Skip to main content

นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์กเผยอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าสดใส ชี้ยอดขายและปริมาณการใช้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในจีนและยุโรป ราคาแบตเตอรี่จะถูกลง ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงรถยนต์สันดาป แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะช้ากว่าทั่วทั้งโลก โดยไทยและสิงคโปร์จะเป็นผู้นำการใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้า ส่วนเวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นผู้นำการใช้มอเตอร์ไซค์ระบบไฟฟ้า

 

สถานการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน 

อัลเลน ทอม อับราฮัม นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการขนส่งในเอเชียแปซิฟิกของบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้าทั่วโลก โดยสัดส่วนของรถบรรทุกขนสินค้าอยู่ที่ราวร้อยละ 3ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด โดยที่ 965,442 คันอยู่ในยุโรปและจีน ขณะที่รถยนต์ส่วนตัวที่เป็นระบบไฟฟ้ารวมถึงรถยนต์ไฮบริด มีอยู่ร้อยละ 14 หรือราว 26.58 ล้านคัน รถประจำทางระบบไฟฟ้ามีสัดส่วนร้อยละ 38 หรือ 666,479 คัน รถสองล้อและสามล้อระบบไฟฟ้า อมีสัดส่วนร้อยละ 19 หรือราว 292.42 ล้านคัน

 

การเติบโตและตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า 

อัลเลนกล่าวว่า ระหว่างปี 2016-2022 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดรถยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในจีนมีส่วนแบ่งของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ขณะที่ในยุโรปส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดแตะ 25% เช่นกัน ในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนแบ่งรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดรถยนต์ค่อยๆ เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์อาวุโสจากบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟกล่าวว่า ปี 2021-2022 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 300% ในอินเดีย ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 100% ในจีนเพิ่มขึ้นราว 95% และที่ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 90%

อัลเลน กล่าวว่า แม้การเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงขึ้นมาก แต่หากพิจารณาเป็นจำนวนคันแล้วจะพบว่า ยังอยู่ในจำนวนที่ไม่มากนัก ในปี 2022 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสิ้นเพียง 51,000 คัน โดยสัดส่วนใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศไทย รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นของผู้ผลิตจากจีน โดย Wuling ครองตลาดในอินโดนีเซีย Vinfast แบรนด์ของเวียดนามครองตลาดในเวียดนาม ขณะที่ Great Wall Motors และ MG จากจีนครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

ขณะที่รถ 2 ล้อและ 3 ล้อระบบไฟฟ้า มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากราว 1.8 แสนคันในปี 2016 มาเป็น 5แสนคันในปี 2022 โดยมียอดขายมากที่สุดในอินโดนีเซีย รองลงมาคือไทย

นักวิเคราะห์จากบูลเบิร์กเอ็นอีเอฟ คาดการณ์ว่าในปี 2026 จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 30 ของยอดขายยานยนต์ทั่วโลก โดยยอดขายสูงสุดอยู่ในจีน รองลงมาคือยุโรป ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ปัจจัยที่เร่งให้รถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตรวดเร็ว

อัลเลนกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การสนับสนุนจากภาครัฐ และการผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีตัวเลือกที่หลากหลายในราคาที่ผู้บริโภคสามารถเอื้อมถึง โดยราวครึ่งหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้มาจากผู้ผลิตสัญชาติจีน

 

มองอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าปี 2026

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ที่ 10.5 ล้านคัน อัลเลนกล่าวว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบาย คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคันในปี 2026 โดยร้อยละ 90 หรือ 24.6 ล้านคันอยู่ในจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของรถยนต์ทั่วทั้งโลก ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่จะเติบโตในอัตราที่ช้าเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตระดับโลก

นักวิเคราะห์จากบูลเบิร์กเอ็นอีเอฟระบุว่า รถยนต์สันดาปได้เลยจุดสูงสุดมาแล้วด้วยจำนวนที่มากกว่า 80 ล้านคันทั่วโลกในปี 2017 และมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง คาดว่าในปี 2026 รถยนต์สันดาปจะลดลงมาอยู่ที่ราว 50 ล้านคัน และมีสัดส่วนของรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

 

ราคาแบตเตอรี่ ปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

อัลเลนกล่าวว่า ราคาแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค ซึ่งราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะลดต่ำลงเรื่อยๆ ในปี 2025 ราคาของแบตเตอรี่จะอยู่ที่ 124 ดอลลาร์ต่อ กก.วัตต์ ชม. และคาดว่าในปี 2031 ราคาของแบตเตอรี่จะลดลงมาอยู่ที่ 73 ดอลลาร์ต่อ กก.วัตต์ ชม. ส่งผลให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าลดต่ำลงด้วย จนกระทั่งราคารถยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับราคาของรถยนต์สันดาป โดยราคาในจีนจะปรับลดลงตั้งแต่ปี 2025 ส่วนในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราคาจะลดลงช้ากว่า และเริ่มเห็นราคารถยนต์ไฟฟ้าเข้าใกล้ราคารถยนต์สันดาปในปี 2023

อัลเลนกล่าวว่า ตลอดทศวรรษที่ 2030 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และโตถึงร้อยละ 64 ในปี 2040 ทั้งนี้ในปี 2040 คาดว่าร้อยละ 75 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะเป็นระบบไฟฟ้า โดยมีการใช้มากที่สุดในจีนและยุโรป

ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยและสิงคโปร์จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ยอดขายสูงสุดของรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคจะอยู่ในอินโดนีเซีย ขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียจะเป็นผู้นำของรถ 2 ล้อไฟฟ้า โดยร้อยละ 40 ของรถ 2 ล้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นระบบไฟฟ้า และ เมื่อถึงปี 2040 ร้อยละ 90-95 ของยานยนต์ 2 ล้อจะเป็นระบบไฟฟ้า

 

เป้าหมายสู่ net zero ในปี 2050

เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero ภายในปี 2050 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทีมวิเคราะห์จากบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ นำมาวิเคราะห์ร่วมกับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า

อัลเลนกล่าวว่า net zero 2050 มีความเป็นไปได้ แต่จะไม่รวดเร็วอย่างที่ต้องการ ทั้งนี้ มีเงื่อนไขที่ต้องทำให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงจะทำให้เป้าหมาย net zero เป็นจริง

เงื่อนไขดังกล่าวยากที่จะเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ อัลเลนระบุว่า ต้องเลิกการใช้ยานยนต์สันดาปประเภทต่างๆ โดยมอเตอร์ไซค์ระบบสันดาปต้องหมดไปภายในปี 2045 ขณะที่รถยนต์นั่งระบบสันดาปต้องหมดไปภายในปี 2025 และรถบรรทุกระบบสันดาปต้องหมดไปภายในปี 2040

อัลเลนกล่าวว่า อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องยกเลิกการใช้ยานยนต์ระบบสันดาปให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมาย net zero 2050

นักวิเคราะห์จากบูลเบิร์กเอ็นอีเอฟชี้ว่า 2 ทศวรรษจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเพิ่มปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายของรุ่นและขนาดเครื่องยนต์ และต้องมียอดขายที่สูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยรถยนต์นั่งระบบไฟฟ้าต้องทำยอดขายให้ได้ 40-50 ล้านคัน จึงจะบรรลุเป้าหมาย net zero 2050

นักวิเคราะห์จากบูลเบิร์กเอ็นอีเอฟกล่าวว่า นับจากนี้ไปอีก 30 ปี ความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีก 10-17 เท่า และหากต้องการให้บรรลุภึงเป้าหมาย net zoro 2050 ต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอีกราว 88.1 ล้านล้านดอลลาร์ และต้องการเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จอีก 2-3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2050 รวมถึงสร้างสถานีชาร์จอีก 500-700 แห่งภายในปี 2050 เพื่อรองรับกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เขามองว่าการประกาศการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐและเอกชนในขณะนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอนาคตของยานยนต์ไฟฟ้า

ซีซี่ ถัง นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ กล่าวว่า ภายในปี 2040 ความต้องการพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับการขนส่งทางบกจะลดลง 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในปี 2027 ปริมาณความต้องการพลังงานฟอสซิลจะอยู่ในจุดสุงสุดที่ 43.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และค่อยๆ ลดลง ขณะที่มีพลังงานชนิดอื่นเข้ามาทดแทน เช่น พลังงานชีวภาพ พลังงานสะอาด

ซีซี่คาดว่า ในปี 2024 ปริมาณการใช้พลังงานจากฟอสซิลในจีนจะถึงจุดสุงสุด และจะค่อยๆ ลดปริมาณการใช้ลง ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อัตราการลดลงของการใช้พลังงานจากฟอสซิลจะเป็นไปในอัตราที่ช้ากว่า

ซีซี่กล่าวว่า หากต้องการบรรลุถึง net zoro ในปี 2050 จะต้องลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลในอัตราที่เร็วกว่าปัจจุบัน โดยหลังจากปี 2030 เป็นต้นไป ต้องลดปริมาณการใช้น้ำมันลงให้ได้ 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ซีซี่กล่าวว่า ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายมากขึ้นเรื่อยๆ

นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ กล่าวว่า ประตูที่จะนำไปสู่ net zoro 2050 คือ การเปลี่ยนรถยนต์นั่งและรถบรรรทุกขนาดใหญ่ให้เป็นระบบไฟฟ้าให้เร็วที่สุด และห้ามการใช้รถยนต์ระบบสันดาป สนับสนุนการใช้รถบรรทุกที่มีขนาดเล็กลงและเป็นระบบไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนให้เกิดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นและสามารถใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น