องค์การความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Union Aid Abroad APHEDA) เผยแพร่รายงานสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงเมียนมาหนักขึ้น ทั้งยังพบการใช้ความรุนแรงทางเพศกับกลุ่มผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ทำให้เครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องนานาชาติให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และต้องหาทางยุติความรุนแรงที่ซ้ำเติมความเป็นอยู่ของผู้หญิงเมียนมา ทั้งยังย้ำด้วยว่าเยาวชนหญิงและกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรงเช่นกัน
บทความของ Union Aid Abroad APHEDA ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมียนมาวันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นมา ผู้หญิงที่ถูกคุมขังในเรือนจำทั่วเมียนมา ตกเป็นเป้าการคุกคามและการใช้ความรุนแรงทางเพศของตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งยังมีการปฏิบัติที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยหลายเรือนจำไม่มีการจัดหาผ้าอนามัยหรือห้องน้ำสะอาดให้แก่ผู้ถูกคุมขัง กระทบต่อสุขอนามัย โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน
ก่อนหน้านี้มีรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ Human Rights Watch (HRW) เผยแพร่ช่วงต้นเดือน มิ.ย. บ่งชี้ว่าเรือนจำหลายแห่งไม่มีห้องน้ำที่เป็นส่วนตัว ทั้งยังไม่มีน้ำประปาที่เพียงพอต่อจำนวนผู้ถูกคุมขัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ถูกจับกุมจากการเข้าร่วมประท้วงการรัฐประหาร โดย HRW รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'มีมี' อดีตผู้ประท้วงหญิงที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ระบุว่ายังคงฝันร้าย เพราะตอนที่ถูกคุมขังนั้นไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมจากผู้คุมขัง ถูกปล่อยให้เลือดประจำเดือนไหลนานกว่า 48 ช.ม. จึงจะได้ผ้าอนามัยมาหนึ่งแผ่น
ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต 4 ประเทศในเมียนมา ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำเมียนมา ออกแถลงการณ์เมื่อ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อกดดันให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในสถานการณ์ความขัดแย้งของเมียนมา ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์
นอกจากนี้ แถลงการณ์ของเอกอัครราชทูต 4 ประเทศและ UNFPA ยังเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีและลงโทษผู้ก่อเหตุคุกคามและใช้ความรุนแรงละเมิดประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยไม่ปล่อยให้ใครลอยนวล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางเมียนมา ซึ่งมักจะได้รับความคุ้มครองจากผู้มีอำนาจรัฐ และไม่เคยต้องรับผิดชอบการก่อความรุนแรงละเมิดสิทธิมนุษยชนของตนเอง
ผู้หญิงถูกซ้ำเติมจากความรุนแรงทางเพศและการเมือง "ไม่ใช่แค่เมียนมา"
ทางด้าน 'อันตอนิยู กูแตร์รีช' เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ แถลงเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นกัน โดยย้ำว่าผู้หญิงในหลายประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับความรุนแรงซ้ำซ้อนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นที่เอธิโอเปีย อัฟกานิสถาน ดีอาร์คองโก โคลอมเบีย อิรัก ลิเบีย มาลี โซมาเลีย เซาท์ซูดาน ซูดาน ซีเรีย เยเมน รวมถึงเมียนมา
ส่วนประเทศไทย มีรายงานของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) เผยแพร่ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ใช้ชื่อ “ทระนงองอาจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในแนวหน้าของการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของไทย” ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้หญิง 22 คน ทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง และเป็นแกนนำการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
เนื้อหาในรายงานของ FIDH ระบุว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี "ตกเป็นเป้าหมายอย่างเป็นระบบ ทั้งของหน่วยงานรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เนื่องจากการเข้าร่วมการประท้วงทั่วประเทศ ทางการไทยได้โจมตีทำร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯครั้งแล้วครั้งเล่า โดยใช้ทั้งกฎหมายและคำสั่งกดขี่ปราบปรามที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ"
ทั้งนี้ FIDH ระบุว่า มีการดำเนินคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ แล้ว 11 คน รวมทั้งเยาวชนหนึ่งคน จากการเข้าร่วมในการประท้วง บางคนถูกควบคุมตัวและได้รับการปล่อยตัว บางส่วนถูกดำเนินคดีอาญา 10 คดีหรือมากกว่านั้น