Skip to main content

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทางฝั่งเอเชียยุติลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945 หรือเกือบ 80 ปีมาแล้ว แต่การพูดถึง “ความบอบช้ำ” โดยเฉพาะ ‘ความบอบช้ำทางจิตใจ’ ของทหารญี่ปุ่นจากความรุนแรงในสงคราม กลับถูกฝังกลบอยู่ในความมืดมิดมาอย่างยาวนาน ปล่อยให้ความรุนแรงอันดำมืดและเงียบงันที่ซุกซ่อนตัวอยู่สร้างผลร้ายอย่างฉกาจฉกรรจ์กับคนรอบตัว โดยเฉพาะกับสมาชิกในครอบครัวที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความรุนแรงทั้งทางร่ายกายและจิตใจจากน้ำมือของบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งถูกทำลายโดยสงคราม

แต่หลังจากครอบครัวที่ได้รับผลกระทบถูกกระตุ้นให้พูดถึงประเด็นนี้มาเป็นเวลาหลายปี จนเมื่อเร็วๆ นี้ สังคมญี่ปุ่นจึงเริ่มมีการพูดถึงผลกระทบที่เกิดกับครอบครัวของทหารซึ่งกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัฐบาลญี่ปุ่นก็ตัดสินใจให้เริ่มมีการศึกษาเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับบาดแผลทางจิตใจอดีตที่ทหารผ่านศึกได้รับจากสมรภูมิในสงครามโลก


'สงคราม' คือ 'นรก'

 

นักวิชาการประเมินว่า มีชาวญี่ปุ่นจำนวนหลายแสนคนที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์เลวร้ายจากความรุนแรงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากสงครามได้เปลี่ยน ‘คนที่รัก’ ของพวกเขาให้กลายเป็น ‘ปิศาจร้าย’ หลังรอดชีวิตกลับมาหาครอบครัว

โชเฮ คุวาบาระ วัย 79 ปี เล่าถึงฝันร้ายจากพฤติกรรมอันเลวร้ายของพ่อ ภายหลังที่พ่อของเขาเสียชีวิตไปนานหลายสิบปี เขาเล่าว่า พ่อกลายเป็นคนขี้เมา โมโหร้าย ชอบทำร้ายร่างกายและจิตใจคนในครอบครัว และทารุณภรรยาของตัวเองโดยที่ไม่รู้สึกละอายใจ

โชเฮเล่าว่า แม่บอกกับเขาว่า พ่อไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน จนกระทั่งกลับจากการไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2

พ่อของโชเฮ คือ ซากาเอะ คูวายาระ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองเกียวโต เขาถูกส่งตัวไปเป็นทหารที่จีนในปี 1938 หลังได้รับบาดเจ็บ เขาถูกส่งตัวกลับบ้านในอีก 1 ปีต่อมา และกลายเป็น “คนละคน” กับซากาเอะคนเดิม

โชเฮเล่าว่า พ่อเริ่มมีพฤติกรรมย่ำแย่และลาออกจากตำรวจ ทำให้แม่กลายเป็นคนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว

โชเฮบอกว่า เขาไม่มีวันลืมเมื่อตอนที่อยู่ชั้นประถม 5 วันที่พ่อพาเมียน้อยเข้าบ้าน และพากันนั่งกินอาหารฝีมือของแม่ต่อหน้าครอบครัว พ่อยังสั่งไม่ให้แม่นอนบนที่นอน และสั่งแม่ให้ “พาโชเฮไปโรงอาบน้ำเดี๋ยวนี้ ห้ามกลับมาก่อนถึง 2 ชั่วโมง”

โชเฮเล่าว่า วันนั้นเขาและแม่นั่งชิดกันข้างกองเศษไม้ใกล้โรงเลื่อยท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ เขาถามแม่ว่า “ทำไมแม่ไม่ทิ้งพ่อไปเสียล่ะ” แม่ตอบว่า “แม่เชื่อว่าพ่อจะกลับมาเป็นคนที่อ่อนโยนเหมือนตอนก่อนสงคราม” และบอกว่า “เราก็แค่ต้องอดทน ลูกเข้าใจไหม”

พ่อของโชเฮดื่มเหล้าทุกคืน และใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครัวหนึ่งหรือสองครั้งในแต่ละสัปดาห์ เช่น ขว้างชามที่มีซุปมิโสะใส่หน้าแม่ คว่ำโต๊ะกินข้าว และอาละวาดโวยวายว่า อาหารอะไรกินไม่ได้เลย

โชเฮและน้องชายอีกสองคนเคยถูกพ่อทารุณอย่างโหดร้าย โชเฮเล่าว่ามีครั้งหนึ่งพ่อจับเขามัดแขวนกับสะพานรถไฟ โชเฮยังจำได้ดีว่า “รถไฟวิ่งผ่านด้านล่างของผมไป ตอนนั้นผมคิดว่าผมกำลังจะถูกฆ่าแล้ว”

พ่อของโชเฮเสียชีวิตในวัย 76 ปี โชเฮบอกว่า “ทั้งหมดที่ผมคิดก็คือ ในที่สุดพ่อก็ตายจริงๆ เสียที”

แม่ของโชเฮเสียชีวิตในปี 2013 หลังแม่ตาย เขาพบสมุดที่เป็นสมบัติของแม่ หน้าปกเขียนว่า “บันทึกในค่ายทหารโดยซากาเอะ คูวาบาระ” โชเฮบอกว่า เขาเคยอ่านบันทึกเล่มนั้นเพียงครั้งเดียว

โชเฮเล่าว่าในบันทึก พ่อเขียนถึงเพื่อนทหารคนหนึ่งที่พูดคุยด้วยก่อนที่จะถูกลูกกระสุนเจาะเข้าที่หัวทะลุหมวกเหล็กเสียชีวิต พ่อของเขายังเขียนถึงการใช้ดาบปลายปืนแทงชาวจีนที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามบ้านด้วย

โชเฮบอกว่า เกิดความคิดหลายอย่างผ่านเข้ามาในหัว เขาเกิดคำถามว่า “พ่อฆ่าคนไปกี่คนกันเนี่ย พ่อต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบากแน่ๆ”

โชเฮเล่าว่า ในบันทึกเขียนว่า ครั้งหนึ่งหน่วยทหารของพ่อต้องเข้าโจมตีที่ตั้งศัตรู เพื่อนทหารส่วนใหญ่ถูกฆ่าตายในการรบครั้งนั้น มีซากศพทหารชาวจีนเรียงรายแน่นจนหลบหนีออกมาไม่ได้ ในบันทึกเขียนไว้ว่า “ทั้งทหารจีนและญี่ปุ่น ล้วนแต่ต้องยากลำบากเพราะถูกเกณฑ์มาเป็นทหาร”

โชเฮบอกว่า คำพูดที่แม่มักพูดกับเขาซ้ำๆ เสมอคือ “สงครามทำให้พ่อเปลี่ยนไป” นั้น เพิ่งมากระจ่างเป็นครั้งแรกหลังได้อ่านบันทึกของพ่อนี่เอง

ต่อมา โชเฮนำบันทึกของพ่อไปอ่านออกอากาศทางรายการวิทยุ เขาได้รับเสียงตอบรับอย่างมากจากกลุ่มคนที่บอกว่า “ครอบครัวของฉันก็ผ่านสิ่งเดียวกันนี้มา”

โชเฮบอกว่า แม่บอกกับเขาก่อนที่เธอจะสิ้นลมหายใจว่า 
“แม่ของผมเคยพูดไว้ก่อนตายว่า สงคราม ก็คือ นรก ไม่ว่าเธอจะตายหรือรอดกลับมา” เขาบอกว่า “แม่พูดถูกแล้วครับ”

 

สงครามเปลี่ยน ‘คน’ เป็น ‘ปิศาจ’

 

มิชิโยะ ฟูจิโอกะ เป็นอีกหนึ่งของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากพ่อซึ่งกลับจากสงครามโลก เธอส่งเสียงและชูแขนขึ้นสูงสู่อากาศเป็นการฉลองในวันที่พ่อขี้เหล้าน่าอับอายของเธอได้ลาจากโลกไป

มิชิโยะ ในวัย 64 ปี เล่าประสบการณ์ของเธอเป็นครั้งแรกต่อสาธารณะ ในการประชุมที่จัดโดยกลุ่มสมาชิกของครอบครัวอดีตทหารที่ต้องทุกข์ทรมานจากโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ PTSD เกือบ 100 คน ซึ่งมาร่วมพูดคุยกันที่โอซาก้า

พ่อของมิชิโยะเกิดในครอบครัวชาวนา ในจังหวัดทตโตริ และถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเมื่อตอนอายุ 21 ปี พ่อของเธอถูกกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตจับไปขังที่ไซบีเรียจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ จึงถูกปล่อยตัวและกลับมาที่ญี่ปุ่นในปี 1948

พ่อของมิชิโยะสูญเสียความเป็นตัวเองไปกับการดื่มแอลกอฮอล์ และกลายเป็นตัวก่อความรุนแรงภายในบ้าน

มิชิโกะเล่าว่า พ่อมักถือขวดสาเกขนาด 1.8 ลิตร และคว่ำโต๊ะกินข้าวเมื่อเห็นชามข้าวและกับข้าวมื้อเย็นตั้งอยู่บนโต๊ะ พ่อจะเทข้าวจนกระจายไปทั่วพื้น แล้วค่อยเก็บกินหลังจากปัดเอาสิ่งสกปรกออกแล้ว

ตอนเมา พ่อจะบอกให้มิชิโกะกับพี่ชายเล่นเกม “ฆ่าตัวตาย” โดยบอกให้ลูกๆ ยืนพร้อมเปิดวาล์วแก๊ส และบอกให้ลูกๆ ตายด้วยกัน เกมจะจบเมื่อแม่เข้ามาและบอกให้แยกย้าย มิชิโกะเล่าวว่า ครั้งหนึ่งพ่อเคยคว้ามีดวิ่งไล่กวดเธอหลังจากเธอวิ่งหนีออกจากบ้าน

เธอเล่าว่า ในตอนที่อารมณ์ดี พ่อมักคุยโม้เกี่ยวกับความกล้าหาญของตัวเองในสนามรบ เช่น การขนเครื่องยังชีพฝ่าออกไประหว่างที่ข้าศึกเปิดฉากถล่มอย่างหนัก แต่วันที่ฝนตก พ่อของเธอกลับนั่งตัวสั่นเทาอยู่ตรงมุมห้องและพูดว่า “ฉันกำลังจะถูกฆ่าๆ” และ”พวกทหารกำลังมาแล้วๆ” พ่อของมิชิโกะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าแม่แต่จะไปห้องน้ำตามลำพัง

มิชิโกะเล่าว่า ครั้งหนึ่งพ่อของเธอมาหา เขาร้องไห้และเอามือลูบหัวเธอ พร้อมขอให้เธออภัย หลังจากนั้นเพียงสองเดือน พ่อก็เสียชีวิต ตอนนั้น มิชิโกะอายุเพียง 9 ขวบ และมารู้ภายในหลังว่า พ่อของเธอฆ่าตัวตาย

“จนถึงทุกวันนี้ ฉันยังไม่กล้ามองภาพถ่ายของพ่อแบบตรงๆ โดยที่ไม่รู้สึกกลัวได้เลย” เธอบอกว่า “รัฐบาลชิงเอาสิทธิของพ่อของฉันไป สิทธิที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุข” มิชิโกะบอก

 

PTSD โรคจากความรุนแรงและการทารุณในสงคราม

 

มิชิโกะเล่าว่า เธอไม่เคยเชื่อว่าพ่อมีปัญหาเพราะผ่านประสบการณ์ที่โหดร้ายจากสนามรบ จนกระทั่งได้ดูภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม เมื่อตอนที่เธออายุ 30

เธอเคยคิดว่า ปัญหาของพ่อเกิดจากตัวของพ่อเอง แต่หลังจากเรียนรู้กับกลุ่มสมาชิกครอบครัวของอดีตทหารที่ต้องทนทุกข์จากโรค PTSD เธอเริ่มเชื่อว่าสังคมควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

กลุ่มสมาชิกครอบครัวอดีตทหารที่ทนทุกข์จาก PTSD ในญี่ปุ่น ตั้งขึ้นในปี 2018 โดย อากิโกะ คูโรอิ ผู้ซึ่งสงครามทำให้พ่อของเขากลายเป็นคนซังกะตาย เหมือนซากศพที่ไร้ชีวิตชีวา

อากิโกะในวัย 74 ปีบอกว่า เคอิจิโร พ่อของเขาต่อสู้กับทหารจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่พ่อกลับจากสงคราม ก็ไม่ยอมพูดจากับใครอีกเลย แม้แต่กับภรรยาหรือลูกๆ ทั้งสามคน

เมื่อไม่มีงานประจำ พ่อของเขาเก็บตัวเงียบอยู่ในความเศร้า อากิโกะบอกว่า “พ่อเซื่องซึม เราไม่สามารถแม้กระทั่งจะบอกว่า พ่ออยู่กับพวกเราเถอะนะ”

เขาบอกว่า ตอนที่พ่อตายในปี 1990 เขาไม่มีน้ำตาเลยแม้แต่หยดเดียว

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปี 2015 เมื่ออากิโกะดูสารคดีเกี่ยวกับทหารสหรัฐที่ทนทุกข์จากโรค PTSD ซึ่งเป็นผลจากการรบในสงครามเวียดนาม ทหารผ่านศึกในสารคดีถูกหลอกหลอนจากฝันร้ายในสนามรบ ทำให้อากิโกะเริ่มตรวจสอบบันทึกทางทหารและอัลบั้มภาพของพ่อเป็นครั้งแรก เขาพบว่า พ่อได้รับการเลื่อนยศจากพลทหารเป็นจ่า และได้รับประกาศนียบัตรความประพฤติดี รวมถึงเข้าร่วมการรบแบบกองโจรอันป่าเถื่อน

“พ่อของผมและคนอีกมากถูกทำลายจากประสบการณ์อันเลวร้ายในสนามรบ และความทุกข์ทรมานก็ค่อยๆ กัดกินจิตใจของลูกๆ หลานๆ ต่อไปอีกหลายสิบปีจากนั้น” อากิโกะกล่าว

อีริ นากามูระ รองศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่ ที่มหาวิทยาลับฮิโรชิมา บอกว่า ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบหลงเหลืออยู่เกี่ยวกับบาดแผลทางจิตใจของทหารญี่ปุ่นที่ปลดประจำการหลังสิ้นสุดสงครามโลก เธอประมาณการณ์ว่า มีทหารที่ต้องทนทุกข์จากความผิดปกติทางระบบประสาทและจิตเวชในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกนับแสนคน และมีอีกมากที่เชื่อว่ามีอาการดังกล่าวหลังสงคราม


ที่มา

Study starts on mental trauma suffered by soldiers in WWII
PTSD prolongs war nightmares for soldiers and their children