Skip to main content

สรุป

  • “การควบคุมโรคระบาดมันน่าจะทำให้ทุกคนเข้าถึงการตรวจได้ก่อน”
  • ปัญหาเตียงไม่พอ เข้าถึงการตรวจยาก คนไม่ได้ฉีดวัคซีน สะท้อนปัญหาวิธีคิดเรื่องการรับมือโรคระบาดของรัฐบาลไทย แม้จะอยู่กับโรคนี้มานานกว่า 1 ปีแล้วก็ตาม 
  • แม้อังกฤษเป็นประเทศที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงที่สุดประเทศหนึ่งของยุโรป แต่การใช้ชีวิตในอังกฤษช่วงพีคของการระบาดรอบแรก พบว่าการสื่อสารข้อมูลจากภาครัฐที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มและอยู่กับความเป็นจริง มีส่วนช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกได้
  • คนไทยยังไม่ได้เห็นการแสดงความรับผิดชอบโดยตรงจากผู้บริหารนโยบายสาธารณสุขเลย 

ไม่รู้ว่าจะเป็นบทเรียนสำหรับเขาได้ไหม เพราะว่าเราก็ยังไม่เห็นสิ่งที่เราเรียกว่าความรับผิดชอบ...เราไม่เห็นการแสดงความรับผิดชอบที่ออกมาชัดเจนหรือการยอมรับความผิดพลาดอย่างชัดเจน นอกเหนือไปจากที่พยายามแสดงเหตุผลนู่นนี่นั่นอะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็บั่นทอนกำลังใจประชาชนเนอะ

นี่อาจเป็นความเห็นที่อยู่ในใจของคนไทยจำนวนไม่น้อยในห้วงยามนี้ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และคำถามว่าวัคซีนอยู่ไหน

ข่าวของผู้ติดเชื้อยกครัวแต่เข้าไม่ถึงการรักษา จนบางคนต้องเสียชีวิตอยู่ที่บ้านหรือแม้แต่จากไปก่อนที่จะได้รับการตรวจหาเชื้อด้วยซ้ำ ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจและหวั่นวิตกว่าสักวันหนึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดกับเราหรือคนใกล้ตัวหรือไม่ และนี่ควรเป็นความรับผิดชอบของใคร?  

'the Opener' พูดคุยกับ 'ศิรดา-เขมานิฏฐาไท' นักศึกษาปริญญาเอกด้านการเมืองระหว่างประเทศ จาก SOAS University of London สหราชอาณาจักร ถึงประสบการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อในครอบครัวที่ทำตัวเธอเองและสมาชิกในบ้านทั้งหมดกลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยง แต่กลับพบว่าการเข้าถึงบริการตรวจหาเชื้อของรัฐไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเธอมองว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนชัดว่ากว่า 1 ปีที่ผ่านมาที่ไทยอยู่กับโรคโควิด-19 ดูจะเสียเปล่า เมื่อรัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมให้เพียงพอในการรับมือการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ซ้ำๆ 

เข้าถึงการตรวจ 'ง่าย-ทั่วถึง' พื้นฐานในการควบคุมโรคระบาด  

'ศิรดา' เล่าว่าเมื่อน้องชายตรวจพบเชื้อเมื่อช่วงสงกรานต์ ทั้งครอบครัวจึงมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากได้รับประทานอาหารร่วมกันในช่วงหลายวันก่อนที่น้องจะเข้าตรวจหาเชื้อ จึงคิดว่าทุกคนควรได้รับการตรวจเช่นกัน แต่เมื่อลองโทรไปที่เบอร์กลางทั้ง 1668 และ 1330 ก็ได้รับแจ้งว่าถ้ายังไม่มีอาการก็ยังไม่เข้าโควตาการตรวจของรัฐ ควรกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการก่อน ซึ่งศิรดาบอกว่าเข้าใจในจุดนี้ดีว่าท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัด การตั้งเกณฑ์ให้สูงว่าต้องมีอาการ “และ” มีประวัติเสี่ยง ถึงจะเข้าตรวจได้อาจเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในอีกทางก็กังวลเพราะครอบครัวมีผู้พิการอยู่ด้วย สุดท้ายจึงตัดสินใจลงทะเบียนต่อคิวตรวจของประกันสังคมที่เชิญชวนให้ผู้ประกันตนไปตรวจฟรี และตรวจเองกับโรงพยาบาลเอกชนโดยจ่ายค่าตรวจเอง 

ศิรดา-เขมานิฏฐาไท นักศึกษาปริญญาเอกจาก SOAS University of London

  • 'ศิรดา-เขมานิฏฐาไท' นักศึกษาปริญญาเอกด้านการเมืองระหว่างประเทศ จาก SOAS University of London

แม้จะโชคดีที่สุดท้ายพ่อแม่ไม่ติดเชื้อ แต่เธอมองว่าความจริงแล้วในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายที่สุดและทั่วถึง เป็นส่วนสำคัญในการแยกผู้ติดเชื้อออกมาเพื่อควบคุมโรค

ศิรดาบอกว่าเธอและครอบครัวถือว่าโชคดีที่เป็นชนชั้นกลางที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและพอมีกำลังทรัพย์จึงสามารถหาวิธีเข้าถึงการตรวจได้ แต่หากความเสี่ยงนี้เกิดกับครอบครัวที่ไม่ได้มีกำลังจ่ายและเข้าไม่ถึงข้อมูล ก็ยิ่งน่ากังวล 

เราเคยรู้ว่าในระลอกก่อนๆ อาจมีคนติดเชื้อยังไม่เยอะเหมือนทุกคนที่ได้เป็นสัมผัสเสี่ยงสูง เคยอ่านน่ะค่ะว่าเขาจะได้โค้ดในการไปตรวจกับกรมควบคุมโรคหรือว่ากับโรงพยาบาลรัฐ แต่เราไม่ได้สิทธิตรงนั้นเลย  แต่ในอีกทางหนึ่งเราก็เข้าใจสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ ณ ตอนนั้นว่าเขาคงจะเห็นว่าทรัพยากรในการตรวจมันไม่พอจริงๆ 

แต่ทีนี้เราก็ต้องมาย้อนถึงปัญหาที่มันมากกว่านั้น ต้นตอของปัญหาที่มันมากกว่านั้นคือการเตรียมการศักยภาพในการตรวจของรัฐว่าทำไมมันถึงไม่เพียงพอ หรือว่ามีการเตรียมพร้อมเผื่อระบาดรอบใหม่นะคะ คือเราเข้าใจว่าโอเค วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเนื่องจากทรัพยากรมันไม่พอปุ๊บ ก็ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้มันสูงขึ้นถูกไหมคะว่าต้องสัมผัสเสี่ยงสูงและมีอาการ แต่ว่าเราก็ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า อ้าว แล้วก่อนหน้านี้ล่ะ คุณไม่ได้เตรียม ทางรัฐอ่ะค่ะ ไม่ได้เตรียมศักยภาพในการรับมือให้เพียงพอในการตรวจ คนสามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายๆ หรอ

“การควบคุมโรคระบาดมันน่าจะทำให้ทุกคนเข้าถึงการตรวจได้ก่อน น่าจะมีการวางระบบให้บูรณาการกันมากพอที่ให้คนเข้าไปถึงได้” ศิรดา กล่าว 

ขณะเดียวกันก็บอกว่า จากประสบการณ์ช่วงหาที่ตรวจให้สมาชิกครอบครัว ก็ได้พูดคุยกับหลายคนซึ่งพบว่ามีหลายกรณีที่เป็นผู้มีอาการ แต่ไปโรงพยาบาลแล้วถูกปฏิเสธเนื่องจากไม่ได้เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สุดท้ายพอไปตรวจก็พบว่าติดเชื้อ เข้าโรงพยาบาลโดยที่อาการหนักแล้ว สะท้อนให้เห็นข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการตรวจได้ชัดเจน และนี่ยังไม่รวมถึงความลักลั่นของระบบที่กำหนดให้ตรวจที่ไหนต้องพักรักษาตัวที่นั่น ทำให้เราได้เห็นข่าวแล็บเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนบางเจ้าที่มีศักยภาพตรวจคัดกรองต้องงดรับตรวจเพราะข้อจำกัดจากนโยบายนี้ เป็นอีกปัญหาทับซ้อนที่ยิ่งปิดช่องทางให้คนเข้าถึงการตรวจ

บทเรียนจากช่วงระบาดหนักของอังกฤษ : การสื่อสารของภาครัฐต้องเข้าถึงคนทั่วถึงเพื่อลดความตระหนก  

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่เผชิญการระบาดรุนแรงหลายระลอก จนถึงตอนนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 4.4 ล้านราย โดยที่ยังต้องรักษาตัวมีอยู่ประมาณ 60,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมแล้วกว่า 127,000 ราย เมื่อเราลองถามประสบการณ์ที่ศิรดาผ่านมาจากการอยู่ในกรุงลอนดอนช่วงพีคของการระบาดรอบแรกเมื่อเดือนเม.ย. 2563 ที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ขณะนั้นมากกว่า 1,000 รายต่อวัน โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขต้องรับภาระแบบเต็มขีดจำกัด นักศึกษาไทยจาก SOAS University of London ก็บอกว่าเธอบอกว่าคงไม่ “โปร” อังกฤษ เพราะไม่อาจเรียกได้ว่ามีการจัดการที่ดีขนาดนั้น

อันนั้นยอมรับว่ามันเป็นฝันร้ายของทุกคนที่อยู่ตรงนั้นจริงๆ ทุกคนไม่มีใครอยากติด ตอนนั้นเนื่องจากว่ามันเป็นโรคอุบัติใหม่ แล้วผู้ติดเชื้อมันสูงมากจนกระทั่งระบบสาธารณสุขของอังกฤษไม่สามารถจะรับไหว ซึ่งรัฐบาลก็ออกมายอมรับตรงนั้นนะคะ

สิ่งที่เขาให้ทำก็คือเนื่องจากว่าทุกคนไม่สามารถไปออไว้ที่โรงพยาบาลได้ ณ ตอนนั้นก็คือเครื่องมือในการตรวจมันยังไม่เพียงพอ เขาเลยใช้วิธีว่าทุกคนอยู่บ้านดูอาการ ดูอาการเป็นหลักเลย มีอาการเล็กน้อยก็ต้องอยู่บ้าน จะไอแค่ไหนก็ต้องอยู่บ้าน แล้วก็ไม่ได้ตรวจด้วย ตอนนั้นคือต้องเข้าใจว่ามันรับมือไม่ไหวจริงๆ ก็จะเห็นว่าผู้เสียชีวิตช่วงนั้นที่พีคมันคือพีคจริงๆ ผู้เสียชีวิตเป็นหลักพัน มันทำให้ทุกคนต้องดูแลตัวเองเป็นหลัก แต่ว่าระบบที่เขาวางไว้ก็คือถ้าอาการมันหนักจนถึงชีวิตแล้วอ่ะ คือสามารถโทรไปที่ NHS หรือว่า National Health Service ของอังกฤษได้นะคะ” 

อย่างไรก็ตาม ศิรดาบอกว่าน่าสิ่งที่น่าจะเป็นตัวอย่างให้ศึกษาได้คือการสื่อสารของภาครัฐที่ค่อนข้างชัดเจน เป็นขั้นตอน ตรงไปตรงมา พยายามเข้าถึงคนทุกกลุ่มเพื่อให้รู้ว่าในภาวะนี้อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งช่วยลดความตื่นตระหนกของผู้คนได้พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนั่นคือช่วงที่ทั้งโลกเพิ่งจะรู้จักกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์นี้ 

เขาเลยใช้วิธีส่งใบ ส่งแผ่นพับไปทุกบ้าน ไปทุกบ้านนะคะ อธิบายว่าคุณต้องทำอย่างไร 1,2,3,4 มีแนวทางให้ชัดๆ เลย คนนี้เป็นต้องกักตัวกี่วัน แล้วคนในบ้าน คนอื่นต้องกักตัวต่อกี่วัน ถ้าเกิดมีคนในบ้านคนอื่นเป็น เขาจะมีแนวปฏิบัติมาให้เลยนะคะในช่วงที่พีค

ถ้าเกิดเขามีการเปลี่ยน จะเปลี่ยนกฎอย่างนี้เขาก็จะออกมาพูดว่าคุณออกไปทำอะไรได้บ้าง กี่ชั่วโมง คือแนวปฏิบัติมันชัดมากอ่ะ คุณออกไปบ้านได้รัศมีเท่าไหร่ เวลาระยะเวลาเท่าไหร่ คุณทำกิจกรรมอะไรได้บ้างนอกบ้าน ถ้าเราทำตามกฎเราก็ถือว่าเราได้ป้องกันตัวเองด้วย ป้องกันคนอื่นด้วย”  

แผ่นพับแนวปฏิบัติที่รัฐบาลอังกฤษแจกในประชาชนช่วงโควิด-19

  • แผ่นพับอธิบายแนวปฏิบัติที่รัฐบาลอังกฤษแจกให้ประชาชนช่วงการระบาดรอบแรก 

ศิรดายังบอกว่ารัฐบาลอังกฤษจะอธิบายเหตุผลของการล็อกดาวน์ตลอดว่าเพื่อรักษาระบบสาธารณสุข และจะคลายได้ต่อเมื่อสถานการณ์เป็นอย่างไร โดยที่ไม่เคยบอกว่าจะต้องให้เหลือตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่จะช่วยจนถึงจุดที่ระบบสาธารณสุขรับได้ ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นการสื่อสารที่ทำให้คนในสังคมเห็นภาพชัดเจนตามความเป็นจริงของการอยู่กับโรคระบาด และการที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกัน เท่าๆ กัน เป็นภาวะที่ต่างจากที่เกิดในสังคมไทยตอนนี้ แม้ไทยจะอยู่กับโรคนี้มานานกว่า 1 ปีแล้วก็ตาม 
 
“คือตอนนั้นที่อยู่อังกฤษรู้ว่าทุกคนจะได้รับข้อมูลพอๆ กัน เข้าถึงข้อมูลพอๆ กัน รู้ว่าต้องทำอะไรชัดเจนเหมือนๆ กัน ไม่ว่าคุณจะรวย จน หรือเป็นชนชั้นกลาง ณ ตอนนั้นนะคะ แต่ว่าจะเข้าถึงไม่เข้าถึงสาธารณสุขอันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่งเนอะ เพราะว่าตอนนั้นศักยภาพมันรับได้แค่นั้นจริงๆ แต่ว่าพื้นฐานที่สุดก็คือข้อมูลทุกคนได้เหมือนกัน รู้ว่าต้องทำอะไร ขั้นตอนคืออะไร

แต่ ณ ปัจจุบันนี้เรารู้สึกว่าเราแอบมีสิทธิพิเศษบางอย่างที่มากกว่าคนที่อาจจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือชนชั้นแรงงาน หรือว่าคนที่อาจจะเข้าไม่ถึงข้อมูล แล้วเรารู้สึกว่าเรามีข้อมูลที่มากกว่าพวกเขาด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่าทุกคนไม่ได้เข้าใจขั้นตอนหรือว่าระบบเหมือนๆ กัน อาจจะเป็นเพราะการบูรณาการของระบบราชการไทยที่มันยังไม่ชัดเจนมากพอ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มันทำให้แต่ละหน่วยงานเหมือนทำงานไม่เชื่อมต่อกันในเชิงข้อมูลด้วย มันทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่มันชัดเจนมากพอว่าต้องทำอะไร หรือว่าได้รับข้อมูลแล้ว ทำตามข้อมูลที่รัฐบาลไทยบอกแล้วก็ยังประสบปัญหาที่เข้าไม่ถึงบริการหรือว่าอะไรก็ตาม” 

เราแค่รู้สึกว่ามันมีความแตกต่างกันในคนแต่ละกลุ่มในไทยว่าเขาจะเข้าถึงข้อมูลยังไง แล้วก็เราคิดว่าการเข้าไม่ถึงข้อมูลที่มันไม่เท่ากัน เราคิดว่าทำให้คนตื่นตระหนกแล้วก็พยายามดิ้นเอาตัวรอด เอาตัวรอดปุ๊บก็อาจจะมีว่าใช้เส้นสายบ้าง ถามคนนู้นคนนี้บ้าง แม้แต่ส่วนตัวเราเองยังต้องคอยถามเพื่อนที่อาจจะพอช่วยได้ หรือว่าแม้แต่หาเตียงให้น้องเราก็ต้องถามคนที่พอจะรู้จักคนในโรงพยาบาล คือเราต้องมาใช้สิ่งที่ไม่ควรจำเป็นต้องใช้ นั่นคือข้อมูลหรือว่าเส้นสาย หรือว่าความสัมพันธ์ส่วนตัว เราคิดว่าบริการทางสาธารณสุขหรือการจัดการในช่วงโรคระบาด มันควรทำให้ทุกๆ คนได้สามารถมีทรัพยากรข้อมูลพอๆ กัน

ทั้งนี้ ศิรดาบอกว่าเธอเดินทางกลับไทยช่วงปลายเดือน ก.ย. 2563 เป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดรอบ 2 ซึ่งจากการพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่ยังอยู่ในอังกฤษตอนนี้ต่างบอกเหมือนกันว่าเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับเว็บไซต์ของรัฐบาลอังกฤษที่สนับสนุนให้ผู้ไม่มีอาการตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอด้วยการตรวจโรคแบบ Lateral Flow  หรืออุปกรณ์ทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็วที่สามารถตรวจหาแอนติเจนของเชื้อไวรัส  ตรวจได้ที่บ้านหรือจุดตรวจหาเชื้อ โดยสามารถรับอุปกรณ์ตรวจได้ฟรีผ่านการสั่งทางออนไลน์กับ NHS หรือแม้แต่รับที่ร้านขายยาใกล้บ้าน แล้วก็รายงานผลตรวจผ่านระบบออนไลน์หรือโทรศัพท์ หากตรวจพบเชื้อก็กักตัว ส่วนคนที่มีอาการหรือมีประวัติเสี่ยงตามที่ NHS ระบุก็สามารถสั่งชุดตรวจแบบ PCR ไปตรวจที่บ้านได้ฟรี หรือจะไปตรวจตามจุดตรวจก็ได้เช่นกัน 

กว่า 1 ปีที่ผ่านมา คือต้นทุนเสียเปล่า?

วิกฤตระบาดรอบเดือน เม.ย. ในไทยถูกมองว่าส่งผลกระทบรุนแรงกว่ารอบก่อนๆ ทั้งในแง่วิกฤตสุขภาพจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงโดยที่การเข้าถึงการรักษาไม่ง่ายจนทำให้หลายกรณีอาการหนักหรือเสียชีวิตแล้วก่อนจะถึงมือหมอ และผลกระทบในแง่เศรษฐกิจ ซึ่งคงจะทำให้คนไม่น้อยตั้งคำถามว่าแล้วที่คนไทยต้องเสียสละทั้งยอมถูกล็อกดาวน์ หยุดหรือชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจเมื่อปีที่ผ่านมาเพื่อพยายามควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ จนทำให้มีคนต้องตกงานหลายล้านคนถือเป็นต้นทุนที่ถูกใช้ไปอย่างเสียเปล่าหรือไม่ ในเมื่อเรายังต้องมาเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ซ้ำๆ โดยที่ศักยภาพในการจัดการป้องกันหรือรับมือโรคระบาดของรัฐดูจะยังไม่เพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องการจัดเตรียมเตียง การรักษา ไปจนถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยจนถึงวันที่ 5 พ.ค. มีผู้ได้รับวัคซีนสะสมประมาณกว่า 1.5 ล้านคนเท่านั้น ในขณะที่ประชากรไทยมีกว่า 66 ล้านคน และรัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 

ศิรดามองว่าท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดทั้ง 3 รอบ เธอไม่สงสัยเลยในศักยภาพของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขของไทยที่เก่งและทำงานอย่างหนักมาตลอดทุกครั้ง แต่ใจกลางของวิกฤตนี้คือ 'วิธีมองการรับมือโรคระบาดของรัฐ' 

“เราว่าที่มีปัญหามากๆ คือโครงสร้างระบบ การวางระบบนโยบายเชิงสาธารณสุขที่อาจจะไม่ได้บูรณาการ หรือไม่ได้ใช้หลักของระบาดวิทยามาดูแลอย่างเต็มที่ตั้งแต่ตอนแรก คือมันจะค่อนข้างแตกต่างจากอังกฤษ คืออังกฤษเนี่ยระดับหมออาจจะไม่กล้าใช้ยา ไม่กล้าใช้นู่นนี่นั่นในช่วงระบาดรอบแรกเนอะเป็นช่วงที่พีคที่สุดของอังกฤษ แต่ว่าตอนนั้นเขาจะใช้วิธีดูระบาดวิทยาแล้วก็คาดการณ์ดูว่าจะใช้นโยบายอะไรเพื่อจะทำให้สถานการณ์มันดีขึ้นอะไรอย่างนี้  แต่ของไทยเรา ณ ตอนนั้น ในระยะเวลาเดียวกันช่วงปี 2563  ไทยเราจะเน้นให้ตัวเลขมันเหลือกดศูนย์ กดศูนย์เอาไว้ แล้วมันทำให้ระหว่างนั้นก็ไม่ได้เตรียมอะไร เหมือนกับเราเชื่อว่าถ้าเราทำให้เหลือกดศูนย์ปุ๊บ เดี๋ยวประเทศเราก็เปิดได้ หมายถึงเปิดภายในประเทศได้ เรามีชีวิตประจำวันเหมือนปกติได้ เราก็จบ คือมันไม่ใช่ เพราะถ้าเรามองในเชิงธรรมชาติของโรคระบาด เราคิดว่าผู้บริหารนโยบายสาธารณสุขน่าจะให้ความสำคัญในการเข้าใจโรคระบาดมากกว่าแค่มองว่าทรีทเป็นโรคทั่วไปที่แค่ให้หมอรักษาไปแล้วก็จบ ให้หมอพยาบาลทำงานหนักแล้วก็รักษาโรคไปได้ก็จบ ให้มองมันเป็นสิ่งที่ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้อีกแล้วก็เตรียมการอย่างนี้ค่ะ”

ประยุทธ์-อนุทิน ตรวจโรงพยาบาลสนาม (เครดิต : เว็บไซต์ thaigov)

ทั้งนี้ เธอยังมอว่าสิ่งที่คนไทยยังไม่เคยเห็นก็คือ 'การแสดงความรับผิดชอบโดยตรง' ของผู้มีอำนาจบริหารนโยบาย ซึ่งการจะก้าวผ่านวิกฤตไปได้จำเป็นที่รัฐบาล จะต้องยอมรับปัญหา แก้ปัญหาให้ตรงจุด และเห็นอกเห็นใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น 

“คือตอนนี้ที่หลายๆ คนออกมาวิจารณ์ก็อยากให้ทางรัฐเข้าใจด้วยว่าประชาชนที่ออกมาพูดหรือว่าร้องเรียน มันคือเขาเดือดร้อนอยู่จริงๆ ก็อยากจะให้เขาฟังแล้วก็เก็บเอาไป อาจจะไปทบทวนตัวนโยบายอะไรอย่างนี้ค่ะ อยากจะให้เขามีความเห็นอกเห็นใจประชาชนในเชิงที่ว่าในชีวิตจริงเขาต้องเจออะไรบ้างในระดับประชาชน"

"ไม่รู้จะเป็นบทเรียนสำหรับเขาได้ไหม เพราะว่าเราก็ยังไม่เห็นสิ่งที่เราเรียกว่าความรับผิดชอบ การแสดงความรับผิดชอบโดยตรงจากตัวผู้บริหารเลย  เราไม่เห็นการแสดงความรับผิดชอบที่ออกมาชัดเจนหรือการยอมรับความผิดพลาดอย่างชัดเจน นอกเหนือไปจากที่พยายามแสดงเหตุผลนู่นนี่นั่นอะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็บั่นทอนกำลังใจประชาชนเนอะ  เพราะว่าทุกคนก็คืออย่างที่รู้ว่าเมื่อปีที่แล้ว ทางรัฐก็พยายาม เอ้า การ์ดอย่าตกนู่นนี่นั่น ประชาชนต้องร่วมมือกัน เราคิดว่าประชาชนคนไทยทุกคนน่ะร่วมมือกันดีมากๆ แล้วก็เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับปฏิบัติการทุกคนทำงานเต็มที่มาก จนถึงทุกวันนี้เขาก็ทำงานอย่างเต็มที่”

แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของการที่พยายามเล่นคำ พยายามบิดคำ หรือว่าการไม่พูดตรงๆ อะไรอย่างนี้ มันไม่ได้ทำให้ปัญหามันหายไปอ่ะ” ศิรดา กล่าว