Skip to main content

รัฐบาลชิลีประกาศล็อกดาวน์ ระงับบางกิจการและสั่งห้ามประชาชนเดินทางเคลื่อนย้ายในกรณีที่ไม่จำเป็น โดยมีผลในกรุงซันติอาโก เมืองหลวงของประเทศ ตั้งแต่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ราย หรือ 17% ของจำนวนผู้ติดเชื้อเมื่อเดือน พ.ค. ทั้งที่ชิลีเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชาชนมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ครอบคลุม 58% ของประชากร 15 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกคิดเป็น 75% ของประชากรทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มเด็กและเยาวชน ต้องรอการจัดหาวัคซีนที่เหมาะสม

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่การแพทย์ระดับสูงของชิลี ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ใช้วัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวค ซึ่งรัฐบาลชิลีได้รับบริจาคมาจากจีน แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์และระบาดวิทยา เนื่องจากซิโนแวคช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อได้ดี แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดต่อโรคโควิดได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม แพทย์ในชิลีตระหนักดีว่าไม่มีวัคซีนตัวใดที่ป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด 100% และในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. มีผู้ติดเชื้อที่อาการเข้าขั้นวิกฤตถูกส่งเข้าโรงพยาบาลทั่วประเทศ คิดเป็น 98% ที่ระบบสาธารณสุขและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีอยู่จะรองรับได้ ถ้าหากเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกระยะอาจจะประสบภาวะขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ได้เช่นกัน

ที่ผ่านมา ชิลีได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปราว 17.2 ล้านโดสแก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย และวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคอีก 4.6 ล้านโดส ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับวัคซีนแคนซิโนรวมเกือบ 1 ล้านโดส ทำให้รัฐบาลเร่งให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านวัคซีนและเภสัชกรรมรับรองการใช้วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินเพิ่มเติมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

"Chile: Mercado Lo Valledor durante la pandemia COVID-19" by FAOAmericas is licensed under CC BY-NC-SA 2.0

'กันตาย' ได้ผลดี แต่ 'กันโรคติดต่อ' ยังไม่แน่ใจ

ชิลีไม่ใช่ประเทศแรกที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่ประชาชนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ยังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ เพราะนอกจากนี้ยังมีเซเชลส์และอุรุกวัยที่ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน โดยกรณีของเซเชลส์ใช้วัคซีนซิโนฟาร์มที่ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และวัคซีนโควิชีลด์จากอินเดีย ฉีดให้ประชากรทั่วประเทศไปแล้วกว่า 70% โดยผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วมีจำนวน 63% ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนอุรุกวัยฉีดวัคซีนของซิโนแวคแบบครบโดสให้ประชาชนไปแล้ว 8.26 แสนคน และฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคให้ประชาชนอีก 1.5 แสนคน และกระทรวงสาธารณสุขอุรุกวัยยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิดลงได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยขั้นวิกฤตที่ถูกรับเข้ารักษาอาการในโรงพยาบาลทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ ทำให้ฟอร์บส สื่อในสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวเตือนประชาชนอเมริกันที่ได้รับวัคซีนแล้วว่าอย่าประมาทจนลืมป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัส เพราะแม้วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่ฉีดให้ประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่จะได้รับการประเมินว่าป้องกันการติดเชื้อได้กว่า 90% แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดต่อโรคโควิดได้เช่นกัน

กรณีของไทยอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่าการฉีดวัคซีนของซิโนแวคเป็นหลัก จะทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับชิลีหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงที่มีข้อมูลจากทั้งโรงพยาบาลและกรุงเทพมหานครว่ายังไม่ได้รับวัคซีนจากรัฐบาล ก็ยิ่งทำให้คนตั้งคำถามมากขึ้นว่าหากการฉีดวัคซีนทิ้งระยะห่างกันเกินเวลาที่องค์การอนามัยโลกแนะนำจะมีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหรือไม่