Skip to main content

กรรมการสิทธิฯ เผยผลสอบการสลายการชุมนุมกลุ่มผู้ชุมนุมต้านเอเปค ชี้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้กำลังเกินกว่าเหตุหลายครั้งจนมีผู้บาดเจ็บและถูกลูกหลงจำนวนมาก ปฏิบัติหน้าที่ไม่สอดคล้องมาตรฐานสากล ละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน ขัดขวางคุกคามสื่อ ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย

ผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้ การชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ ระบุการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ไม่เหมาะสม ไม่ได้สัดส่วน ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งยังละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน รวมทั้งขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม ราษฎรหยุด APEC 2022 กับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 โดยมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงสื่อมวลชนอีกหลายราย

กสม.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 เมื่อวันที่ 16 - 18 พ.ย. 2565ว่า การชุมนุมในภาพรวมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันเจ้าหน้าที่รัฐต้องเคารพและประกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าว

กสม.เห็นว่า เจ้าหน้าที่ คฝ.ใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน ใช้กระบองและกระสุนยางยิงผู้ชุมนุมโดยไม่เลือกเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่แจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบก่อน ทำให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บหลายราย จนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ทั้งยังใช้วัตถุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เครื่องมือควบคุมฝูงชนได้แก่ ขวดน้ำ ขวดแก้ว และท่อนไม้ ขว้างปาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้ง การกระทำข้างต้นจึงไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน

นอกจากนี้ การใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมยังเป็นการใช้กำลังที่เกินกว่าความจำเป็นหลายครั้ง เช่น การผลักจนล้ม หรือการรุมเตะ ชกต่อย ทั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ถูกจับกุมบางรายยอมจำนนและไม่ขัดขืน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย การเข้าจับกุมตัวผู้ชุมนุมในหลายครั้งจึงมีลักษณะเกินความจำเป็น ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนเช่นเดียวกัน

การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ คฝ. ยังมีการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ขัดต่อกฎหมายและมาตรฐานสากลที่ควรจะต้องปฏิบัติ จนทำให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ รวมถึงมีการใช้กำลังทำร้ายและคุกคามสื่อมวลชนให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งยังพยายามขัดขวางหรือปิดบังไม่ให้สื่อมวลชนรายงานข่าวโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ของรัฐในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่สื่อมวลชน อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญ

กสม.มีมติให้เสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้เร่งหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกรายที่รับผิดชอบในการออกคำสั่ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนโดยไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่กำหนด และติดตั้งกล้องพกพาที่ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละรายให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากลด้วย

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้สั่งการเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะให้อำนวยความสะดวกในการชุมนุม ไม่แทรกแซงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ไม่ห้าม จำกัด ขัดขวาง หรือรบกวนการชุมนุมโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยควรมุ่งเน้นการลดความตึงเครียดของเหตุการณ์ไม่ให้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย

หากมีสถานการณ์จำเป็นต้องใช้กำลังหรือเครื่องมือควบคุมฝูงชน ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และระมัดระวังผลกระทบต่อผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ในพื้นที่ และประชาชนทั่วไป รวมทั้ง เปิดช่องทางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังควบคุมการชุมนุมที่เกินกว่าความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ยื่นคำขอให้มีการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

กสม. ยังมีข้อเสนอให้ สตช. กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ควบคุมสั่งการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ให้สื่อสารและประสานงานกับผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจของฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การบริหารจัดการชุมนุมเป็นไปอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ให้ผู้จัดการชุมนุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ กำชับและย้ำเตือนผู้ชุมนุมโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้ระมัดระวังการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย งดเว้นการใช้ความรุนแรง การแสดงพฤติกรรมในลักษณะยั่วยุที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง หรือกระทำการในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย