Skip to main content

เหตุการณ์ที่อดีตรัฐบาลและผู้มีแนวคิดขวาจัดในไทยบางส่วนเรียกว่า 'การปราบปรามคอมมิวนิสต์' ในวันที่ 6 ต.ค.2519 ถูกสื่อต่างประเทศและนักวิชาการจำนวนหนึ่งเรียกว่า 'การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์' (Thammasat Massacre) ก่อนจะถูกเรียกอย่างกลางๆ ภายหลังว่า 'เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519'

แม้จะมีความพยายามบันทึกข้อมูลและชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกบรรจุอย่างเป็นทางการในหลักสูตรการเรียนรู้ภาคบังคับของประเทศไทย ทำให้ความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์นี้ในสังคมไทยมีความแตกต่างและคลาดเคลื่อนกันไป

ส่วนหนึ่งของงานระลึก 44 ปี ของ 6 ตุลา ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ by Chainwit / CC BY-SA 4.0

ชนวนเหตุเริ่มจากการกลับมาของ 'จอมพลถนอม'

หากอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศที่มีการบันทึกวิดีโอและภาพนิ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงนั้น พบว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้น 3 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ซึ่งถูกคนจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของประชาชนที่สามารถขับไล่ 'จอมพลถนอม กิตติขจร' อดีตผู้นำเผด็จการ ซึ่งอยู่ในอำนาจมานานกว่า 16 ปี จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศได้สำเร็จ

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ชาวนา และผู้นำแรงงาน เรียกร้องรัฐบาลชุดหลังจอมพลถนอมให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงต่อต้านการจับกุมและอุ้มหายที่เกิดกับผู้ชุมนุม แต่กลุ่มขวาจัดที่มีแนวคิดพิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ต่อต้านอิทธิพลต่างประเทศ ก็รวมตัวอย่างเข้มข้นในยุคนี้เช่นกัน

ฝ่ายขวาที่รวมตัวกันรวมถึงกลุ่มอาชีวะ นวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน เพื่อต่อต้านนักศึกษาและประชาชนที่มีแนวคิดฝ่ายซ้าย ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นภัยของชาติ เพราะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และการชุมนุมของฝ่ายขวามักไม่ถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวาง โดยวิดีโอของรอยเตอร์สที่ระบุว่าเป็นการชุมนุมของกลุ่มอาชีวะต่อต้านคอมมิวนิสต์เมื่อเดือน ก.ค.2519 มีการปาระเบิดปิงปองต่อหน้าตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน แต่ไม่มีผู้ใดถูกจับกุม

การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ และผู้มีแนวคิดฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเกิดขึ้นประปรายหลังปี 2516 แต่ชนวนที่ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่เริ่มขึ้นเมื่อ 'จอมพลถนอม' เดินทางกลับไทย และได้รับอนุญาตให้บวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคดีใดๆ แม้จะถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจสั่งการปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.2516 จนมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยราย และในวันที่ 20 ก.ย.2519 เขาได้ออกบิณฑบาตโดยมีประชาชนรอต้อนรับจำนวนหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาและประชาชนฝ่ายซ้ายจึงได้ชุมนุมกัน เพื่อขับไล่อดีตจอมพลถนอม และวันที่ 4-5 ต.ค.2519 มีการแสดงละครล้อเลียนการเมืองที่ ม.ธรรมศาสตร์ ทำให้ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม กระบอกเสียงของกลุ่มขวาจัด ลงพร้อมภาพและข้อความว่า "นักศึกษาหมิ่นพระบรมฯ" ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ภาพที่ดาวสยามเผยแพร่เป็นการแสดงละครเสียดสีการเมือง โดยพูดถึงพนักงานการไฟฟ้า 2 ราย ซึ่งถูกแขวนคอเสียชีวิตที่ จ.นครปฐม ขณะกำลังตระเวนติดป้ายคัดค้านการกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม

การรายงานข่าวดังกล่าวของดาวสยาม ทำให้มวลชนฝ่ายขวาประณามฝ่ายซ้ายว่าบ่อนทำลายชาติและจาบจ้วงสถาบัน ทั้งยังเรียกร้องให้มีการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด และเช้าวันที่ 6 ต.ค. 2519 ตำรวจได้ประกาศให้ยุติการชุมนุม ก่อนจะยิงปืนและนำกำลังบุกเข้า ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้ชุมนุมอยู่ข้างในราวพันคน

ภาพจำ 'ความรุนแรงทางการเมืองไทย' ยุคศตวรรษที่ 20

สำนักข่าวรอยเตอร์สได้บันทึกวิดีโอเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้อาวุธจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม รวมถึงบังคับให้ผู้ถูกคุมตัวถอดเสื้อ ทั้งชายและหญิง และมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และศพส่วนหนึ่งถูกนำไปเผากลางแจ้งโดยมีผู้สนับสนุนฝ่ายขวายืนมุงดู และระบุว่ามีประชาชนเสียชีวิตราว 46 ราย บาดเจ็บหลายร้อยคน และถูกจับกุมราว 3,000 ราย

ขณะที่ นีล อูเลวิช ช่างภาพข่าวของเอพี บันทึกภาพมวลชนฝ่ายขวาใช้เก้าอี้ฟาดศพผู้ชุมนุมที่ถูกแขวนบนต้นมะขามบริเวณสนามหลวงเอาไว้ได้ และภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ทั้งยังได้รับรางวัลในการประกวดภาพข่าว Pulitzer Prize และ World Press Photo Award ในปีต่อมา

Neal Ulevich/ 6 October 1976 in Bangkok

ช่วงเย็นวันนั้น พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นแกนนำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชส่วนเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เข้าทำความสะอาดพื้นที่ ม.ธรรมศาสตร์ โดยตำรวจออกมาแถลงภายหลังว่าผู้ชุมนุมซุกซ่อนอาวุธไว้ในมหาวิทยาลัย โดยมีการนำอาวุธและหนังสือเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์อีกหลายร้อยเล่มที่อ้างว่ายึดมาจากผู้ชุมนุม 6 ตุลาฯ มาจัดแสดงที่สนามหลวง

ฝ่ายขวาจำนวนไม่น้อยมองว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็น 'ชัยชนะ' ของพวกเขา ขณะที่แกนนำการชุมนุมฝ่ายซ้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น หลายคนตัดสินใจจัดตั้งองค์การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลต่อด้วยการ 'เข้าป่า-จับอาวุธ' ในช่วงเวลาหลายปีต่อจากนั้น และถูกมองว่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) 

'นิรโทษกรรม' เพื่อความสามัคคีระหว่างชนในชาติ

จนกระทั่งปี 2521 ในสมัยรัฐบาล 'เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์' ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึง 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ.2521 โดยระบุว่า "รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว และมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้น ก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น"

"เมื่อคำนึงถึงว่า การชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริง เพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ และผู้ที่หลบหนีไป ได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร และกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์ และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป"

แม้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้แกนนำนักศึกษาที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 และถูกเบิกตัวขึ้นศาล ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา แต่ก็ทำให้ผู้ก่อความรุนแรงและผู้มีส่วนร่วมในการสังหารหรือล่วงละเมิดผู้อื่น ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มขวาจัด ไม่ต้องถูกดำเนินคดีใดๆ ด้วยเช่นกัน 

ส่วนหนึ่งของงานระลึก 44 ปี ของ 6 ตุลา ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ by Chainwit / CC BY-SA 4.0

ภาพ: ส่วนหนึ่งของงานระลึก 44 ปี ของ 6 ตุลา ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ by Chainwit / CC BY-SA 4.0