมายโรงงาน

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ พวกบริษัทต่างๆ ก็จะมองว่ากฎหมายโรงงานที่รองรับ "ค่าล่วงเวลา" นั้นไม่บังคับใช้กับพวกพนักงานบริการของบริษัท และทำให้บริษัทใช้งานพนักงานพวกนี้ได้อย่างไม่จำกัดเวลาทำงาน


คนงานอยากแก้กฎหมาย แต่นักการเมืองกลัวกระทบเศรษฐกิจประเทศ

 

คนทำงานของอินเดียเคยลุกขึ้นสู้มั้ย? 

คำตอบคือ เคย เรื่องขึ้นไปถึงศาลสูง เพียงเพื่อจะให้ศาลสูงฟันธงมาว่ากฎหมายโรงงานของปี 1948 นั้นไม่ครอบคลุมถึงพวกพนักงานบริษัท

คำถามตรงนี้คือพวกนักการเมืองไม่คิดจะออกกฎหมายใหม่เหรอ? คำตอบมันซับซ้อนอยู่

ตั้งแต่โลกเปิดเสรีเศรษฐกิจภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่เต็มที่ในช่วงทศวรรษ 1990 บริษัทข้ามชาติทั่วโลกก็พยายามจะหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงานและอำนาจของสหภาพแรงงานในประเทศตัวเอง ซึ่งก็แน่นอนงานกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลก็คือ พวกกลุ่ม "โรงงานนรก" ในการผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้า แต่อีกด้าน การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตก็ทำให้งานงานกลุ่มงานบริการที่สามารถทำงานระยะไกลได้นั้น ได้รับผลจากกระแสนี้ด้วย

นี่ก็เลยทำให้อินเดียกลายเป็นฮับของงานบริการระยะไกลมาตั้งแต่ยุคนั้น และก็คงไม่ต้องพูดว่ามันดึงรายได้เข้ามาในระบบเศรษฐกิจอินเดียไม่น้อย

ในแง่นี้ อินเดียก็ไม่ได้ต่างจากไทย การที่บริษัทข้ามชาติมาตั้งแผนกบริการลูกค้าที่รับบริการลูกค้าทั่วโลกในอินเดีย ก็ไม่ได้ต่างจากบริษัทรถญี่ปุ่นที่มาตั้งโรงงานในไทย ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมันมหาศาลระดับแยกออกจากระบบเศรษฐกิจไม่ได้ ซึ่งก็ทำให้นักการเมืองไม่อยากไปยุ่ง

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าอินเดียทำกฎหมายแรงงานให้เข็มแข็งทันที แล้วพวกบริษัทข้ามชาติหนีไปหมด เศรษฐกิจอินเดียก็จะเจ็บหนักแน่ และใครเป็นรัฐบาลก็คงไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ดังนั้น การ "กดขี่แรงงาน" ภายใต้ "ช่องโหว่ของกฎหมายแรงงาน" ในอินเดียก็ยังดำเนินต่อไป

ทุกวันนี้ แม้ว่าคนทำงานให้บริษัทข้ามชาติในอินเดีย จะถือว่ามีหน้าที่การงานดีรายได้สูงกว่าเพื่อนร่วมชาติมากๆ แต่ถ้าเทียบกับคนทำงานแบบเดียวกันในประเทศอื่น คนทำงานอินเดียนอกจากจะได้ค่าแรงน้อยกว่าแล้ว คนอินเดียยังต้องทำงานในชั่วโมงทำงานนานกว่า โดยปราศจากค่าล่วงเวลาใดๆ ซึ่งเรากำลังพูดถึงการทำงานยาวๆ 10-12 ชั่วโมงต่อวันสำหรับพนักงานบริษัท

แต่ที่น่าสนใจคือ นี่เป็นปัญหาที่โลกตะวันตกมอง และสำนักข่าวที่ทำเรื่องนี้ก็ คือ DW ซึ่งเป็นสื่อเยอรมนี ถ้าเราอ่านสื่อฝั่งอินเดียเราจะไม่ได้ยิน "ปัญหา" นี้เลยสักนิด ซึ่งเป็นคนละโลกกับจีนที่คนรุ่นใหม่ๆ ลุกขึ้นมาโวยว่าตน "ไม่อยากทำงานหนัก" กันจนเป็นกระแสใหญ่โต

ที่สถานการณ์เป็นแบบนี้ จริงๆ คำอธิบายก็ง่ายมาก เพราะในประเทศที่มีโอกาสสร้างรายได้สูงๆ ไม่เยอะอย่างอินเดีย คนที่ทำงานให้บริษัทข้ามชาติ ถึงแม้ว่าจะถูกใช้งานหนักกว่าชาติใดในโลก แต่งานนี้ในอินเดีย แทบจะเป็น "งานที่ดีที่สุด" แล้ว ดังนั้น คนส่วนใหญ่ก็รู้ว่างานมันหนัก และก็อาจรู้ว่าตัวเองถูกเอาเปรียบด้วยถ้าเทียบกับคนทำงานให้บริษัทเดียวกันในที่อื่น แต่เมื่อในอินเดียไม่มีงานที่ดีกว่านี้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณได้ค่าจ้างมากกว่าคนอื่น 2-3เท่า คุณจะเอาอะไรมาบ่นอีก

พูดในทางปฏิบัติ ชนชั้นกลางอินเดียในเมืองใหญ่ๆ นั้นรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งถ้าทำงานบริษัทข้ามชาติ เงินเดือนก็อาจขึ้นไปถึง 30,000-40,000 บาท นี่อาจเป็นเงินนิดเดียวในมาตรฐานตะวันตก แต่เป็นเงินมหาศาลในอินเดีย และคนที่ทำงานได้เงินเดือนระดับนี้ในอินเดีย ทั่วๆ ไปก็น่าจะไม่กล้ามาบ่นว่าตัวเองต้องทำงาน 12 ชั่วโมง เพราะนี่คือรายได้ระดับที่คนอินเดียทั่วไปคงไม่กล้าฝันด้วยซ้ำ

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก
India's archaic labor laws allow firms to exploit workers
How much an average lower-middle class Indian earns in 2024

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน