Skip to main content

Libertus Machinus

อเมริกาเป็นประเทศที่ไม่ได้มีชื่อเสียงดีด้าน ‘รัฐสวัสดิการ’ แต่อีกด้าน สิ่งที่หลายคนอาจหลงลืมไปก็คือ สังคมอเมริกันเคยเก็บภาษีในอัตราที่สูงมาก และมีสวัสดิการของรัฐเยอะกว่าปัจจุบันมากๆ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20

แล้วสิ่งเหล่านั้นหายไปอย่างไร?

หลายๆ คนอาจจะบอกว่า เพราะ ‘ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน’ และ ‘ลัทธิเสรีนิยมใหม่’ ที่เข้ายึดกุมอุดมการณ์ทางการคลังของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980

จะอธิบายแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่ประเด็นคือ จริงๆ แล้วมันมีเหตุผลที่สังคมสหรัฐฯ ‘พลิก’ ไปมองว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ หรือการที่รัฐมีโครงการให้เงินกับประชาชนกลุ่มเปราะบางเป็นสิ่งชั่วร้าย และนี่ก็น่าจะเป็นบทเรียนให้กับทุกรัฐในโลก

สหรัฐฯ เคยมีรัฐสวัสดิการช่วงยุค 1920

เราก็อยากจะเล่าถึงนโยบาย ‘รัฐสวัสดิการ’ ของอเมริกาที่เคยมีแล้วหายไป หรืออย่างน้อยก็คือ ไม่เหลือสภาพเดิม ซึ่งนั่นคือ ‘สวัสดิการคนจน’

ในตอนต้นศตวรรษที่ 20 ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่เรียกว่า ‘The Great Depression’ ในช่วงทศวรรษ 1920 ทำให้ทศวรรษต่อมา ประเทศที่เคยแทบไม่มีระบบสวัสดิการจริงจังอะไรเลยอย่างสหรัฐอเมริกาได้เริ่มมี ’รัฐสวัสดิการ’ เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ตามประสาประเทศที่เริ่มมี ’รัฐสวัสดิการ’ รัฐก็มองว่า กลุ่มแรกๆ ที่ต้องการสวัสดิการ คือ กลุ่มเปราะบาง ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ ‘คนจน’

The Great Depression

ไอเดียของรัฐสวัสดิการคือ การทำให้คนจนเลิกจน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแพตเทิร์นก็คือ คนจนจะส่งทอดความจนสู่คนรุ่นต่อมา และสำหรับผู้วางนโยบาย สิ่งสำคัญก็คือ จะตัดวงจรความจนนี้อย่างไรดี

รัฐที่มีเงินเยอะๆ อาจใช้นโยบาย ‘ภาษีติดลบ’ หรือให้คนที่จ่ายภาษีไม่ถึงเป้าได้เงินอุดหนุนจากรัฐไป แต่นโยบายแบบนี้คือใช้เงินเยอะมาก ประเทศที่ไม่คุ้นเคยกับรัฐสวัสดิการอย่างสหรัฐอเมริกาไม่ใช้หรอก

สิ่งที่รัฐที่มีงบจำกัดใช้คือ เน้นสวัสดิการไปที่คนบางกลุ่ม ซึ่งว่ากันตรงๆ ก็คือกลุ่มคนที่จน และมีแนวโน้มจะสร้างปัญหาสังคม ถ้าไม่ช่วยเหลือ

ในทางสถิติ อาชญากรส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเกิดจาก ‘ครอบครัวที่แตกแยก’ มาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งครอบครัวพวกนี้ก็มักจะจนด้วย ดังนั้น ในมุมของรัฐ การช่วยเหลือเด็กในครอบครัวหย่าร้างและยากจนให้หลุดพ้นจากความจน ก็คือการแก้ปัญหาอาชญากรรมในอนาคตไปในตัวด้วย

นี่เลยทำให้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เงินสวัสดิการที่หนักที่สุดของสหรัฐอเมริกา คืออัดไปที่พวก ‘ซิงเกิ้ลมัมยากจน’ เพราะคนกลุ่มนี้คือ คนที่มีแนวโน้มจะยากจนที่สุด หรือพูดง่ายๆ รัฐคิดว่าถ้าไม่ช่วยกลุ่มคนพวกนี้ ครอบครัวแบบนี้จะเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากรต่อไปในภายภาคหน้า

แน่นอน โครงการพวกนี้ดำเนินไปได้เป็นอย่างดี ในช่วงหลังสงครามโลก สหรัฐอเมริการ่ำรวยสุดๆ เรียกได้ว่าทศวรรษ 1950 และ 1960 คือ ยุคทองแห่งรัฐสวัสดิการอเมริกาเลย และเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ไม่มีใครตั้งคำถามกับรัฐสวัสดิการ

แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 1970 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง และเมื่อเศรษฐกิจไม่โต  รายได้ในสังคมก็ไม่เพิ่มขึ้น แต่ข้าวของกลับแพงขึ้น ทำให้คนรู้สึกจนขึ้นไปเรื่อยๆ  ส่วนอีกด้านทางรัฐก็เกิดเรื่องอื้อฉาวอย่างคดี Watergate ระดับทำให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออก

พอคนเริ่ม ‘จน’ และรัฐเต็มไปด้วยการ ‘คอรัปชั่น’ คนก็เริ่มตั้งคำถามกับ ‘รัฐสวัสดิการ’ คำถามที่เป็นไปไม่ได้เมื่อทศวรรษก่อนก็เกิดขึ้น และก็เกิดคนอย่าง ‘โรนัลด์ เรแกน’ ที่หาเสียงด้วยการ ‘ตัดสวัสดิการ’ พร้อมกับลดภาษีมาตั้งแต่ปี 1976 แต่แพ้ ‘เจอรัลด์ ฟอร์ด’ ในช่วงการหยั่งเสียงเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ก่อนที่เรแกนจะชนะเลือกตั้งแบบ ‘แลนด์สไลด์’ สุดๆ ในปี 1980

สิ่งหนึ่งที่เรแกนใช้หาเสียงทั้ง 2 รอบก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ‘ราชินีสวัสดิการ’ หรือ ‘Welfare Queen’ ซึ่งเรแกนบอกว่า คนพวกนี้นี้เป็นตัวสูบภาษีคนอเมริกัน และถ้าทำลายระบบสวัสดิการที่ล้นเกินไป คนพวกนี้ก็จะไม่สามารถดูดภาษีคนอเมริกันได้อีก โดยเรแกนพูดถึงสิ่งนี้ตั้งแต่ตอนหาเสียงในปี 1976 และก็พูดซ้ำอีกเรื่อยๆ ตอนหาเสียงอีกรอบ จนได้เป็นประธานาธิบดีก็พูดอีก

วาทะการเมือง ‘Welfare Queen’ ต่อคนผิวดำ

อะไรคือ ‘Welfare Queen’ หลักๆ ก็คือคนที่ ‘โกงสวัสดิการ’ แบบใช้ช่องโหว่ของระบบ เคลมสวัสดิการจนร่ำรวยแบบไม่ต้องทำมาหากิน ซึ่งในการปราศรัยคลาสสิคของเรแกน เขาบรรยาย ‘Welfare Queen’ ไว้ว่า

"เธอมีชื่อ 80 ชื่อ เธอมีที่อยู่ 30 ที่อยู่  เธอมีบัตรประกันสังคม 12 ใบในมือ เธอคอยรับเงินทหารผ่านศึกของอดีตสามีของเธอที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ไปพร้อมๆ กับคอยเก็บเงินประกันสังคมจากบัตรทุกใบที่เธอมี เธอมีประกันสุขภาพ และเธอก็มีแสตมป์อาหารฟรี โดยเธอก็ใช้สิทธิ์มันภายใต้ชื่อทุกชื่อที่เธอมี นี่ทำให้เธอมีรายได้เป็นเงินสดถึงปีละกว่า 150,000 เหรียญ และเธอไม่ต้องเสียภาษี"

แน่นอน แม้แต่คนที่จะคล้อยตามเรแกน ฟังก็คงจะรู้สึกว่าที่พูดมานี่มัน ‘เกินจริง’ มาก แต่สำหรับคนอเมริกันสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ‘ไม่มีมูลความจริง’ เลย คนไม่ตั้งคำถามแม้แต่ว่าทำไมคนที่โกงสวัสดิการต้องเป็นผู้หญิงแทนที่จะเป็นผู้ชาย เพราะเค้าโครงของ ‘Welfare Queen’ นั้นมาจากหญิงคนดำซิงเกิลมัมที่มีตัวตนจริงจากชิคาโกที่ชื่อว่า ‘ลินดา เทเลอร์’ โดยคนที่ใช้คำว่า ‘Welfare Queen’ คนแรกคือ ‘จอร์จ บลิสส์’ ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune โดยเค้าก็เล่าเรื่องของ ลินดา เทเลอร์ ในปี 1974 และกลายมาเป็นข่าวดังระดับประเทศ

Welfare Queen News

แน่นอนเรื่องจริงไม่ได้เวอร์แบบที่เรแกนเล่า เพราะลินดา เทเลอร์ ในตอนนั้นใช้ชื่อปลอมเพียง 2 ชื่อ และโกงเช็คสวัสดิการเพียง 23 ใบเท่านั้น อย่างไรก็ดี ตัวของลินดานั้น นักข่าวยิ่งไปขุดก็ยิ่งพบว่าเธอเป็น ‘คนไม่ดี’ เพราะตลอดชีวิตมีคดีเป็นหางว่าว

ดังนั้น นี่ไม่ใช่ ‘ซิงเกิลมัมผู้น่าสงสาร’ ที่ต้องการเงินสวัสดิการเพื่อให้เลี้ยงลูกขึ้นมาเป็นคนดีตามที่นโยบายต้องการจะพุ่งเป้าไป แต่นี่คืออาชญากรที่คร่ำหวอดในการฉ้อโกงที่จงใจจะหากินกับระบบสวัสดิการที่สร้างมาด้วยภาษีประชาชนอเมริกัน

แน่นอน กรณีของ ‘ลินดา เทเลอร์’ เป็นกรณีที่เฉพาะมาก และจริงๆ ชีวิตของเธอก็มันส์มาก ระดับควรจะเอามาทำเป็นหนัง (เพราะหลังออกจากคุกแล้ว เธอก็ได้เงินประกันชีวิตของคนอีกหลายคนที่เป็นคนใกล้ตัวเธอที่ ‘ตายอย่างลึกลับ’ แต่เธอก็ไม่ได้ถูกตัดสินว่าเธอฆ่าใครจนเธอตายในปี 2002) แต่เรื่องราวของเธอมันก็ตราตรึงสังคมอเมริกันมาก เพราะมันไปเข้ากับภาพเหมารวมของผู้หญิงคนดำซิงเกิลมัมมากๆ

อคติต่อแม่เลี้ยงเดี่ยวผิวดำ

สังคมอเมริกันมีอคติกับ ‘ผู้หญิงคนดำซิงเกิลมัม’ อยู่แล้ว ยิ่งกับสวัสดิการนี่ยิ่งพิเศษ เพราะคนดำในอเมริกาเป็นกลุ่มคนที่มี ‘ซิงเกิลมัม’ เป็นสัดส่วนเยอะสุดของประชากรมาโดยตลอด หรือพูดง่ายๆ มีเพียงคนดำเท่านั้นที่ครอบครัวราวครึ่งเป็นซิงเกิลมัม และก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 จนถึงปัจจุบัน นี่เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป มีการเล่นมีมจำนวนมากมายถึงเรื่อง ‘คนดำไม่มีพ่อ’ แต่นี่ก็เป็นเรื่องจริงที่มีสถิติจากรัฐมากมายยืนยัน

อย่างไรก็ดี ตอนที่สังคมอเมริกันออกมาตรการเงินสวัสดิการซิงเกิลมัมยากจนมาตอนกลางศตวรรษที่ 20 สังคมอเมริกันไม่ได้ตระหนักว่าเงินพวกนี้จะไปเข้ากระเป๋าเหล่า ‘ซิงเกิลมัมคนดำ’ ซะเยอะ ซึ่งในสังคมอเมริกัน มันก็จะมีภาพว่าผู้หญิงคนดำเป็นพวกขี้เกียจไม่ทำมาหากินอยู่แล้ว และภาพของคนพวกนี้วันๆ เอาแต่ได้เงินสวัสดิการรัฐมันก็มีในใจคนอเมริกันอยู่แล้ว

เคสของ ‘ลินดา เทเลอร์’ เป็นเคสที่จุดประกายให้คนอเมริกัน ‘สงสัย’ ว่าผู้หญิงคนดำซิงเกิลมัมอาจมีการ ‘โกง’ สวัสดิการในแบบใดแบบหนึ่งจริงจัง ซึ่งคนพวกนี้อาจไม่ได้ ‘จน’ จริงๆ ตามเจตนารมย์ของสวัสดิการ และก็อย่างที่บอก คนที่ ’ขยี้’ ประเด็นนี้คือ ‘โรนัลด์ เรแกน’ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีแล้วก็ขยี้เรื่องนี้ต่อเรื่อยๆ

แม้ว่าเรแกนจะเป็นประธานาธิบดีสองสมัยและยังไม่สามารถ ‘ล้ม’ เงินสวัสดิการซิงเกิลมัมยากจนได้ แต่ถ้าทำให้ภาพของ ‘Welfare Queen’ ฝังในใจคนอเมริกัน ทำให้คนอเมริกันคิดว่า มีคนพวกนี้อยู่จริงๆ ที่คอยสูบเลือดรัฐสวัสดิการ และทางแก้ ก็คือ ตัดสวัสดิการทิ้ง

‘บิล คลินตัน’ ผู้ล้มสวัสดิการแม่เลี้ยงเดี่ยว

จะบอกว่า ‘ตลกร้าย’ ก็ได้ เพราะคนที่ล้มสวัสดิการนี้คือ ‘บิล คลินตัน’ โดยในปี 1996 เป็นคนยกเลิกระบบสวัสดิการซิงเกิลมัมยากจนแบบเดิม ซึ่งระบบเดิมอธิบายง่ายๆ  ถ้ายากจนก็จะได้เงินต่อไปเรื่อยๆ แต่ระบบใหม่ที่ตั้งมาสมัยของคลินตัน คือจะมีโควตาว่า คนๆ หนึ่งทั้งชีวิตจะได้เงินแค่ 5 ปี และถ้าไม่พยายามหางานทำขณะรับเงิน ก็จะโดนตัดเงิน (ถ้าสนใจลองค้นโครงการ TANF เพิ่ม)

ประเด็นคือ มันใช้เวลาถึง 20 ปีหลังจากที่เรแกน ใช้คำว่า ‘Welfare Queen’ หาเสียง กว่าที่คอนเซ็ปต์นี้จะฝังรากในสังคมอเมริกันและเปลี่ยนแปลงนโยบายสวัสดิการบนฐานของการมีอยู่ของ ‘Welfare Queen’

ถามว่าผลของมันคืออะไร แน่นอนหลังจากยุบสวัสดิการซิงเกิลมัมคนจนที่ว่านี้ ในทางสถิติเราก็จะยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกันขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่แค่คนจนเท่านั้นจงลงเรื่อยๆ แต่ ‘คนดำ’ นี่แหละที่จนลงไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายความเหลื่อมล้ำก็อัดแน่นจนเกิดการประท้วงอย่าง #BlackLivesMatter อะไรพวกนี้

แน่นอน ผมไม่ได้จะบอกว่า แค่การเกิดขึ้นของคอนเซ็ปต์ ‘Welfare Queen’ จะเป็น ‘สาเหตุ’ ของความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกา แต่ประเด็นคือ นี่เป็น ‘คอนเซ็ปต์’ ที่ปลดล็อคความ ‘ขวาจัด’ ของสังคมอเมริกันสุดๆ มันสร้างภาพไม่จริงให้กับกลุ่มคนหนึ่ง และใช้เวลาแพร่กระจายอยู่เป็นทศวรรษ ก่อนที่สุดท้าย มันจะกลายมาเป็นนโยบายสาธารณะที่วางอยู่บนฐานของภาพที่ไม่จริงดังกล่าว

แน่นอน ทุกวันนี้ ‘Welfare Queen’ ก็ไม่ได้ตายไปไหน คนอเมริกันยังมีความระแวงคนที่พยายามจะหาประโยชน์จากระบบสวัสดิการอยู่ตลอด และนี่ก็คงจะเป็นชาติตะวันตกเพียงไม่กี่ชาติที่ยังเถียงกันว่าถ้าสวัสดิการแม่และเด็กแบบฟรีดีเกินไป อาจทำให้คนยากจนจะตั้งใจมีลูกเยอะขึ้น