Skip to main content

Libertus Machinus
 

 

ถ้าจะพูดถึง สวิตเซอร์แลนด์ บางคนอาจนึกถึงธุรกิจธนาคารระดับตำนาน บางคนอาจนึกถึงคุณภาพชีวิตที่สูงลิบ บางคนก็อาจนึกถึงสินค้ายอดฮิตของประเทศ อย่าง มีดสวิส นาฬิกา และช็อกโกแลต

ทั้งหมดที่ว่ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนคนสวิส แต่อันที่จริง มันยังขาดของอีกอย่างหนึ่งที่พื้นฐานมากๆ แต่คนนอกประเทศไม่ค่อยรู้และสิ่งที่ว่านี้ คือ "หลุมหลบภัยนิวเคลียร์"


'ความเป็นกลาง' ปกป้องสวิสจากกัมมันตรังสีไม่ได้

 

นับแต่ช่วงสงครามเย็น โลกมีความหวาดระแวงว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา หลายๆ ชาติมีการสร้างหลุมหลบภัยในกรณีหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ แต่ก็น่าจะเรียกได้ว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่สร้างหลุมหลบภัยนิวเคลียร์ไว้มากมายในระดับที่จะจุประชากรทั้งประเทศได้อย่างสวิตเซอร์แลนด์ เพราะประเทศนี้มีหลุมหลบภัยที่ใช้การได้กว่า 370,000 แห่ง จุคนได้ประมาณ 9,000,000 คน ทั้งที่มีประชากรเพียง 8,700,000 คนเท่านั้น

ทำไมมันเป็นแบบนี้? อันนี้ต้องย้อนไปในประวัติศาสตร์หน่อย

เราจะจำจากแบบเรียนว่า สวิสเป็นชาติที่ "เป็นกลาง" ในทุกสงคราม แต่ในความเป็นจริงตอน ฮิตเลอร์ เรืองอำนาจ คนสวิสก็ร้อนๆ หนาวๆ เหมือนกัน คือก็รู้ตัวแหละว่า ถ้าฮิตเลอร์ยึดยุโรปได้จริงๆ สวิสก็ไม่รอดหรอก นี่เลยทำให้คนสวิสเริ่มตื่นขึ้นว่า ตัวเองอาจไม่รอดจากความขัดแย้งภายนอกได้จากการวางสถานะตัวเองเป็นประเทศเป็นกลาง

พอเริ่มมีระเบิดนิวเคลียร์และเข้าช่วงสงครามเย็น คนสวิสก็ยิ่งตระหนักว่า การเป็นกลางอาจไม่ช่วยอะไรหากโลกสาดนิวเคลียร์ใส่กัน และในปี 1959 ชาวสวิสก็เลยทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ (ย้ำนะครับว่าประเทศนี้ทำประชามติปีละ 4 รอบเป็นปกติ) โดยให้มีการเพิ่มบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า รัฐมีหน้าที่ปกป้องวิถีชีวิตของชาวสวิสจากภาวะฉุกเฉิน อุบัติภัย ไปจนถึงสงคราม

หมายความก็คือ รัฐต้องเตรียมรับมือกับสงครามนิวเคลียร์ โดยยุคนั้นเค้าจะมีคำขวัญว่า  "ความเป็นกลางไม่ได้ปกป้องเราจากกัมมันตรังสี" (Die Neutralität schützt uns nicht vor Radioaktivität)

สิ่งที่ตามมาก็คือในปี 1963 เค้ามีกฎหมายว่า อาคารใหม่ทั้งหมดที่สร้าง ต้องมีการสร้างหลุมหลบภัยนิวเคลียร์ควบคู่ไปด้วย ให้พอดีกับประชากรที่จะอาศัยอยู่ในอาคาร


หลุมหลบภัยไม่ใช่สวัสดิการจากรัฐ แม้ไม่ได้ใช้ แต่ต้องดูแลให้พร้อมใช้งานเสมอ

 

สิ่งที่น่าสนคือ ในหลุมหลบภัยนิวเคลียร์กว่า 370,000 แห่งทั่วสวิตเซอร์แลนด์ที่สร้างขึ้นมาภายใต้กฎหมายอาคารในปี 1963 มีเพียงราวๆ 9,000 แห่งเท่านั้นที่เป็นของรัฐ ที่เหลือเป็นของเอกชนทั้งหมด ดังนั้น ในทางเทคนิค เราจะเรียกหลุมหลบภัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "รัฐสวัสดิการ" ก็ไม่ได้ หรือพูดอีกแบบคือ เราพูดไม่ได้ว่าหลุมหลบภัยในสวิสเป็น “สวัสดิการของรัฐ”

แม้จะมองว่า “หลุมหลบภัย” เป็นสวัสดิการของรัฐไม่ได้ในทางเทคนิค จนถึงทุกวันนี้มันก็ยังเป็น "ระเบียบ" ที่พวกอาคารใหญ่ๆ ต้องมีหลุมหลบภัยประจำอาคาร (ระเบียบปัจจุบัน คือ อาคารที่มีคนอาศัยเกิน 38 คน) ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานอะไร เจ้าของอาคารก็มีหน้าที่จะต้องดูแลให้มัน "ใช้งานได้" โดยรัฐจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ

อะไรพวกนี้อาจฟังดูประหลาดมาก แต่ในทางปฏิบัติ ก็สร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชาวสวิสให้เหนือกว่าที่ใดในโลก โดยเฉพาะในภาวะที่รัสเซียกลับมาขู่ว่าจะยิงนิวเคลียร์อีกหลังเปิดสงครามบุกยูเครน

ในทางนโยบาย ความน่าสนใจนี้ก็คือ มันเป็นสปิริตแบบสวิสแท้ๆ คือ รัฐไม่ลงไปทำ "สวัสดิการ" ให้ประชาชนเองแบบพวกชาตินอร์ดิก แต่กลับกัน รัฐกำหนดให้ประชาชนสร้าง "หลักประกันทางสังคม" หรือ "มาตรการความปลอดภัย" ให้กับตัวเอง

แนวทางแบบนี้ น่าสนใจมากในการนำไปใช้กับประเทศที่สมาทานให้กับทุนนิยมจัดๆ ตามแนวทางอเมริกา เพราะประเทศที่เชื่อแบบแบบนี้ ย่อมยอมรับมาตรการของรัฐที่บังคับให้ทุกบ้านต้องมีหลุมหลบภัย "เป็นของตัวเอง" มากกว่าการที่รัฐจะเก็บภาษีประชาชนเพิ่มเพื่อสร้างหลุมหลบภัยให้ "เป็นของสาธารณะ"


อ้างอิง
Nuclear bunkers for all: Switzerland is ready as international tensions mount
Switzerland Fallout Shelters: Past, Present, and Future
Switzerland sets ‘gold standard’ for designing bunkers
  

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน