พรรคก้าวไกล ทำหนังสือตอบกลับความเห็นของกลุ่มงานพระราชบัญญัติ และญัตติ 1 ที่ทำหนังสือบันทึกข้อความว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เพื่อให้มีการยกเว้นความผิดและการยกเว้นโทษต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ 'เป็นการขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6' ซึ่งญัตติว่า 'องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้'
พรรคฯ ได้ตอบกลับประเด็นนี้ว่า การแก้ไข ม.112 โดยญัตติให้มีการยกเว้นความผิดและการยกเว้นโทษว่า 'ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด' และ 'ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน' นั้นไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัยญัติใน ม.6 แต่อย่างใด
เหตุเพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่า 'องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ' นั้น มีความมุ่งหมายเพียงเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติให้แก่องค์พระมหากษัตริย์ ส่วน 'ผู้ใดจะละเมิดมิได้' นั้น มิได้หมายถึงการห้ามแสดงความคิดเห็นต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกกล่าวหา หรือฟ้องร้องได้ ดังที่ได้ขยายความให้ชัดเจนไว้ในบทบัญญัติมาตราเดียวกันว่า 'ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้' ฉะนั้น ความเห็นของกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 จึงเป็นการตีความเกินตัวบทและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทย รวมทั้งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะขององค์พระมหากษัตริย์ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องตีความภายใต้กรอบและหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการถวายพระเกียรติในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่ทรงกระทำการใดในทางการเมืองและในการปกครองด้วยพระองค์เอง ตามหลัก 'พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้' (The King Can Do No Wrong) ซึ่งจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน
ในแง่พัฒนาการทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 มีต้นแบบมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ม.98 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งนี้ บทบัญญัติตาม ม.98 ร่างขึ้นมาโดยอิงจากกฎหมายของอังกฤษ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้ของอังกฤษและประเทศอื่นที่มีระบบกษัตริย์ได้ลดน้อยลงตามพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย จนปัจจุบันไม่มีการบังคับใช้แล้วในหลายประเทศ เพราะรัฐในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ต้องมุ่งประกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แม้ว่าในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศยังมีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกับ ม.6 ของรัฐธรรมนูญไทยอยู่ก็ตาม
ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งสืบทอดมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ม.98 ตั้งแต่ก่อนที่สยามจะมีรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อทำให้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มีสภาพบังคับแต่อย่างใด การตีความประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ตามความเห็นของกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 ให้เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ ม.6 จะยิ่งส่งผลให้การบังคับใช้ ม.112 มีลักษณะคลุมเครือและขยายความกว้างขวางเกินกรอบของฐานความผิดในกฎหมายอาญาตามปกติ นําไปสู่ความไม่แน่นอนของฐานความผิดนี้ในกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ทางกฎหมายของไทย ประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันนั้น สืบทอดและปรับปรุงมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งตราขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ดี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ยังคงบังคับใช้อยู่ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย ประเด็นหนึ่งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ใน พ.ศ.2478 ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย คือ แก้ไขเพิ่มเติม ม.104 ให้มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดแม้จะเป็นฐานความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ หากเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 อันมีบทบัญญัติตาม ม.3 ความว่า 'องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้' แล้ว
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากทั้งบทบัญญัติ เจตนารมณ์ และประวัติศาสตร์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญไทยแล้ว พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่า การแก้ไขม.112 ให้มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ม.6 การตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อรักษาพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ จะต้องสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองประมุขของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน