Skip to main content

Libertus Machinus

 

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อบริษัท Happy Cashier เท่าไร แต่ถ้าพูดถึงร้านอาหารอเมริกันหลายๆ ร้านที่เริ่มเอาคนที่อยู่ในประเทศอื่นมารับออร์เดอร์อาหารลูกค้าผ่านการทำวีดีโอคอลไปโผล่หน้าคุยกับลูกค้าที่ร้านอาหารซึ่งตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกา หลายคนคงอ๋อ ซึ่งนี่แหละคือบริการของ Happy Cashier


Happy Cashier เป็น Startup ใหม่สัญชาติอเมริกันทีมีบริการเชื่อมต่อคนจากประเทศค่าแรงถูกๆ ให้มาทำวีดีโอคอลเพื่อรับออร์เดอร์จากร้านอาหารในอเมริกา โดยหลักๆ ร้านที่จะใช้บริการ Happy Cashier ก็คือเหล่าร้านฟาสฟู้ดที่มักจะเป็นธุรกิจในอเมริกาที่ขึ้นชื่อเรื่องการจ่ายค่าแรงพนักงานเท่าค่าแรงขั้นต่ำ


ซึ่งถามว่าทำไมร้านพวกนี้ใช้บริการ Happy Cashier เหตุผลก็ง่ายมาก เพราะร้านน่าจะต้องจ่ายค่าแรงถูกกว่าจ้างแรงงานในอเมริกามาก เพราะค่าแรงขั้นต่ำในรัฐใหญ่ๆ ในอเมริกาก็โหดไม่ใช่เล่น ซึ่งยกตัวอย่างง่ายๆ ค่าแรงขั้นต่ำในนิวยอร์คอยู่ที่ชั่วโมงละประมาณ 540 บาท ซึ่งแม้ว่าจะไม่ชัดว่าร้านพวกนี้ต้องจ่ายเงินให้ Happy Cashier เท่าไร แต่ Happy Cashier เคยให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่าพวกเค้าจ้างคนฟิลิปปินส์ให้มารับออร์เดอร์ผ่านวิดีโอคอลเป็นเงิน 100 บาทต่อ 1 ชั่วโมง


ตรงนี้ Happy Cashier ก็บอกอย่างภาคภูมิใจด้วยว่าพวกเค้าจ่ายเงินให้แรงงานสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศของแรงงาน และในกรณีของฟิลิปปินส์ก็ไม่ผิดแน่ๆ เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่ฟิลิปปินส์อยู่ที่วันละประมาณ 400 บาท ดังนั้นการทำงานกับ Happy Cashier เพียงวันละ 8 ชั่วโมงตามเวลาทำงานปกติยุคปัจจุบันก็จะทำให้แรงงานฟิลิปปินส์ได้เงินมากกว่าทำงานรับจ้างและรับค่าแรงขั้นต่ำในฟิลิปปินส์เป็น 2 เท่าตัวเลยทีเดียว


แน่นอน เรื่องราวแบบนี้จะเล่าเป็นเรื่องราวดีๆ ของการพยายามจะสร้างรายให้คนในประเทศกำลังพัฒนาก็ได้ แต่ถ้ามองในกรอบแบบ "ซ้าย" หน่อยอย่างในมุมเรื่องสิทธิแรงงานภาพจะออกไปอีกแบบเลย


เพราะการทำแบบนี้มันคือการหาเทคนิคในการ "หลบเลี่ยง" มาตรการด้านค่าแรงขั้นต่ำของรัฐ และนั่นคือจะทำให้การต่อสู้เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกากลายเป็นสิ่งที่ไร้สาระไปเลย เพราะสุดท้ายมันมี "เทคโนโลยี" ที่จะทำให้การตั้งค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งที่บังคับใช้ไม่ได้


ไม่มีรายงานชัดเจนว่ามีการใช้บริการ Happy Cashier กว้างขวางแค่ไหนในอเมริกา แต่ถ้าผู้บริโภคไม่ขัดเขินกับการสั่งอาหารผ่านหน้าจอ บริการนี้จะขยายไปต่อแน่ๆ และถึงจุดนึงอาชีพแบบ "แคชเชียร์ร้านฟาสฟู้ด" ก็อาจเป็นอาชีพที่หายไปจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้ต่างจากอาชีพ "คอลเซ็นเตอร์" หรือ "ฝ่ายซัฟพอร์ตลูกค้า" ที่ทุกวันนี้บริษัทอเมริกันนั้น ใช้บริการแรงงานจากอินเดียกันหมดแล้ว เพราะค่าแรงถูกกว่าจ้างคนในสหรัฐอเมริกาอย่างเทียบกันไม่ได้


แต่ทำไมถึงมีปรากฎการณ์แบบนี้? นักวิเคราะห์บอกว่า COVID-19 น่าจะมีส่วนสำคัญในหลายประเด็น คืออุตสาหกรรมร้านอาหารได้รับผลกระทบหนักมาก และทุกฝ่ายคืองัดกลยุทธ์ในการลดต้นทุนดำเนินการมาแบบทุกอย่างที่จินตนาการกันออก และการเลิกจ้างคนและพยายามจะใช้ระบบอัตโนมัติแทนนี่ก็เรื่องปกติมากๆ


