ถ้าคุณเป็นคนอเมริกันวัยไม่เกิน 10 ปีเกษียณ คุณมีเงินเก็บแบบ "ลดหย่อนภาษี" ที่จะเริ่มเอามาใช้ได้ตอนเกษียณเป็นเงินหลายล้านบาท พร้อมมีเงินบำนาญประกันสังคมรอให้ใช้ตอนเกษียณ อยู่เดือนละประมาณ 70,000 บาทบนค่าครองชีพปัจจุบัน หลายคนก็อาจรู้สึกว่าชีวิตกำลังจะแฮปปี้แล้ว จะได้เกษียณแล้ว มีอะไรที่จะทำให้ไม่เป็นไปตามแผนได้
เราอยากจะเล่าชีวิตของ พาเมล่า ชิลส์ (Pamela Shields) ให้ฟัง โดยเธอได้เล่าเรื่องราวนี้เป็นอุทาหรณ์กับ Business Insider ว่า ชีวิตทางการเงินในสังคมอเมริกันมันพลิกผันได้สุดๆ จริงๆ
ย้อนไป 20 ปีก่อนในปี 2004 พาเมล่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 57 ปี เธอทำงานส่งเงินประกันสังคมมาทั้งชีวิต และก็มี "เงินเก็บ" ส่วนตัวเพื่อใช้ในยามเกษียณใน "บัญชีลดหย่อนภาษี" เอาไว้บ้างเป็นหลักล้านบาท เป้าของเธอคือ จะทำงานส่งประกันสังคมไปจนถึงอายุ 67 ปี ซึ่งเป็นอายุสูงสุดที่จะเคลมเงินประกันสังคมได้สูงสุด (ระบบอเมริกัน ยิ่งเคลมเงินประกันสังคมช้า ยิ่งจะได้เงินต่อเดือนเยอะ) และหลังจากนั้น เธอก็จะได้เงินประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคม เดือนละ 70,000 บาท ซึ่งไม่ใช่เงินที่มากมายอะไร แต่ก็พอกินพอใช้ตามชนบทอเมริกาแบบที่อยู่ไม่ลำบากนัก ซึ่งมีปัญหาอะไร เพราะเธอยังมีเงินเก็บอีกหลายล้านอยู่
เธอวางแผนเกษียณไว้แบบนั้น ก่อนจะมี "อุบัติเหตุ" ทางรถยนต์เกิดกับเธอในปี 2006 ในวัย 59 ปี
อุบัติเหตุที่ว่าทำให้เธอต้องเอาเงินเก็บในบัญชีลดหย่อยภาษีมาใช้มหาศาล เป็นค่ารักษาพยาบาลและพักฟื้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เธอกลับไปทำงานแบบเดิมไม่ได้อีก
เธอต้องเอาเงินที่เหลือประทังชีวิตและส่งประกันสังคมก่อนที่เธอจะเริ่มเคลมเงินประกันสังคมได้เร็วที่สุดตอนอายุ 62 ปี ซึ่งอธิบายง่ายๆ ก็คือ กว่าจะเริ่มได้บำนาญประกันสังคม "เงินเก็บ" ตลอดชีวิตการทำงานของเธอที่มูลค่าหลายล้านบาทก็ได้หมดเกลี้ยงไปแล้ว
การเคลมเงินประกันสังคมเร็วขึ้น 5 ปี หรือการเริ่มรับตอนอายุ 62 ปีแทนที่จะเป็น 67 ปี ทำให้ยอดเงินบำนาญรายเดือนได้ลดลงประมาณ 30% ดังนั้น จากที่วางแผนว่าจะได้เดือนละ 70,000 บาท ก็ได้เพียงเดือนละ 50,000 บาท พร้อมกับเงินเก็บที่จากหลายล้านบาทลงลดเป็นศูนย์ จาก "อุบัติเหตุ" ดังที่ว่า
พอได้เงินเดือนละ 50,000 บาท ในวัย 62 ปี ก็พอใช้แบบประหยัดๆ ได้อยู่ในปี 2019 แต่สิ่งที่ตามมาในปี 2020 ก็คือโควิดระบาดตามมาด้วยสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งก็อย่างที่เรารู้กัน สุดท้ายมันทำให้ราคาของทุกสิ่งทุกอย่างเพิ่มขึ้นหมดในภาวะเงินเฟ้อที่หนักแบบที่ไม่ได้เกิดขึ้นมายาวนาน
นี่ทำให้เงินที่พอใช้ได้แบบตึงๆ มือ กลายเป็นไม่พอใช้เลย และสุดท้ายพาเมล่าก็ต้องกลับมาทำงานพาร์ทไทม์เล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นงานในร้ายขายของชำหรือดูแลเด็ก โดยรายได้จากงานเหล่านี้เธอได้รวมๆ ราวเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งบวกกับ 50,000 บาทที่เป็นเงินประกันสังคม ก็เรียกว่าได้ "ตามเป้า" ที่ 70,000 บาท แต่ประเด็นคือ ขนาดได้เงินเดือนละ 70,000 บาท แต่พอเจอค่าครองชีพปัจจุบันที่สูงขึ้นตั้งแต่พวกวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ยันค่าประกันภัยบ้านเข้าไป ก็แทบจะหมดเกลี้ยง
ดังนั้น พาเมล่าก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำงานต่อไป และทรงนี้ก็คือ น่าจะต้องทำงานต่อไปตราบจนทำไม่ไหว
ตรงนี้หลายคนอาจมองว่าเพราะนี่เป็นครอบครัวอเมริกัน ถ้าเป็นครอบครัวไทย ลูกต้องให้เงินช่วยแล้ว ซึ่งตลกร้ายก็คือ นอกจากลูกจะไม่ให้เงินช่วยพาเมล่าแล้ว จริงๆ พาเมล่ายังต้องเจียดเงินบางส่วนไปช่วยค่าเรียนพิเศษของหลานด้วย ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าลูกของของพาเมล่าเป็น Gen Y อันเป็นคนรุ่นที่ระทมทางการเงินอยู่แล้ว เพราะดันเข้าวัยทำงานช่วงเศรษฐกิจไม่ดีพอดี และคนรุ่นนี้ก็มักจะมาขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่รุ่น Baby Boomer ที่ตลอดชีวิตการทำงานเศรษฐกิจโตสุดๆ
จะบอกว่า พาเมล่าไม่ใช่คนที่เป็น Baby Boomer ปกติก็อาจได้ คนอื่นๆ ในรุ่นนี้อาจมีเงินเหลือๆ ช่วยส่งให้หลานได้ แต่ข้อเท็จจริง คือ ในการสำรวจของอเมริกา คนรุ่น Baby Boomer ที่อยู่ในวัยเกษียณแล้ว แต่ยังไม่ได้เกษียณและต้องกลับไปทำงาน มีถึง 13% และตัวเลขนี้ก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าสงสัยว่าทำไมคนรุ่นที่ "ควรจะมั่งคั่ง" ขนาดนี้ยังไม่รอด เกษียณแล้วยังต้องกลับไปทำงาน เรื่องราวของพาเมล่าก็ดูจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีมากๆ เพราะในอเมริกา แค่เกิดอุบัติเหตุระดับทำงานไม่ได้ เงินเก็บเป็นล้านๆ ก็จะหมดอย่างรวดเร็วไปกับค่ารักษาพยาบาลและช่วงพักฟื้นที่ทำงานไม่ได้ และถ้าทำงานไม่ได้เลย แผนการเกษียณช้าๆ เพื่อรับเงินประกันสังคมเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะพังไปด้วย และพอได้เงินประกันสังคมไม่เต็มที่ บวกกับอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจมหภาคที่ทำให้ทุกอย่างราคาแพงขึ้นเข้าไป ผลก็คือเงินไม่พอใช้แน่นอน และต้องกลับมาทำงานในที่สุด
ซึ่งกรณีของพาเมล่า น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของคนจริงๆ ที่ประสบกับภาวะดังกล่าว และทำให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องทางทฤษฎีที่แค่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เป็นปรากฎการณ์จริงๆ ที่เกิดกับคนจริงๆ ไปแล้ว