นิกเคอิ เอเชีย นำเสนอบทความสั้นเกี่ยวกับอนาคตการท่องเที่ยวของไทยว่า อาจมืดมนเพราะมลพิษทางอากาศ โดยยก จ.เชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือว่า มีดัชนีวัดมลภาวะในอากาศสูงเกินกว่า 150 ซึ่งเป็นระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพ และมีค่าดัชนีมลพิษทางอากาศสูงเกิน 200 ในช่วงกลางเดือน ก.พ. ทำให้ถูกจัดเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศสูงที่สุดของโลก
บทความระบุสาเหตุว่า เกิดจากการเผาไร่อ้อยของเกษตรกร ควันเสียจากยานยนต์ และปัจจัยอื่นๆ โดยคุณภาพอากาศของไทยจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.ถึง ก.พ. ต่อเนื่องไปถึง เม.ย.
บทความชี้ว่า มีการอภิปรายกันเรื่องกฎหมายคุณภาพอากาศในสภา แต่ยังไม่มีการลงมติความเห็นชอบ นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งมีกำหนดต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ภายในปี 2021 ก็ได้รับการขยายเวลาออกไปเป็นปี 2024 ยิ่งไปกว่านั้นพอเมื่อพ้นเดือน เม.ย.และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ความสนใจของ ส.ส.ต่อการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศก็ค่อยๆ ลดน้อยลง
บทความนิกเคอิ เอเชียมองว่า แม้รัฐบาลไทยและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะโปรโมทว่า ฤดูแล้งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวประเทศไทย แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเลื่อนการมาเดินทางมาเยือนประเทศไทยออกไปหรือแย่กว่านั้นคือ เลือกไปเที่ยวในประเทศอื่นที่คุณภาพอากาศดีกว่า
บทความตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยครั้งใหม่ ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่การอยู่อาศัยระยะยาวของชาวต่างชาติที่ร่ำรวยและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นั้น ด้วยปัจจัยเรื่องคุณภาพอากาศจึงทำให้ความสำเร็จของแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบนี้ยังคงไม่ชัดเจน