ในโลกนี้ เวลาเค้าวัดกันว่าคนแต่ละประเทศเป็นหนี้กันแค่ไหนในระดับครัวเรือน ทั่วๆ ไปจะวัดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ซึ่งสัดส่วนนี้ ประเทศอย่างไทยก็เพิ่มขึ้นๆ ทุกปีจนเข้ามาใน 10 อันดับสูงสุดของโลกแล้ว
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วไทยจะพอลุ้นที่ 1 ได้หรือไม่? คำถามนี้ อาจต้องกลับมาถามว่า แล้วประเทศที่เป็น "อันดับ 1 ตลอดกาล" ของหนี้ครัวเรือนอย่างสวิตเซอร์แลนด์ คนเค้าเป็นหนี้อะไรกัน?
ถ้าให้เดา หลายคนก็น่าจะเดาไม่ออกว่า คนประเทศที่ "รวยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง" อย่าง สวิตเซอร์แลนด์ คนติดหนี้อะไร หลายคนอาจเดาว่าเป็นหนี้บ้าน ไม่ก็พวกหนี้การบริโภค ซึ่งที่ตลกคือ หนี้พวกนี้มีอยู่ก็จริง แต่นั่นไม่ใช่มูลเหตุหลักของหนี้ในประเทศนี้
“หนี้หลัก” ของที่คนประเทศนี้ติดมากที่สุด คือ “หนี้ภาษี” และ “หนี้ประกันสุขภาพ” และแกนหลักก็คือ หนี้ประกันสุขภาพนี่แหละ
หนี้หลักของคนสวิส
ต้องเข้าใจก่อนว่า สวิตเซอร์แลนด์ เป็นชาติในยุโรปเพียงไม่กี่ประเทศที่ ไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่กลับกัน รัฐก็บังคับให้ประชาชนต้องซื้อประกันสุขภาพเอกชน ดังนั้น นี่ก็หมายความว่าเบี้ยประกันก็จะถูกปรับขึ้นไปเรื่อยๆ ตามวัย ที่มากกว่านั้น นี่หมายความว่า ครัวเรือนยิ่งมีลูกมาก ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะยิ่งมากไปด้วย
ถามว่า เบี้ยประกันสุขภาพของสวิสประมาณเท่าไร เอาง่ายๆ คือ ปีหน้าค่าเฉลี่ยเค้าประเมินว่ามันจะขึ้นไปอีก 6% ของปีนี้ และมันจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท/เดือน หมายถึง คนสวิสต้องจ่ายเบี้ยประกันหลักแสนบาทต่อปีต่อคน และอัตรานี้ก็ดูจะขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยหรือกระทั่งเงินเดือนของคนสวิสเอง
ดังนั้น จึงไม่แปลกอีกสำหรับคนสวิสที่เค้าพบว่า กลุ่มคนอพยพที่มีลูกมากๆ จะเป็นหนี้ตรงนี้เยอะมาก และคนตกงานก็เช่นกัน เพราะไม่ว่าคนสวิสจะมีงานทำหรือไม่ ก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพอยู่ดี ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนขนาดใหญ่ในสวิสจำนวนไม่น้อย ไม่ยอมจ่ายภาษีให้ตรงเวลาและเป็นหนี้รัฐ เพราะสุดท้าย ถ้าถึงระดับที่เงินไม่พอจะจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้ครบทั้งครอบครัวแล้ว สิ่งที่ดูละเลื่อนไปได้ ก็คือการจ่ายภาษีเงินได้ เพราะสุดท้ายถึงจ่ายภาษีไม่ตรงเวลา ก็ยังได้รับบริการของรัฐเหมือนเดิมอยู่
นี่เองที่ทำให้แม้ว่า สวิตเซอร์แลนด์จะมีหนี้ครัวเรือนระดับท็อปของโลกมาเป็นสิบปี แต่ก็ไม่เคยเป็น "ปัญหา" ถึงระดับที่สวิสประกาศว่า ตัวเองมี "วิกฤติหนี้ครัวเรือน" เพราะสุดท้ายของหนี้ส่วนที่ใหญ่มากๆ หมายถึงการที่ประชาชนเป็นหนี้ภาษีของรัฐ ไม่ใช่เป็นหนี้การบริโภคที่ไปกู้เอกชนมา
เหตุผลที่คนสวิสเป็น "หนี้ประกันสุขภาพ" กันมาก
เหตุผลอย่างหนึ่งที่คนสวิสเป็นหนี้ประกันสุขภาพเยอะ ไม่ใช่แค่ว่าคนที่ตกงานก็ยังต้องจ่ายเบี้ยประกันที่ว่า และก็ไม่ใช่จากเหตุว่าเบี้ยมันขึ้นรัวๆ ทุกปีเท่านั้น แต่เหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือ ในสวิสมีกฎหมายห้ามปฏิเสธการรักษาแบบฉุกเฉิน แม้แต่คนที่ไม่จ่ายเงินประกันสุขภาพ
ภายใต้ระเบียบแบบนี้ ถึงจะมีข่าวถึงคนที่โดนปฏิเสธการรักษาเพราะไม่จ่ายเงินประกันสุขภาพ แต่คนสวิสที่รายได้น้อยก็ยังรู้สึกว่าถึงไม่จ่าย แต่ถ้าฉุกเฉินจะเป็นจะตายจริงๆ ทางโรงพยาบาลก็ต้องรักษาให้ฟรีอยู่ดี และนี่เป็นเหตุผลที่คนรู้สึกว่า หนี้เป็นอย่างหลังๆ ที่ต้องชำระ และกลายเป็นหนี้อันดับต้นๆ ของคนสวิสที่ค้างจ่าย
การไม่จ่ายหนี้ประกันสุขภาพ ก็ไม่ได้ต่างจากหนี้อื่นๆ คือ มีดอกเบี้ยและก็ทบต้น ทำให้คนสวิสจำนวนไม่น้อยมีหนี้ประกันสุขภาพก้อนโต แต่สุดท้ายก็วนมาในประเด็นกฎหมายที่ว่า ถึงไม่จ่ายเงินประกันสุขภาพเลย แต่ถ้าฉุกเฉินจะเป็นจะตายจริงๆ โรงบาลก็ต้องรักษาให้ฟรีอยู่ดี
ทั้งหมดนี้ แน่นอน หากมองจากสายตาของชาวยุโรปก็จะรู้สึกว่าระบบสวิสดูวิปริตมาก เพราะชาติอื่นเค้ามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ แม้แต่คนจนที่สุดก็เข้ารับการรักษาฟรีได้ แต่สวิสที่เป็นชาติที่รวยที่สุดกลับไม่มีสวัสดิการพื้นๆ แบบนี้
ประเด็นคือ ในความเป็นสวิส ซึ่งเป็นชาติที่ทำประชามติสารพัดเรื่องกันในทุกไตรมาส ถ้าประชาชนต้องการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็คงมีไปนานแล้ว ประเด็น คือ คนสวิสส่วนใหญ่มองว่าระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้เป็นปัญหากับคนส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าลองไปดูตัวเลขก็จริง เพราะคนสวิสที่เป็นหนี้ประกันสุขภาพ มีประมาณ 7% เท่านั้น และคนที่เป็นหนี้ภาษีก็มีประมาณ 10%
แต่ประเด็นคือ การมีหนี้สองหมวดหมู่นี้ไม่ใช่เรื่องปกติของคนยุโรปเลย และคนสวิสก็มีหนี้อื่นๆ เช่นเดียวกับคนชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หรือหนี้บัตรเครดิต และพอมีหมวดหมู่หนี้เพิ่มมา เลยส่งผลให้คนสวิสมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ประชาชาติสูงจนเป็นแชมป์ตลอดกาลนั่นเอง
ด้วยเหตุผลแบบนี้ เลยยากมากๆ ที่ประเทศไทยจะมีสัดส่วนหนี้สูงกว่าสวิสได้ อย่างไรก็ดี ถ้าสักวันหนึ่ง เราดันมีหนี้สูงกว่าสวิส มันจะหมายถึงหายนะแน่นอน เพราะหนี้ครัวเรือนไทยน่าจะไม่ใช่หนี้ภาษีหรือหนี้ประกันสุขภาพอย่างสวิสแน่ๆ แต่หนี้ของไทยน่าจะเป็นหนี้เอกชนสารพูดรูปแบบทั้งนอกและในระบบ ซึ่งนั่นย่อม "จัดการ" ยากกว่าหนี้แบบสวิสแน่นอน
อ้างอิง
List of countries by household debt
Swiss are world’s wealthiest – and most indebted
Why do nearly half of Swiss households have debts?
Household debt in Switzerland: Busting myths and checking facts (part 1)
Swiss health insurance premiums to rise 6% in 2025
Can you be denied care if you don’t pay Swiss health insurance premiums on time?