Skip to main content

ปัจจุบัน 'คนรุ่นใหม่' มีความสำคัญในองค์กร และมีแนวคิดการทำงานแแบบ Work-Life Balance หรือสมดุลชีวิตระหว่างงานและความเป็นส่วนตัว

ภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัด คือปรากฏการณ์ The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19 แรงงานจำนวนมากประสบภาวะหมดไฟ (Burnout) จากการทำงาน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุปัญหาจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน หรือปัจจัยในแง่ของสุขภาพและสุขภาวะ (Health & Well-being)

จากข้อมูลพบว่า คนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปกว่า 58 ล้านคน จำนวน 38 ล้านคน เป็นแรงงานในสถานประกอบการซึ่งเป็นสร้างรายได้และผลผลิตให้กับสังคม รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพรอบด้าน ทั้งความพิการ การบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ออฟฟิศซินโดรม ไปจนถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance มากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องจัดการระบบหรือสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้เกิดความสมดุล ที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความสุขกับการทำงาน เนื่องจากสุดท้ายผลงานจะถูกสะท้อนออกมาจากคุณภาพชีวิตของคนทำงาน

ทั้งนี้ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศ ปี 2564 ฉบับล่าสุดในประเด็นด้านสาธารณสุข มีการกำหนดกิจกรรมหลักเรื่องการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสร้างเสริมสุขภาพ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การป้องกันและดูแลรักษาการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำหรับประชาชนและผู้ป่วย โดยเน้นนโยบายและมาตรการในที่ทำงาน พร้อมกำหนดเป้าหมายให้มีนโยบายสุขภาพในที่ทำงาน (Workplace Health Policy)

สวรส.จึงสนับสนุนโครงการวิจัยการศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อ ในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ

ในระดับโลก เช่น สหภาพยุโรป (EU) มีการดำเนินนโยบายระดับภูมิภาคด้านการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ โดยจัดตั้งเครือข่าย The European Network for Workplace Health Promotion (ENWHP) หรือคณะทำงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้สนับสนุนในประเด็นที่ว่า ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ เพราะเรื่องนี้นอกจากจะเป็นจริยธรรมทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นสิ่งที่มีผลต่อธุรกิจด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย มีการศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล พบว่า องค์กรขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องทางการเงิน จะให้ความสำคัญต่อสุขภาพพนักงาน เพราะทำให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น โดยจัดเป็นรูปแบบของสวัสดิการรักษาพยาบาล การตรวจคัดกรองสุขภาพ กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย แข่งกีฬา รวมถึงการกำหนดเรื่องสุขภาพเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จ หรือให้แรงจูงใจผ่านกลไก เช่น สะสมแต้มแลกรางวัล เป็นต้น

ในขณะที่องค์กรขนาดกลางถึงขนาดเล็ก มักมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ไม่มีงบประมาณดำเนินการ ในบางสถานประกอบการมีลักษณะงานหรือระบบนิเวศที่ไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น หรือโรงงานที่ต้องเดินสายการผลิตตลอด หยุดไม่ได้ รวมถึงการที่ไม่ได้สร้างความตระหนักด้านสุขภาพให้กับพนักงานตั้งแต่แรกเข้า ตลอดจนระบบนิเวศโดยรอบสถานประกอบการที่ไม่เอื้อ เป็นต้น

จากข้อมูลและผลวิจัยสามารถสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้น โดยจัดทำเป็นข้อเสนอมาตรการต่างๆ ภาครัฐอาจต้องมีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับสถานประกอบการ อาทิ ให้งบสนับสนุนการทำกิจกรรม หรือลดหย่อนภาษีสำหรับองค์กรที่มีกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับสถานประกอบการที่ดูแลสุขภาพของพนักงานได้ดี มีสวัสดิการการตรวจสุขภาพอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจสุขภาพตา เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพ กรณีผู้ประกันตนไม่เจ็บป่วย

ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน ควรจัดทำแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานให้ชัดเจน มีการให้ความรู้/คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมหรือดำเนินกิจกรรมร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน หากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ควรมีการจัดแบ่งพื้นที่ให้มีพื้นที่ของการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และส่งเสริมให้พนักงานใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรม รวมถึงการออกเป็นกฎหมายให้สถานประกอบการกำหนดเวลาให้พนักงานทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น