ดังนั้นในแง่นี้ การไปจ้างชาวต่างชาติใกลๆ ให้มารับออร์เดอร์มันก็ยังเป็นสิ่งที่ยัง "คงความเป็นมนุษย์" มากกว่าความพยายามลดต้นทุนอีกจำนวนมากที่พยายามจะใช้เครื่องจักรแทนมนุษย์แบบเต็มที่ด้วยซ้ำ และลูกค้าจำนวนมากก็รับได้กับบริการแบบนี้เพราะตลอดช่วง COVID-19 ระบาด คนจำนวนมากที่ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นผ่าน "หน้าจอ" ก็ได้เริ่มมีประสบการณ์นี้ และก็เริ่มรู้สึกว่ามันคือเรื่องปกติมากๆ และอีกด้าน คนจากอีกซีกโลกจำนวนไม่น้อยก็ต้องการทำงาน "พาร์ตไทม์" ที่ได้ค่าจ้างสูงแบบสมน้ำสมเนื้อ ซึ่งบางทีงานที่ว่าก็คือการรับออร์เดอร์อาหารจากคนอีกซีกโลกผ่านหน้าจอ


แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ดังที่บอก การที่ภาคธุรกิจสามารถจ้างแรงงานจากที่ไหนในโลกได้ มันเป็นภาวะที่บ่อนทำลายการต่อสู้ของแรงงานมากๆ ในทุกมิติ แรงงานในท้องถิ่นไม่มีอำนาจต่อรองกับภาคธุรกิจที่สามารถจ้างแรงงานข้ามชาติทางไกลได้ตลอดเวลา ส่วนแรงงานข้ามชาติทางไกล ด้วยสภาพการจ้างงานและการไม่มีโอกาสได้เจอเพื่อนร่วมงาน มันก็ทำให้โอกาสในการตั้งสหภาพแรงงาน หรือการรวมตัวด้านแรงงานใดๆ ที่จะเพิ่มสวัสดิภาพแรงงานเกิดขึ้นได้


หรือยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในกรณีของ Happy Cashier มันทำให้แรงงานฟาสฟู้ดในอเมริกาอำนาจต่อรองลดลงแน่ๆ และต่อจากนี้ก็อาจพยายามจะเรียกร้องค่าแรงเพิ่มไม่ได้แล้ว แต่อีกด้านแรงงานช้ามชาติทางไกล ถ้าคิดว่าค่าแรงต่ำไป หรือมีปัญหาสภาพการทำงานใดๆ พวกเค้าก็ไม่าสามารถรวมตัวกันต่อรองกับนายจ้างในแบบใดๆ ได้


ซึ่งถามว่าเรื่องเหล่านี้ "ใหม่" หรือไม่ คำตอบคือไม่ใหม่เลย การขยายตัวของการใช้แรงงานข้ามชาติในพื้นที่เป็นสิ่งที่ถูกใช้ในการบ่อนทำลายการต่อสู้ของขบวนการแรงงานมาตลอดศตวรรษที่ 20 และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดมาก่อนคำว่า "โลกาภิวัตน์" จะเกิดและเร่งกระบวนการให้รุนแรงขึ้นไปอีก


และถ้าถามต่อว่าแล้วอะไรพวกนี้เป็นปัญหาตรงไหน? มันจะไม่เป็นปัญหาถ้าเราเชื่อว่าขบวนการแรงงานไม่มีความสำคัญในการ "สร้างสมดุล" ส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ตั้งแต่ขบวนการแรงงานโดน "ทำลาย" ไปทั่วโลกในทศวรรษ 1980 และกระบวนการ "โลกาภิวัตน์" เกิดขึ้นเต็มๆ ในทศวรรษ 1990 สิ่งที่เราจะเห็นก็คือ ช่องว่างระหว่างการขยายตัวของ "ค่าแรง" กับ "ผลตอบแทนทุน" ก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุด และเราก็มักจะเห็นหน้าตาของปรากฎการณ์นี้จากตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุดในช่วงเวลาเดียวกัน 


และก็แน่นอน โลกยังเคลียร์ประเด็นนี้ไม่เสร็จ ปัจจุบันยังจะมี AI มา "แย่งงาน" หรือท้าทายอำนาจต่อรองของแรงงานอีก ซึ่งทั้งหมดก็จะทำให้อะไรมันอีรุงตุงนังยิ่งขึ้นไปอีก


เรื่องพวกนี้ทั้งหมดเราจะมองว่ามันเป็นเรื่องราวที่เทคโนโลยีทำให้มนุษย์มีชีวิตสะดวกขึ้น ทำให้สิ่งต่างๆ มีราคาถูกขึ้นก็ได้ และเราก็น่าจะไม่รู้สึกอะไรจนกว่าสิ่งที่ "ราคาถูก" จะมาถึงค่าแรงหรือกระทั่งชีวิตของเราเอง

 

ข้อมูลอ้างอิง
Some fast-food restaurants in the US are paying workers in Asia and Africa to take customers' orders via video call

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน