Skip to main content

การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นและอินเดีย เป็นเรื่องที่นานาประเทศจับตามองและหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในปีนี้ และจะมีนักกีฬาจากหลายประเทศเดินทางไปเข้าร่วม ขณะที่อินเดียเป็นหนึ่งในฐานผลิตวัคซีนและยาที่จำเป็นในการรักษาโควิด-19 ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่อาจเข้าไม่ถึงยาของบริษัทเอกชนในตะวันตก

ญี่ปุ่น ตั้งเป้าฉีดวัคซีนวันละ 10,000 รายช่วงวันหยุดยาว

โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงขออภัยประชาชนเมื่อวันศุกร์ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังเคยบอกว่าคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่กลับต้องประกาศภาวะฉุกเฉินรอบใหม่ระหว่างวันที่ 25 เม.ย.-11 พ.ค.2564 เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงใน 4 พื้นที่ ได้แก่ โตเกียว โอซะกะ เฮียวโงะ เกียวโต ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มสะสมเพิ่มสูงกว่า 564,000 ราย และผู้เสียชีวิต 9,890 ราย ในวันที่ 26 เม.ย.2564 ขณะที่กำหนดจัดกีฬาโอลิมปิก 2020 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 ก.ค.จนถึง 8 ส.ค.

สื่อหลายสำนักระบุว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเข้มงวดมากขึ้น เพื่อคุมสถานการณ์โควิด-19 ไห้ได้ช่วงวันหยุดยาวปลายเดือน เม.ย.ถึงต้น พ.ค. หรือช่วง golden week ซึ่งตามปกติแล้วจะมีผู้คนเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมากโดยรัฐบาลท้องถิ่นในกรุงโตเกียวและนครโอซะกะเตรียมยกระดับฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยจะจัดพื้นที่เปิดขนาดใหญ่เพื่อฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มใหญ่พร้อมกันให้ได้วันละ 10,000 ราย 

ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจัดฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า เพราะเพิ่งจะฉีดได้ราว 1% ของประชากรกว่า 126 ล้านคน โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้สูงอายุก่อน แต่โรงเรียนในพื้นที่ภาวะฉุกเฉินจะยังเปิดเรียนตามปกติ โดยกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นระบุว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ มีหน้าที่ป้องกันการแพร่ระบาดและต้องจัดหาอุปกรณ์ประกอบการเรียนให้พร้อมแก่นักเรียน

การประกาศภาวะฉุกเฉินรอบใหม่ใน 4 พื้นที่ของญี่ปุ่น ทำให้สวนสนุก ผับบาร์ และห้างสรรพสินค้า ต้องปิดชั่วคราว โดยยกเว้นให้เฉพาะแผนกที่จำหน่ายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ส่วนร้านอาหารต้องเลื่อนเวลาปิดให้เร็วขึ้นหรือเปิดได้ไม่เกิน 20:00 น. รวมถึงห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ฝ่าฝืนคำสั่งจะถูกปรับเงินตั้งแต่ 200,000 – 300,000 เยน

อินเดีย กดดัน WTO ระงับคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนชั่วคราว

สื่อหลายสำนักรายงานว่าสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในอินเดียเข้าขั้นวิกฤตกลางเดือน เม.ย.เป็นต้นมา โดยสื่อหลายที่ระบุว่านี่คือ ‘สึนามิโควิด’ และ ‘วิกฤตโควิดครั้งร้ายแรงที่สุดของโลก’ หลังจากอินเดียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศกว่า 3 แสนรายในวันเดียวเมื่อ 25 เม.ย. และสถิติผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ 16.9 ล้านราย ซึ่งยังตามหลังสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ อินเดียอาจจะกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดมากที่สุดในโลกในเร็วๆ นี้ ส่วนผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 192,311 ราย

Jordan Singh/Pixabay

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์กรุงนิวเดลีต่ออีก 1 สัปดาห์ และยอมรับว่าหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนออกซิเจนสำหรับเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญต่อผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการวิกฤต ทำให้ทั่วโลกระดมกำลังส่งออกซิเจนและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นไปให้อินเดีย

ทั้งนี้ ‘อังเกลา แมร์เคล’ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประกาศจะส่งออกซิเจนไปให้อินเดียโดยด่วน พร้อมย้ำว่า “การต่อสู้โควิดเป็นสิ่งที่เราต้องสู้ร่วมกัน” ส่วนประเทศอื่นที่ประกาศส่งความช่วยเหลือให้อินเดีย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อพิพาทกันยาวนานอย่างปากีสถาน

ที่จริงแล้ว นายกฯ อินเดียเคยประกาศชัยชนะเหนือโควิดมาแล้วรอบหนึ่งในเดือน ม.ค.2564 ก่อนที่เขาจะตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากปล่อยให้มีการชุมนุมสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ทั้งยังมีภาพเผยแพร่ผ่านสื่อให้เห็นว่าโมดีปราศรัยอยู่ท่ามกลางผู้สนับสนุนทางการเมือง โดยที่ไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยเลย ทั้งยังไม่ได้ยืนเว้นระยะห่างอีกก้วย ทั้งยังอนุญาตให้จัดพิธีกรรมที่สำคัญทางศาสนาซึ่งมีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้เคร่งครัดในมาตรการป้องกันโรคระบาดเสียเอง

นอกจากนี้ ช่วงต้นเดือน เม.ย. รัฐบาลอินเดียยังประกาศด้วยว่าจะต้องระงับการส่งออกวัคซีนโควิดของแอสตราเซเนกาไปต่างประเทศระยะหนึ่ง เพื่อเตรียมวัคซีนให้พอใช้ภายในประเทศก่อน ทั้งยังมีข้อเรียกร้องถึงองค์การการค้าโลก (WTO) ให้พิจารณาระงับการคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนทั่วโลกมีโอกาสผลิตวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลน แต่หลายประเทศในสหภาพยุโรป (EU) คัดค้านข้อเรียกร้องดังกล่าว