Skip to main content

ในขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถูกมองเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ กลับมาเปิดเมืองเปิดประเทศ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันอย่างเต็มที่ได้อีกครั้ง แต่ปัญหาความไม่เชื่อมั่นก็กำลังกลายเป็นความท้าทายสำคัญที่ทำให้การฉีดวัคซีนในฮ่องกงดำเนินไปได้ค่อนข้างช้า 

ฮ่องกงเป็นหนึ่งในที่ที่เข้าถึงวัคซีนได้ไม่ยาก รัฐบาลจัดหาวัคซีนฟรีและประชาชนที่อายุ 16 ปี ขึ้นไปสามารถรับวัคซีนได้ โดยการจองฉีดวัคซีนทำได้ผ่านเว็บไซต์ของรัฐบาลและสามารถเข้ารับการฉีดที่จุดบริการ 29 จุดทั่วเมือง มีวัคซีนให้เลือกฉีดอยู่ 2 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค สำหรับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป และวัคซีนซิโนแวคสำหรับผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า มีคนฮ่องกงจำนวนมากเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีน

ข้อมูลจากบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ระบุว่านับตั้งแต่ฮ่องกงฉีดวัคซีนเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ตอนนี้มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วร้อยละ 11.6 ของจำนวนประชากรทั้งหมด 7.5 ล้านคน ขณะที่เว็บไซต์รัฐบาลฮ่องกงระบุว่า มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1.77 ล้านโดส ในจำนวนนี้มีประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรก 1.08 ล้านคน และได้รับเข็มที่สองแล้ว  689,257  คน อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่ายังช้ากว่าหลายประเทศเช่นสหราชอาณาจักรที่ให้วัคซีนครอบคลุมประชากรไปแล้วประมาณร้อยละ 39.7 หรือสิงคโปร์ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วร้อยละ 19.4 ซึ่งรายงานระบุว่าเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ยอดการจองฉีดนัดหมายวัคซีนในฮ่องกงลดต่ำสุดในรอบ 1 เดือน 

การฉีดวัคซีนช้ายิ่งทำให้ฮ่องกงมีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติช้าลงและทำลายความน่าดึงดูดของเขตบริหารพิเศษนี้ในฐานะเป็นศูนย์กลางธุรกิจท่ามกลางสัญญาณการอพยพออกของบรรดาคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานและคนท้องถิ่น  ส่วนผู้ว่าการธนาคารฮ่องกงยังเตือนว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างต่ำอาจทำให้บริษัทข้ามชาติตั้งคำถามว่าควรจะตั้งสำนักงานที่ฮ่องกงดีหรือไม่   

ไม่เชื่อใจรัฐบาล-สงสัยประสิทธิภาพวัคซีน

รายงานจากบลูมเบิร์กชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวฮ่องกงลังเลไม่อยากฉีดวัคซีนส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดได้รวดเร็วที่ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกกลัวโควิด-19 มากนัก โดยนับตั้งแต่เกิดการระบาดจนถึงตอนนี้ฮ่องกงมีผู้ติดเชื้อสะสมไม่ถึง 12,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 210 ราย  

นอกจากนี้ ความลังเลยิ่งเพิ่มขึ้นจากความรู้สึกไม่ไว้วางใจทางการที่เกิดจากเหตุการณ์ประท้วงบนท้องถนนเมื่อปี 2562 ซึ่งตามมาด้วยการปราบปรามของรัฐบาลจีนและทางการท้องถิ่นที่ทำให้เสรีภาพทางการเมืองในฮ่องกงยิ่งถูกทำลาย โดยความไม่ไว้วางใจทางการเมืองที่แทรกซึมไปทุกมิติของชีวิต จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งปฏิเสธคำขอของรัฐบาลให้ฉีดวัคซีน โดยมองเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้าน เช่น 'เชา' นักเรียนวัย 16 ปีคนหนึ่งที่เผยกับบลูมเบิร์กว่าจะไม่ฉีดวัคซีน เพราะเขาและเพื่อนไม่ต้องการทำตามคำสั่งหรือคำแนะนำของรัฐบาล  และจะทำอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในการต่อต้านรัฐบาลนี้ 

'อีเลน จุ่ย' อาจารย์ด้านจิตวิทยาสุขภาพจากมหาวิทยาลัยแบ๊บติสต์ฮ่องกงระบุว่า ความลังเลในการฉีดวัคซีนมาจากปัจจัยด้านจิตวิทยา 3 ส่วน ได้แก่ ความสะดวก ความพึงพอใจและความเชื่อมั่น โดยในฮ่องกงปัจจัยเรื่องความสะดวกสบายไม่ใช่ปัญหา ขณะเดียวกัน ก็มีความพึงพอใจอยู่ในระดับสูงจากมุมมองว่าโควิด-19 ไม่ได้เป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพร้ายแรงต่อคนที่พำนักอยู่ที่นี่ แต่ส่วนที่โดดเด่นคือเรื่องความเชื่อมั่นหรือการขาดความเชื่อมั่น โดยจุ่ยระบุว่าด้วยระดับความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลในฮ่องกงที่เลวร้ายกว่าที่อื่นๆ จากเหตุการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากทำให้คนมีแนวโน้มกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับวัคซีนแล้ว ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับโครงการสาธารสุขใดๆ ก็ตามที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลด้วย 

โดยอีเลน จุ่ย ระบุว่าในฮ่องกง เหตุการณ์ทางการแพทย์หรือการเสียชีวิตในหมู่ประชาชนหลังจากที่พวกเขาได้รับวัคซีนถูกรายงานอย่างกว้างขวาง แม้ในบางกรณีจะมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนน้อยมาก ตัวอย่างเช่นกรณีของชายวัย 41 ปีคนหนึ่งที่เสียชีวิต 5 วันหลังประสบเหตุเครื่องยกน้ำหนักหล่นใส่หน้าอกระหว่างออกกำลังกายในยิม ซึ่งในรายงานของสื่อต่างๆ ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไปว่าชายคนดังกล่าวได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไปก่อนหน้านั้น รวมถึงยังมีกรณีการเสียชีวิตของประชาชน 16 คน หลังการฉีดวัคซีนซิโนแวค แต่รัฐบาลยืนยันว่าไม่มีกรณีใดเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งข่าวสารเกี่ยวกับการเสียชีวิตและผลข้างเคียงก็ล้วนมีส่วนทำให้คนยิ่งรู้สึกไม่เชื่อถือในวัคซีนเหล่านี้ แม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยก็ตาม 

ความไม่เชื่อใจในรัฐบาลยังสะท้อนได้จากมุมมองของ 'แฮนสัน ชาน' บุรุษพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งของฮ่องกงที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เผยกับบลูมเบิร์กว่า สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับเขาคือการพัฒนาวัคซีนที่เป็นไปอย่างเร่งรีบและโอกาสเกิดผลข้างเคียง แม้รัฐบาลจะพูดเสมอว่ากรณีผลข้างเคียงที่ผิดปกติต่างๆ ไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าเป็นเพราะวัคซีน ซึ่งนี่อาจเป็นข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่อาจโน้มน้าวให้คนในฮ่องกงเชื่อถือในข้อโต้แย้งนี้ที่มาจากปากของรัฐบาลได้ 

เร่งใช้มาตรการจูงใจกระตุ้นคนฉีดวัคซีน 

รัฐบาลฮ่องกงพยายามออกมาตรการจูงใจให้คนเข้ารับวัคซีนโควิด-19  โดยคลายกฎเว้นระยะห่างทางสังคมสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เช่น อนุญาตให้ไปบาร์และรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นตามร้านอาหารต่างๆ ส่วนโครงการทราเวลบับเบิลกับสิงคโปร์ที่จะเริ่มช่วงปลายเดือนนี้ก็เปิดรับเฉพาะผู้พำนักในฮ่องกงที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ดูจะยังไม่ช่วยเพิ่มการฉีดวัคซีนได้อย่างมีนัยสำคัญ 

และในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามาตรการจูงใจเป็นเรื่องจำเป็น แต่ 'แลม ชิง ชอย' ที่ปรึกษาของรัฐบาลฮ่องกงมองว่า ท่ามกลางบรรยากาศที่คนรู้สึกไม่เชื่อมั่น ก็ทำให้รัฐบาลมีตัวเลือกในการดำเนินนโยบายอย่างจำกัด ไม่สามารถผลักดันแบบจีนแผ่นดินใหญ่หรือที่อื่นๆ ได้ จึงต้องขอให้คนเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยพื้นฐานความสมัครใจ ซึ่งรัฐบาลฮ่องกงยังพยายามทำงานร่วมกับบรรดาเซเลบริตี้ในท้องถิ่นสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนอีกด้วย

ขณะที่ล่าสุด 'แคร์รี หล่ำ' ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงกล่าวระหว่างการแถลงประจำวัน ประกาศยกเลิกแผนกำหนดให้คนทำงานรับใช้ในบ้านที่เป็นชาวต่างชาติต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อขอวีซ่าทำงาน หลังจากแผนดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยหล่ำระบุว่าการตัดสินใจนี้มีขึ้นหลังปรึกษากับสถานกงสุลอินโดนีเซียและฮ่องกงแล้ว หากทางการฮ่องกงใช้ข้อกำหนดบังคับฉีดวัคซีนก็อาจทำให้เจอปัญหาหลายอย่างซึ่งรวมถึงปัญหาด้านกฎหมายด้วย ขณะเดียวกันสถานการณ์ไวรัสระบาดในฮ่องกงก็ค่อนข้างคงที่ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อนข้างต่ำในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยพบผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นรวม 11 ราย  อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงก็ระบุว่าคนทำงานรับใช้ในบ้านที่เป็นชาวต่างชาติยังจำเป็นต้องเข้าตรวจโควิดรอบสองภายในวันที่ 30 พ.ค. ยกเว้นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว โดยในฮ่องกงมีคนทำงานบ้านต่างชาติอยู่กว่า 370,000 คน คิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากร 

ทั้งนี้ หล่ำยังได้ประกาศให้โรงเรียนในท้องถิ่นกลับมาเปิดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบครึ่งวันตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. เป็นต้นไป