Skip to main content

 

สรุป

  • มีผู้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองในเมียนมาและยุติความรุนแรงต่อที่ประชุมอาเซียนซัมมิตในอินโดนีเซียช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ฉันทามติอาเซียนยังไม่พูดถึงแนวทางใดๆ ที่จะกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของที่ประชุม 

  • นักสิทธิมนุษยชนชี้ อาเซียนมีจุดอ่อน คือ "ไม่สามารถผลักดันมติที่ประชุมให้เป็นจริงในทางปฏิบัติได้" และการใช้ถ้อยคำเบาเกินไปเมื่อพูดถึงการใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาอาจเข้าข่าย ‘ฟอกขาว’ ให้กองทัพ

  • มีเพียง 3 ประเทศที่ประณามการใช้ความรุนแรงในเมียนมา ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ขณะที่ 'เวียดนาม-ไทย' สื่อต่างชาติรายงานว่ามีท่าที ‘เห็นอกเห็นใจ’ กองทัพมากกว่า

ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ซึ่งจัดขึ้นที่อินโดนีเซีย ประกาศฉันทามติ 5 ข้อ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ต้องยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาทันที โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด

(2) จัดให้มีการหารือที่สร้างสรรค์โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีและเพื่อประโยชน์ของประชาชน

(3) ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก เป็นสื่อกลางของกระบวนการพูดคุยหารือภายใต้การช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

(4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (AHA Center)

(5) ผู้แทนพิเศษ รวมถึงคณะผู้แทนอาเซียน จะไปเยือนเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญอื่นๆ กลับไม่มีการพูดคุยหรือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และการวางตัวผู้มีอำนาจที่จะตัดสินใจหรือวางแนวทางเพื่อจะนำมติที่พูดคุยกันไปปฏิบัติจริง 

ผู้นำอาเซียนเชื่อ 'มินอ่องหล่าย' รับฟังฉันทามติ

สื่อฮ่องกง South China Morning Post ตั้งคำถามผ่านบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2564 ว่า ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ และจะเกิดอะไรต่อไป? (Is Asean’s Myanmar five-point consensus workable, and what is next?

บทวิเคราะห์อ้างอิงแถลงการณ์ของรัฐบาลบรูไน ในฐานะประธานอาเซียน ระบุว่ามีผู้เสนอให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมคุมขังจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร แต่แถลงการณ์ไม่ได้ชี้ชัดว่าอาเซียนจะกดดันหรือเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมอย่างไร

ขณะที่ 'ลีเซียนลุง' นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แถลงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า การเจรจาระหว่างอาเซียนกับเมียนมามีแนวโน้มที่ดี เพราะ พล.อ.อาวุโส ‘มินอ่องหล่าย’ ผู้ก่อรัฐประหารและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่าจะ ‘รับฟัง’ ข้อเสนอของอาเซียน พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนเข้าไปในเมียนมาเพื่อเก็บข้อมูลและสำรวจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์วิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมา อาเซียนมีความร่วมมือกันในหลายมิติ แต่มักจะใช้วิธีเจรจาต่อรองมากกว่าการกดดันหรือคว่ำบาตร แต่ท่าทีของประเทศสมาชิกอาเซียนในครั้งนี้แตกต่างกันไป เพราะ 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ประณามการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา แต่ท่าทีของไทยและเวียดนามดูจะมีความเห็นอกเห็นใจกองทัพเมียนมามากกว่า 

ส่วนรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ (National Unity Government of Myanmar หรือ NUG) รัฐบาลเงาที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารเมียนมา รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 23 เม.ย.2564 หรือหนึ่งวันก่อนประชุมอาเซียนซัมมิต ระบุว่า ยินดีที่อาเซียนจะเข้ามาช่วยเหลือเมียนมายุติวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ เพราะวิกฤตนี้อาจส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค

แถลงการณ์ National Unity Government of Myanmar (NUG)

นักสิทธิมนุษยชนติงอาเซียน 'ฟอกขาว' กองทัพเมียนมา

อย่างไรก็ตาม 'ฟิล โรเบิร์ตสัน' รองผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำเอเชีย มีมุมมองต่อฉันทามติอาเซียนต่างจากผู้นำประเทศสมาชิก โดยย้ำว่า ในฉันทามติไม่ได้ระบุถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองกว่า 3,300 คนที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึง 'อองซาน ซูจี' หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเมียนมา (NLD) และสมาชิกพรรคคนอื่นๆ พร้อมกล่าวอีกว่า อาเซียนมีจุดอ่อนที่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จในการผลักดันให้มติหรือการตัดสินใจต่างๆ กลายเป็นแนวทางปฏิบัติจริง

ทางด้าน 'แมทธิว สมิธ' องค์กรสิทธิมนุษยชนฟอร์ติฟาย ไรท์ กล่าวถึงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมของผู้เข้าประชุมอาเซียนซัมมิตที่มีต่อเมียนมา ซึ่งประโยคหนึ่งระบุว่า "มีรายงานผู้เสียชีวิตและการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น" ถือเป็นการใช้คำที่ 'เบาเกินไป' เหมือนพยายามฟอกขาว (whitewash) ให้การสังหารประชาชนของรัฐบาลทหารเมียนมาดูไม่รุนแรงอย่างที่ควรจะเป็น 

สมิธย้ำว่า การที่อาเซียนเชิญมินอ่องหล่ายเข้าร่วมประชุมก็ผิดแล้ว และข้อตกลงที่ได้มาก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทางออกเดียวที่มี คือ กองทัพเมียนมาจะต้องหยุดใช้ความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมด และมินอ่องหล่ายต้องก้าวลงจากตำแหน่งทันที เพื่อเปิดทางให้ NUG เข้ามาปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ สำนักข่าว Reuters ยังรายงานอ้างอิง ขิ่น ซันดาร์ หนึ่งในกรรมการเครือข่ายนัดหยุดงานประท้วงในเมียนมา ยืนยันว่าทางเครือข่ายจะไม่ยุติการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร เพราะถึงแม้ว่าอาเซียนและสหประชาชาติ (UN) จะเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมหยุดการต่อสู้และหันหน้ามาเจรจา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาสวนทางกับสิ่งที่พูดกันในเวทีการประชุม 

ข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์กรช่วยเหลือนักโทษการเมืองระหว่างประเทศ (AAPP) ระบุว่าทหารและกองกำลังติดอาวุธในสังกัดกองทัพเมียนมา ใช้อาวุธจริงสลายการชุมนุมทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 748 รายนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.เป็นต้นมา ทั้งยังมีการบุกจับกุมประชาชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารในเวลากลางคืน โดยผู้ถูกคุมขังไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อครอบครัว ทั้งยังมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากหนีข้ามฝั่งมายังประเทศไทยเพื่อหนีความรุนแรงที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