Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

สวีเดน เป็นประเทศที่เรียกว่า เป็น "ต้นแบบ" ความเท่าเทียมทางเพศในโลกยุคสมัยใหม่ เพราะอย่างน้อยในปี 1974 สวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้คุณพ่อสามารถลางานแบบรับค่าจ้างได้ เพื่อไปช่วยคุณแม่เลี้ยงลูก และประเทศนี้ก็ให้เงินอุดหนุนบริการ "ดูแลเด็กเล็ก" ตั้งแต่ 1 ขวบจนถึงช่วงเข้าโรงเรียนตอน 5 ขวบ

นโยบายสาธารณะแบบนี้ ออกแบบมาเพื่อให้ผู้หญิงที่จะเป็นแม่คนไม่ต้องมีความ "สะดุด" ในชีวิตการทำงาน  และผลที่ตามมาในช่วงหลายปีต่อมา ก็คือ สวีเดนกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศโลกตะวันตกที่ผู้หญิงออกมา "ทำงาน" มากที่สุด (ในทางเทคนิคเรียกว่า Female Labour Force Participation Rate) ซึ่งนี่คือพื้นฐานของ "ความเท่าเทียมทางเพศ" สไตล์เฟมินิสต์รุ่นที่ 2 ที่มองว่าโอกาสในการทำงานของผู้หญิงที่เท่าเทียมกับผู้ชายจะนำไปสู่ความเท่าเทียมด้านอื่นๆ และก็ไม่ต้องสงสัยว่าจากมุมสวีเดน ก็เป็นแบบนั้นจริง

ผู้หญิงสวีเดนออกมาทำงานเยอะมากในมาตรฐานโลกตะวันตก ในระดับที่หน่วยงานด้านประกันสังคมของสวีเดนถึงกับอ้างในรอบ 50 ปีของนโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในปี 2024 ว่า ในภาษาสวีดิชไม่มีคำว่า "แม่บ้าน" อีกแล้ว เพราะผู้หญิงสวีเดนทำงานกันหมด ไม่มีใครเป็นแม่บ้าน และนี่คือความภาคภูมิใจของสวีเดนสมัยใหม่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงประเทศของพรรคประชาธิปไตยสังคม (Social Democrat) ที่ในรอบ 80 ปีที่ผ่านมา (นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2) ได้ปกครองสวีเดนอยู่ราว 60 ปี

อย่างไรก็ดี ถ้าใครตามข่าว พรรคประชาธิปไตยสังคมพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพันธมิตรขวากลางและขวาจัดมาตั้งแต่ปี 2022 และรัฐบาลปัจจุบันในมาตรฐานสวีเดนก็ถือว่าเป็น "ฝ่ายขวา" และรัฐบาลใหม่นี้ก็เรียกได้ว่า เริ่มเซ็ตบรรยากาศทางการเมืองใหม่ๆ ในสวีเดนให้โน้มเอียงไปใน "กระแสโลก" ที่ "หันขวา"

ถ้าใครตามเรื่องพวกนี้ ก็จะรู้ว่าจริงๆ "ดงฝ่ายขวา" รุ่นใหม่ๆ ในยุโรปคือ TikTok ซึ่งฝ่ายขวารุ่นใหม่นั้นไม่ใช่ฝ่ายขวาจัดพลังชายแท้เต็มเปี่ยมแบบที่เราเข้าใจกัน เพราะพลังของพวกนี้ที่แท้จริงคือ พลังของอินฟลูเอนเซอร์ฝั่งผู้หญิงในโลกตะวันตกที่เน้น "บทบาทตามจารีตของผู้หญิง" ซึ่งในโลกภาษาอังกฤษ พวกนี้จะถูกเรียกว่า พวก Tradwife หรือ "ภรรยาตามจารีต" และน่าสนใจว่าสวีเดนก็มีอะไรแบบนี้เช่นกัน โดยของสวีเดนที่เด่นสุดคือสาว Gen Z วัย 25 ปีนามว่า Vilma Larsson ผู้ประกาศกร้าวว่า ตัวเองเป็น “แม่บ้าน” ผู้ที่อยู่บ้านและขอเงินสามี (ผู้ทำงานด้านการเงิน) ใช้ (ไปตาม TikTok ของเธอได้ที่ https://www.tiktok.com/@viilmalarsson )

Larsson ใช้คำว่า “hemmaflickvän” และ “hemmafru” อธิบายตัวเอง ซึ่งแปลว่า "แม่บ้าน" น่ะแหละ แม้เราอาจไม่รู้สึกอะไร รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ประเด็นคือ สำหรับสังคมสวีเดน ไม่มีใครบอกว่าตัวเองเป็น "แม่บ้าน" อย่างภาคภูมิใจมายาวนานแล้ว เพราะก็อย่างที่บอก ปริมาณ "แม่บ้าน" ลดลงในสวีเดนจนรัฐอ้างว่า "ภาษาสวีเดนไม่มีคำว่าแม่บ้าน" อีกแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่ Larsson ทำคือสิ่งที่ "ถึงรากถึงโคน" มากในสังคมที่บ้า "ความก้าวหน้าทางสังคม" แบบสวีเดน มันคือ การประกาศขอพื้นที่คืนของผู้หญิงที่ไม่อยากมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และอยากอยู่บ้านทำงานบ้านให้ผัวเลี้ยง

ในสวีเดน มีคำรวมๆ ในการเรียกผู้หญิงที่ต้องการบทบาททางสังคมแบบนี้ว่า "ผู้หญิงนุ่มนิ่ม" (soft girl) โดยคำนี้ปรากฎในหน้าสื่อปลายปี 2023 หลังจากสำนักโพลไปถามสาวๆ Gen Z สวีเดนว่า อะไรคือเทรนด์ในปี 2024 และพวกเธอก็บอกว่า "ผู้หญิงนุ่มนิ่ม" นี่แหละ โดยที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ผู้หญิงสวีเดนวัยนี้ราวๆ 15% ระบุว่าตัวเองเป็น "ผู้หญิงนุ่มนิ่ม" ซึ่งนั่นก็คือการพูดอ้อมๆ ว่า พวกเธอคือผู้หญิงที่ไม่อยากทำงาน และอยากให้ผัวเลี้ยง

นี่อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรเลยในสังคมไทยที่แม้แต่ผู้หญิงมีการศึกษาก็สามารถบ่นได้ว่า อยากให้ "ผัวเลี้ยง" โดยไม่รู้สึกอับอายอะไร แต่ในสวีเดน มันเป็นวาระแห่งชาติระดับที่พวกพรรคการเมืองเฟมินิสต์ต้องออกมาโวยวายว่า การที่คนรุ่นใหม่ๆ คิดแบบนี้เหมือนเป็นการ "ถอยหลังลงคลอง" และลบล้างความก้าวหน้าทางเพศที่สวีเดนผลักดันมาอย่างภูมิใจเป็นเวลา 50 ปี เพราะไม่มีอะไรที่จะเอาผู้หญิงกลับไปอยู่ใต้อำนาจผู้ชายได้เท่ากับการที่ผู้หญิง “หยุดมีรายได้เป็นของตัวเอง" อีกแล้ว 

โดยคนกลุ่มนี้มองว่า เป็นเพราะในทางการเมืองสวีเดนตอนนี้ฝ่ายขวาเป็นใหญ่ ก็เลยทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ เริ่มเปลี่ยนความคิด มอง "ความก้าวหน้า" ที่มีมายาวนานครึ่งศตวรรษ ไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์อีกต่อไป

แต่ประเด็นก็คือ อย่างที่เล่า เทรนด์แบบนี้ไม่ได้มีแค่ในสวีเดน ในโลกภาษาอังกฤษก็มี และเป็นเทรนด์ใน Gen Z เลย โดยความน่าสนใจที่ชวนตั้งคำถามก็คือ หรือเอาจริงๆ ไอเดียที่ว่าผู้หญิงต้องเท่าเทียมกับผู้ชาย ต้องทำงาน ที่รุ่งเรืองในครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 เป็นเรื่องที่ "ผิดธรรมชาติ" เพราะในอดีต สังคมแทบทั้งหมดในโลกนั้นไม่ให้ผู้หญิง "ทำงาน" แบบเดียวกับผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีหน้าที่หลักคือ "มีลูก" และ "เลี้ยงลูก" โดยสิ่งเหล่านี้สมเหตุสมผลแน่นอนในยุคที่ผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกโดยเฉลี่ย 5-10 คนแบบในอดีต

ความน่าสนใจที่ตามมาก็คือ ภาวะที่สังคมบีบให้ผู้หญิงทำงานแบบนี้ไม่ใช่เหรอที่ทำให้ "อัตราเจริญพันธุ์" (fertility rate - ซึ่งคือจำนวนลูกที่ผู้หญิงคนนึงในสังคมหนึ่งมีโดยเฉลี่ย) ลดลงจนนำไปสู่ปัญหา "สังคมผู้สูงอายุ" แบบทุกวันนี้? และนี่ก็คือปัญหาที่ไม่มีชาติไหนแก้ได้

ซึ่งก็ใช่แล้วครับ แม้แต่สวีเดนที่ภูมิใจนักหนาว่า "ความเท่าเทียมทางเพศ" ในประเทศตัวเอง ทำให้ตนเป็นประเทศยุโรปที่มี "อัตราเจริญพันธุ์" ที่สูง แต่ถ้าย้อนดูจริงๆ แล้ว ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา สวีเดนก็เหมือนชาติอื่นๆ คืออัตราเจริญพันธุ์ลดลง แค่สวีเดนลดลงน้อยกว่าชาวบ้าน ก็เลยมาอวด แต่อีกด้านของความจริงก็คือ แม้แต่นโยบายสาธารณะที่ผลักดันความเท่าเทียมทางเพศแบบสุดขีด ก็ไม่สามารถพลิกอัตราเจริญพันธุ์ให้เพิ่มได้

และนี่ก็นำเรากลับมาที่ "ผู้หญิงนุ่มนิ่ม" ถ้าใครดูสถิติก็จะรู้ว่า อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลงตามอัตราการมีการศึกษาระดับสูงและการทำงานของผู้หญิง ซึ่งถ้าเชื่อนัยยะแบบนี้ วิธีการที่จะทำให้สังคมมีลูกมากขึ้นคือการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีการศึกษาเท่าที่จำเป็น และมุ่งจะเป็นแม่บ้านตามจารีต มากกว่าจะโวยวายว่าผู้หญิงปัจจุบันไปเรียนสาย "STEM” น้อยเกินไป ซึ่งก็แน่นอน ถ้าใครเสนอให้ผู้หญิงเป็น "แม่บ้าน" แบบนี้ก็โดนโวยวายแน่ว่า "ล้าหลัง" อย่างน้อยๆ เหล่า "นักสตรีนิยมหัวก้าวหน้า" ก็น่าจะไม่นิ่งเฉย

ในแง่นี้ การปรากฎตัวของเหล่า "ผู้หญิงนุ่มนิ่ม" ในหมู่ Gen Z สวีเดนก็อาจเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะนี่คือการที่ผู้หญิง "เลือก" เองว่าไม่อยากเรียนสูงเพื่อจะทำงานมีรายได้ดีๆ แต่อยากเป็นแม่บ้านให้ผัวเลี้ยงดังที่ผู้หญิงเป็นมาในอดีต ซึ่งแนวโน้มแบบนี้ดูยังไงก็น่าจะเป็นผลดีต่อ "อัตราเจริญพันธุ์" แน่ๆ

แน่นอน จากมุมของรัฐสวัสดิการ ภาวะนี้สร้างความปวดหัวแน่นอน เพราะมันจะทำให้ "แรงงาน" ในสังคมลด ทำให้รายได้ของรัฐสวัสดิการสั่นคลอนไปอีก

ประเด็นคือ เราไม่มีทางจะ "ได้ทุกอย่าง" เราไม่มีทางจะกระตุ้นให้ผู้หญิงสมัยใหม่ทำงานพร้อมๆ กับมีลูกได้ และเราต้องเลือกระหว่างที่จะให้ผู้หญิงเรียนสูงๆ ทำงานดีๆ แล้วเลือกจะไม่มีลูกอย่างที่เป็น หรือให้ผู้หญิงกลับไปมีบทบาทแม่บ้านแบบดั้งเดิมและมีลูกเพิ่มขึ้น

ซึ่งถ้าเลือกแบบหลัง ทุกวันนี้ "ตัวเลือก" ที่เป็นที่รับได้เกิดขึ้นแล้ว มันก็แค่รัฐสนับสนุนให้สาวๆ รุ่นใหม่เป็น "ผู้หญิงนุ่มนิ่ม" กันมากขึ้นก็เท่านั้นเอง

 

อ้างอิง
Sweden’s ‘soft girl’ trend that celebrates women quitting work
“In Sweden, term “housewife” doesn't exist anymore”: Niklas LÖFGREN and Tiina BRUNO talk about paid parental leave and gender equality
Which Countries Have the Most and Least Women in the Workforce?
Europe's fertility crisis: Which countries are having the most and fewest babies?
The Decline in Fertility: The Role of Marriage and Education
Human fertility in relation to education, economy, religion, contraception, and family planning programs
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน