ว่ากันว่า “ญี่ปุ่น” คือ อนาคตของทุก "สังคมผู้สูงอายุ" ในโลก เพราะชาตินี้มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุด และก็มีระบบสวัสดิการดีพอประมาณ ดังนั้น สิ่งที่ญี่ปุ่นเจอ ยุโรปก็กำลังจะเจอ และในทำนองเดียวกันแนวทางแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ก็เป็นตัวอย่างและแบบเรียนที่ดีให้กับชาวโลก
บทเรียนที่ญี่ปุ่นอาจกำลังจะให้กับโลกก็เรียกว่า “แหวกแนวสุดๆ” ในการแก้ปัญหาทางการคลัง รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ อันเกิดจากสังคมผู้สูงอายุ
วิธีการแก้ปัญหาที่ว่า อธิบายง่ายๆ ดิบๆ ก็คือ ถ้ารัฐต้องให้บริการคนแก่เยอะนักจนทำให้รัฐไม่มีเงิน วิธีการที่รัฐต้องก็ทำ ก็แค่ “เก็บภาษีเงินได้กับคนแก่” แบบเดียวกับที่เก็บคนวัยทำงาน
แต่ตรงนี้เราอาจต้องเริ่มทำความเข้าใจปัญหาตรงนี้จริงๆ ก่อน
ผู้สูงวัยญี่ปุ่น แก่แต่แข็งแรง และยังทำงาน
หลายคนก็น่าจะพอรู้ว่า ญี่ปุ่นมีจำนวนคนสูงวัยมากแค่ไหน และจริงๆ หลายคนก็คงรู้อีกว่า คนสูงวัยญี่ปุ่นแข็งแรงดี สามารถทำงานต่อไปได้สบายๆ แบบที่เลย 70 ปีก็ยังทำงานได้
บางคนอาจเคยได้ยินว่า นี่เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา "การขาดแคลนแรงงาน" ของญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีจำนวนคนเกิดน้อยลง แรงงานก็น้อย ดังนั้น คนสูงวัยเข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานก็ถูกต้องแล้ว
เรื่องพวกนี้ฟังดูราบรื่นไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเราไม่เอาภาษีมาพิจารณาด้วย
คนญี่ปุ่นสามารถเลือกที่จะเริ่มรับเงินบำนาญจากระบบบำนาญแห่งชาติได้ตั้งแต่อายุ 60-65 ปี แต่ทั่วๆ ไปก็มักจะรับกันตอน 65 ปีกันเพื่อให้ได้บำนาญมากสุด
ในทางปฏิบัติ คนญี่ปุ่นวัย 65 ปีก็ยังไม่หยุดทำงาน ยังคงทำงานต่อ หมายความว่า คนญี่ปุ่นในวัยนี้จะได้ทั้งเงินบำนาญผู้สูงอายุและเงินเดือนจากการทำงาน
บางคนอาจมองว่า "แก่แล้วยังต้องทำงาน" เป็นสิ่งที่แย่ แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว "คนแก่" ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบทางภาษีมาก เพราะงานของคนสูงวัยมักจะเป็นงานพาร์ทไทม์ที่ทำเพิ่ม เพื่อให้มีรายได้บวกกับเงินบำนาญเท่าตอนทำงานเต็ม แต่เวลาจ่ายภาษี คนสูงวัยไม่ได้จ่ายภาษีโดยเอาเงินบำนาญมาบวกกับรายได้เป็น "เงินได้บุคคล" เพราะส่วนเงินบำนาญจะถูกแยกออกมาออกจากเงินได้ปกติ และได้รับการลดหย่อนภาษีตลอด
ดังนั้น โดยรวมๆ ก็คือ คนสูงวัยญี่ปุ่นที่มีรายได้นิดหน่อยจากงานพาร์ทไทม์บวกกับเงินบำนาญ ก็จะไม่ต้องเสียภาษีเลย แม้ว่าพวกเค้าจะมีรายได้รวมๆ เท่าคนในวัยทำงานซึ่งต้องเสียภาษี
ในอดีต มาตรการแบบนี้ถูกมองว่าเป็นการช่วยเหลือคนแก่ในวัยเกษียณไม่ให้ต้องรับภาระจ่ายภาษีเงินได้ต่อไป แต่มองอีกมุม ในประเทศที่รัฐเก็บภาษีได้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะคน "วัยทำงาน" ลดลงเรื่อยๆ การ "ลดหย่อน" ให้คนสูงวัยไม่ต้องจ่ายภาษีบำนาญ ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการคลังขึ้นเรื่อยๆ
ผู้สูงวัยที่ยังทำงาน อาจต้องช่วยจ่ายภาษี
รัฐบาลญี่ปุ่นก็เลยกำลังพูดคุยกันว่า จะมีการปรับลดเพดานการลดหย่อนภาษีเงินบำนาญสำหรับคนสูงวัยในญี่ปุ่น โดยเป้ารวมๆ ก็คือจะปรับให้คนสูงวัยที่ยังทำงานอยู่ ต้องรับภาระช่วยจ่ายภาษีด้วย โดยเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุยกันอยู่ในรัฐบาลและแหล่งข่าวภายในก็ได้เผยเรื่องนี้กับสื่ออย่าง The Mainichi ในวันที่ 5 ธันวาคม 2024
ความน่าสนของเรื่องนี้แม้ว่าจะยังไม่เป็นนโยบายชัดๆ คือมันกลับไปประเด็นแรกสุดที่เป็น "ปัญหาโลกแตก" ของยุคนี้ ว่ารัฐสวัสดิการหรือรัฐใดๆ จะไปรอดได้ยังไงในยุคที่โครงสร้างประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่ญี่ปุ่นตอบออกมามันแหวกแนว แต่โดยพื้นฐานมันเป็นไอเดียระดับปฏิบัติ และไอเดียที่ว่าก็คือ ถ้าสังคมมี "คนแก่" มากไปจนเป็นภาระทางการคลัง ทำไมเรายังจะต้องคิดว่ารัฐต้อง "โอ๋" คนแก่ว่าพวกเค้าทำงานมาตลอดชีวิตแล้ว ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มแล้ว? เพราะพวกเค้าก็เป็นพลเมืองที่ใช้บริการรัฐเช่นเดียวกับคน "วัยทำงาน" และทำไมพวกเค้าจะไม่ต้องมาช่วยแบ่งเบาภาระภาษีคนวัยทำงานล่ะ?
แน่นอน ในกรณีญี่ปุ่น ทุกอย่างเป็นไปอย่างประนีประนอม ไอเดียคือ จะเก็บเฉพาะภาษีคนสูงวัยที่ "ทำงาน" และ "มีรายได้รวมเยอะ" แต่เมื่อแกนหลักไอเดียมันผ่านแล้ว ที่เหลือเป็นแค่เรื่องการปรับตัวเลข และถ้ากฎหมายแบบนี้ผ่าน ในระยะยาวเพดานการลดหย่อนภาษีของคนสูงวัยก็อาจลดต่ำเป็น 0 หรือพูดง่ายๆ ก็คือจะไม่มีการลดหย่อนภาษีให้คนสูงวัยเป็นพิเศษอีกต่อไป เพราะถ้ารัฐต้องมีภาระทางการคลังสูงขึ้นเพราะคนสูงวัย มันก็แฟร์พอที่รัฐจะเก็บภาษีกับคนสูงวัยเพิ่ม ไม่ว่าจะเก็บในรูปแบบใด
ความน่าสนใจในเชิงนโยบายก็คือ แนวทางแบบนี้มันเปิดช่องทางทางการคลังในสังคมสูงวัยเยอะมาก เพราะก่อนหน้านี้ทุกชาติมองว่า วัยเกษียณ ก็คือ วัยเกษียณ ภาระภาษีต้องลดลงจนถึงไม่มี แต่ผลของการคิดแบบนี้ในยุคที่คนแก่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ รัฐก็เลื่อนวัยเกษียณไปเรื่อยๆ ทำให้คนวัยทำงานตอนปลายเซ็งกันไปตามๆ กันเพราะ "อายุเกษียณ" วิ่งหนีตัวเองไปเรื่อยๆ
นี่เลยทำให้แนวทางที่ญี่ปุ่นเสนอ คือ คุณเกษียณได้ตามปกติเลยจะ 60 หรือ 65 ก็ได้ แต่คุณก็ต้องจ่ายภาษีไม่ได้ต่างจากคนวัยทำงาน บำนาญคนแก่ที่คุณได้ก็ต้องเอามาคิดเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามปกติ ถ้าคุณมีรายได้เกินเกณฑ์ที่จะไม่ต้องเสีย และนั่นคือสิ่งที่แฟร์แล้ว เพราะรัฐต้องใช้เงินภาษีมหาศาลในการดูแลพวกคุณนี่แหละ
อ้างอิง
Japan eyes higher taxes on well-paid pensioners to address disparity
National Pension System
National Burden: Taxes and Social Security Contributions in Japan Exceed 40% of Income for Ninth Consecutive Year