Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ในบรรดาการต่อสู้เพื่อ "ความเสมอภาคทางเพศ" สิ่งที่เป็นประเด็นใหญ่สุด คือ ความต่างระหว่างรายได้ของผู้หญิงและผู้ชาย และเป็น "ปัญหา" ที่แม้แต่ในประเทศที่มี "รัฐสวัสดิการ" มาเป็นร้อยปี โดยในช่วงหลังๆ แม้ว่าหลายชาติจะมีความพยายามแก้ปัญหานี้ และสถานการณ์ก็ดีขึ้น แต่ "ช่องว่างระหว่างรายได้" ของชายและหญิงก็ยังคงอยู่

แต่กลับกัน ก็มีบางชาติที่ถือว่า แก้ปัญหานี้ "สำเร็จ"  เพราะปัจจุบันรายได้ของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายไปเรียบร้อยแล้ว ประเทศในยุโรปที่จริงจังกับปัญหานี้มากๆ และแก้ปัญหานี้ "สำเร็จ" มีเพียงชาติเดียว คือ “ลักเซมเบิร์ก” ที่รายได้ของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ลักเซมเบิร์ก เป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 600,000 คน ไม่ใช่เพิ่งจะปิดช่องว่างทางรายได้ไปในปี 2024 แต่ทำสำเร็จมาตั้งแต่ปี 2023 แล้ว

แล้วเค้าทำยังไง? ถ้าจะอธิบายสั้นๆ มี 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ เค้าสนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานมากขึ้น และผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานที่รายได้ต่ำเลย ดังนั้น ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างผู้หญิงเลยสูงกว่าผู้ชาย ปัจจัยต่อมา คือ ผู้หญิงปัจจุบันมีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชาย

ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ลักเซมเบิร์ก ถือเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่ผู้หญิงทำงานน้อยกว่าผู้ชายมาก ระดับอัตราการทำงานของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายเกือบ 25% แต่ปัจจุบันช่องว่างที่ว่าเหลือแค่ 6% ซึ่งเป็นช่องว่างที่ต่ำมาก อยู่ระดับเดียวกับฝรั่งเศสที่ถือว่าความเสมอภาคทางเพศสูงมาช้านาน หรือพูดง่ายๆ 20 ปีที่ผ่านมา ลักเซมเบิร์กเปลี่ยนจากชาติที่ผู้หญิงแทบไม่ทำงานเลยมาเป็นชาติที่ผู้หญิงทำงานกันเยอะ

การที่ผู้หญิงทำงานมากขึ้น ไม่ได้ทำให้ "ความเสมอภาค" มากขึ้นแบบอัตโนมัติ แต่สิ่งที่เกิดในลักเซมเบิร์กก็คือ ผู้หญิงที่ทำงาน ส่วนใหญ่จะทำงานระดับกลางที่ไม่ใช่ค่าแรงต่ำ เลยทำให้ค่าเฉลี่ยค่าแรงของพวกเธอสูงกว่าผู้ชายจำนวนมากที่ทำงานระดับที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ

โดยความน่าสนใจก็คือ ตัวเลขนี้ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล เพราะเทรนด์ทั่วโลก ผู้หญิงปัจจุบันโดยเฉลี่ย "การศึกษาสูง" กว่าผู้ชาย ในยุโรปก็เป็นแบบนี้ และการทำให้ผู้หญิงการศึกษาสูงเหล่านี้ทำงานมากขึ้น ทั่วๆ ไปช่วยให้ตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำดีขึ้นเองโดยไม่ต้องไปทำอะไร (เพราะส่วนอื่นๆ พวกกฎหมายแรงงานมันวางกรอบอยู่แล้ว)

ดังนั้น ในแง่นี้ ลักเซมเบิร์กก็อาจเป็นสูตรสำเร็จของหลายๆ ชาติที่ต้องการความเสมอภาคด้านค่าแรงระหว่างเพศ ซึ่งในอีกด้าน เค้าจะบอกว่า โครงการสร้างความเท่าเทียมยังไม่จบ เพราะลักเซมเบิร์กยังเป็นชาติที่ผู้หญิงขึ้นไปถึงตำแหน่ง "ผู้บริหาร" ได้ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานยุโรป และงานแบบผู้บริหารระดับสูงคือ งานที่จะได้ "โบนัส" เยอะ ซึ่งทางลักเซมเบิร์กบอกว่า ถ้าเอาเงินของพวกผู้ชายที่ทำงานในตำแหน่งบริหารรวมกับโบนัสก็จะทำให้ "ผู้ชาย" มีรายได้มากกว่าผู้หญิง

แต่ลักเซมเบิร์กเองก็รู้ว่า การให้ผู้หญิงขึ้นไปนั่งในตำแหน่งบริหารไม่ใช่ปัญหา เพราะรายได้ของผู้หญิงส่วนใหญ่ค่อนข้างใกล้กันหมดอยู่แล้ว และงานส่วนใหญ่ของผู้หญิงเป็นงานที่รายได้ระดับกลางสูงและกลางต่ำ แต่ปัญหาอยู่ที่รายได้ของฝั่งผู้ชายเองที่มีทั้งคนทำงานระดับค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมากด้านหนึ่ง และอีกด้านก็มีผู้ชายกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานผู้บริหารระดับสูง รายได้สูง โบนัสกระจุยกระจาย หรือพูดง่ายๆ มันคือปัญหาการกระจายรายได้โดยรวมในสังคม ไม่ใช่ปัญหาความไม่เสมอภาคของรายได้ระหว่างเพศ

สุดท้าย หลายคนอาจไม่รู้ว่าจริงๆ สังคมไทยเราถือเป็นสังคมที่รายได้ระหว่างเพศเสมอภาคกันมายาวนาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำสถิติมาเป็นสิบปี ภาพที่เกิดซ้ำๆ คือ รายได้ของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้หญิงไทยนั้นสูงกว่าผู้ชายไทย โดยมีแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ค่าจ้างผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง แต่ส่วนต่างถือว่าน้อยระดับแทบไม่ต่าง และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมารายได้แทบไม่ต่างแล้ว ปัจจุบันผู้หญิงที่ทำงานเอกชนจะได้รายได้น้อยกว่าผู้ชายราว 2% ซึ่งนี่คือส่วนต่างที่น้อยกว่าชาติยุโรปทั้งหมด (ยกเว้นลักเซมเบิร์ก) โดยค่าเฉลี่ยส่วนต่างของรายได้ชายหญิงในยุโรป ผู้หญิงจะรายได้น้อยกว่าผู้ชายประมาณ 12%

ดังนั้น สิ่งมหัศจรรย์ของความเสมอภาคของรายได้ทางเพศที่เกิดขึ้นในลักเซมเบิร์ก คือเรื่องปกติในชีวิตคนไทยมานานแล้ว และนี่น่าจะเป็น "พลังของวัฒนธรรม" จริงๆ เพราะสังคมไทยก็ไม่ได้มีความพยายามให้เกิดความเสมอภาคของรายได้ระหว่างเพศอะไร ซึ่งคำอธิบายเบื้องต้นก็คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ที่นักวิชาการด้านสังคมวัฒนธรรมเห็นมายาวนานว่า มีความเสมอภาคระหว่างเพศมากกว่าพื้นที่ใดในโลก ส่วน "เหตุผล" เชิงลึกก็อาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าจะกล่าว ณ ที่นี้ เพราะเนื้อหามันพอจะเป็นหนังสือเล็กๆ เล่มหนึ่งเลยทีเดียว

 

อ้างอิง
Gender pay gap: There is only one country in Europe that pays women more than men
Women’s hourly pay exceeds men’s in Luxembourg
Women earn higher hourly wage than men in Luxembourg
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน