Skip to main content

สรุป

  • 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' และ 'สฤษดิ์ ธนะรัชต์' เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากสายทหารด้วยกันทั้งคู่ คนหนึ่งเป็นพลเอก อีกคนเป็นจอมพล และเข้ารับตำแหน่งผู้นำหลังรัฐประหาร
  • นิตยสาร Time เคยเผยแพร่บทสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุว่าฉายาของเขาคือ 'สฤษดิ์น้อย' ทั้งยังเป็นผู้ประกาศตัวว่าจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกัน
  • วาทะสำคัญที่ 'ประยุทธ์-สฤษดิ์' พูดคล้ายกันคือ "ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" โดยจอมพลสฤษดิ์พูดหลังจากถูกวิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปกครองประเทศ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดหลังจากถูกวิจารณ์เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณ, กรณีโควิดระบาดที่ระยอง และล่าสุด เลื่อนฉีดวัคซีนโควิด

หลังจากภาครัฐยอมรับว่าต้อง #เลื่อนฉีดวัคซีน เพราะมีเหตุขัดข้องด้านการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเดิมรัฐบาลเคยประกาศว่าจะฉีดให้ประชาชนแบบปูพรมทั่วประเทศในเดือน มิ.ย.2564 แต่เมื่อใกล้ถึงกำหนดฉีดรอบสอง กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน และกรุงเทพมหานคร กลับให้ข้อมูลขัดแย้งกันเอง และประชาชนจำนวนมากถูกเลื่อนฉีดวัคซีน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงชี้แจงเมื่อ 15 มิ.ย.หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี

ถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การจัดสรรวัคซีนไปยังจุดบริการทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและพอเพียงเป็นสิ่งที่ตนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนที่มีการรับฟังจากข่าวหรือการประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลต่างๆ อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ เข้าใจว่าภาครัฐจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอหรือไม่มีการประสานงานกัน ตนรับทราบข่าวนี้มาตลอดและไม่สบายใจ ยืนยันว่าพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวัน และสั่งการไปยังผู้รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดและสบายใจขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ปริมาณวัคซีนที่ทยอยเข้ามา ต้องมีความสมดุลกับขีดความสามารถในการฉีดวัคซีนแต่ละวัน, ระยะเวลาที่ให้ไป จะต้องฉีดภายในกี่วัน ถ้าหากฉีดเต็มอำนาจไปเลย "วัคซีนหมดก็ต้องหยุด"

"ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ. ศบค. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสงครามโควิดครั้งนี้ ต้องขออภัยพี่น้องประชาชน ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และขอเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งผมได้ทำอยู่ทุกวัน ตลอดเวลา เพราะนี่คือวาระแห่งชาติ" เป็นอีกหนึ่งประโยคที่ออกจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "ขอรับผิดชอบเอง"

ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากการพูดถึงความเหน็ดเหนื่อยในการปฏิบัติหน้าที่และการย้ำว่าจะไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งแม้ถูกกดดัน การประกาศ "ขอรับผิดชอบ" ในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็เกิดขึ้นหลายครั้งแล้วเช่นกัน

ครั้งแรกคือตอนที่ถูกร้องเรียนกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งไม่ครบเมื่อปี 2562 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ถ้ามีอะไรส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล อันเป็นผลจากการถวายสัตย์ฯ ก็จะขอรับผิดชอบ "แต่เพียงผู้เดียว" 

Thaigov

ครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ค.2563 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดระยอง อันมีต้นตอจากบ่อนพนันที่ลักลอบเปิดในพื้นที่ และผู้รับผิดชอบด้านบริหาร/ปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงรัฐบาล ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทั้งเรื่องการเปิดบ่อนและการที่ไม่ได้ตรวจตรามาตรการป้องกันโควิด แม้ว่าจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า "ขอรับผิดชอบ" ในฐานะ ผอ.ศบค. โดยยอมรับว่า "มันไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย เพราะว่าเป็นเรื่องของการที่ไม่เคารพกติกา ไม่มีวินัย ไม่คิดถึงส่วนรวม มันทำให้เกิดปัญหา รับผิดชอบกันไปกันมา โทษกันไปมา ผมในฐานะ ผอ.ศบค. ก็ขอรับผิดชอบในส่วนตรงนี้ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องหาวิธีการในการปิดจุดต่างๆ เหล่านี้ ความหละหลวมเหล่านี้ให้ได้"

อย่างไรก็ตาม เพียงไตรมาสแรกของปี 2564 ก็เกิด 'คลัสเตอร์ทองหล่อ' ซึ่งเกี่ยวพันกับรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเองก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด ทั้งที่รัฐบาลและโฆษก ศบค.เน้นย้ำให้ประชาชน "อย่าการ์ดตก" เป็นประจำ แต่เมื่อเกิดกรณีรัฐมนตรีเข้าร่วมกิจกรรมในสถานบันเทิงที่นำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่ได้ออกมาพูดว่า "ผมขอรับผิดชอบ" แต่อย่างใด ทั้งยังสะท้อนว่าหน่วยงานภาครัฐภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ หละหลวมในประเด็นเดิมอีกครั้ง

ส่วนการระบุว่า "ขอรับผิดชอบเอง" ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดใน 'สงครามโควิด' เมื่อ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการพูดครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นสะท้อนวิธีคิดในแบบผู้นำสายทหารที่ถนัดในการใช้อำนาจสั่งการ 'ผู้ใต้บังคับบัญชา' แต่คนในสังคมไทยยังคงตั้งคำถาม เพราะการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดจำเป็นต้องรับฟังผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ใช่การรวบอำนาจ

เทียบวาทะ "ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" ของจอมพลสฤษดิ์

นิตยสาร Time สื่อเก่าแก่ในสหรัฐอเมริกา เคยเผยแพร่บทสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2562 โดยระบุว่า เขามีชื่อเล่นหรือฉายาว่า 'สฤษดิ์น้อย' โดยเปรียบเทียบกับ 'จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์' นายกรัฐมนตรีลำดับที่ 11 ของไทย เนื่องจากทั้งคู่เป็นนายทหารที่ประกาศตัวเป็นผู้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ทั้งยังเป็นผู้ก่อการรัฐประหารและก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกัน 

Time Magazine

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พูดกับสาธารณชนบ่อยๆ ว่า "ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว/ ขอรับผิดชอบเอง" ในกรณีที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ก็ยิ่งทำให้ภาพเปรียบเทียบระหว่าง 'ประยุทธ์-สฤษดิ์' ยิ่งชัดเจนขึ้น แต่ก็ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นนัก เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมหลายครั้ง เช่นเดียวกับกรณีของจอมพลสฤษดิ์ที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหนึ่ง ก่อนจะถูกวิจารณ์และตั้งคำถามอย่างมากเมื่อเสียชีวิตลง

ในราชกิจจานุเบกษาเคยเผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร เมื่อปี 2500 ตามด้วยประกาศแต่งตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2502 โดยถ้อยคำในราชกิจจาฯ ตอนหนึ่งระบุเหตุผลในการแต่งตั้งว่า "จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ และมีความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นเอนกประการ" 

ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 9 ก.พ.2502 จนถึงวันถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 8 ธ.ค.2506 จอมพลสฤษดิ์ถูกบันทึกว่าใช้อำนาจขั้นเด็ดขาดในการบริหารประเทศ มีการออกกฎหมายห้ามสูบฝิ่นและปราบปรามนักเลง รวมไปถึงการสั่งประหารชีวิตผู้ที่ถูกตัดสินว่าก่ออาชญากรรม ซึ่งหากเทียบกับยุคปัจจุบันอาจไม่ถึงขั้นความผิดร้ายแรง เช่น ผู้ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้เกิดวาทะ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" เพื่อสยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และคนจำนวนไม่น้อยก็สนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ภายใต้คำขวัญ "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ"

แต่หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม เกิดเหตุฟ้องร้องเรื่องมรดกระหว่างท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยาคนที่ 4 และทายาทของจอมพลสฤษดิ์ โดยไทยรัฐรายงานว่าฝ่ายโจทก์อ้างถึงเงินมรดกราว 2,874,009,794 บาท รวมกับอสังหาริมทรัพย์อีกมาก ทำให้รัฐบาลชุดต่อมา ภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร สั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง เพราะสังคมต้องการคำตอบว่าเพราะเหตุใดจอมพลที่ถูกยกย่องว่าเป็นคนซื่อสัตย์จึงได้มีทรัพย์สินจำนวนมหาศาล ทั้งยังมีการเปิดเผยว่าเขามีอนุภรรยาอีกหลายสิบคน 

ท่านผู้หญิงวิจิตราโต้แย้งว่าเงินมรดกมีอยู่เพียง 12 ล้านเท่านั้น แต่รายงานของคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินของรัฐในกองมรดกของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีมติให้ยึดทรัพย์สินจอมพลสฤษดิ์และภริยา "ให้ตกเป็นของรัฐ"  ซึ่งในเอกสารของรัฐไม่ได้ระบุตัวเลขทรัพย์สินที่ชัดเจน แต่ Time รายงานว่าทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์มาจากการทุจริตโครงการสลากกินแบ่งและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โดยนำเงินที่ได้ไปเลี้ยงดูอนุภรรยาและซื้อรถยนต์-อสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก 

wikipedia

ภาพจาก wikipedia: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในพ.ศ. 2506