Skip to main content

สรุป

  • ​ปี 2563 มีนักข่าวและผู้ช่วยนักข่าวเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ 10 รายทั่วโลก ส่วนนักข่าวที่ถูกจับกุมคุมขังมี 304 ราย นักข่าวพลเมือง 100 ราย รวมถึงผู้ช่วยนักข่าวอีก 12 ราย

  • ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2564 ประเมินว่า หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก เป็น ‘ประชาธิปไตยเผด็จการ’ ที่ใช้ทั้ง ‘อำนาจทางกฎหมาย’ และ ‘การโฆษณาชวนเชื่อ’ คุกคามกดดันผู้เห็นต่างและกระทบสื่อมวลชน

  • ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดติดกลุ่ม 'เสรีภาพสื่อย่ำแย่' (bad) และ 'แย่มาก' (very bad) ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เพราะยังมีการใช้อำนาจรัฐควบคุมกดดันสื่อ สกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน

  • ส่วนไทยติดอันดับที่ 137 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ดีกว่าอีก 7 ประเทศในอาเซียน แต่ยังอันดับต่ำกว่าอินโดนีเซีย-มาเลเซีย

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปี 2021 (World Press Freedom Index) โดยระบุว่า “สื่อสารมวลชนคือวัคซีนป้องกันข้อมูลบิดเบือน” แต่ดัชนี WPFI ในปีนี้บ่งชี้ว่านักข่าวจากกว่า 130 ประเทศทั่วโลกยังคงถูกรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ 'ปิดกั้นและแทรกแซง' การปฏิบัติหน้าที่

ผู้จัดทำรายงาน WPFI สรุปว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนทั่วโลก ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผู้สื่อข่าวจำนวนมากตกงานและรายได้ลดลง ไม่ต่างจากผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ และต้องเผชิญกับแรงกดดันและการคุกคามของผู้มีอำนาจรัฐ ทั้งยังมีการปล่อยให้ผู้คุกคามสื่อลอยนวลไม่ต้องรับโทษในหลายกรณี

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษร้ายแรง-ล้าหลังกับสื่อมวลชน ทำให้ 48 ประเทศ จากทั้งหมด 180 ประเทศที่สำรวจข้อมูลในปีที่ผ่านมาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 'เสรีภาพสื่อย่ำแย่' (bad) และ 'แย่มาก' (very bad) ทั้งยังมีนักข่าวและผู้ช่วยนักข่าวเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่รวม 10 รายทั่วโลก ส่วนนักข่าวอาชีพ นักข่าวพลเมือง และผู้ช่วยนักข่าว ถูกจับกุมคุมขังรวม 416 ราย

หลายชาติในเอเชียแปซิฟิกคือ ‘ประชาธิปไตยเผด็จการ’

10 ประเทศแรกที่เสรีภาพสื่ออยู่ในอันดับ ‘ดี’ ในดัชนี 2021 WPFI ได้แก่ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก คอสตาริกา เนเธอร์แลนด์ จาเมกา นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์ 

ขณะที่ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ในกลุ่มสถานการณ์ย่ำแย่ โดยในกลุ่มนี้ อินโดนีเซียมีคะแนนดีสุด อยู่ในอันดับ 113 ตามด้วยมาเลเซีย  (119) ไทย (137) ฟิลิปปินส์ (138) เมียนมา (140) กัมพูชา (144) บรูไน (154) และสิงคโปร์ (160)

อีก 2 ประเทศอาเซียนที่เหลือติดอยู่ในกลุ่ม ‘ต่ำสิบ’ หรือประเทศที่มีคะแนนเสรีภาพสื่อใน 10 อันดับสุดท้าย โดยเรียงจาก คิวบา (171) ลาว (172) ซีเรีย (173) อิหร่าน (174) เวียดนาม (175) จิบูตี (176) จีน (177) เติร์กเมนิสถาน (178) เกาหลีเหนือ (179) เอริเทรีย (180) 

บทวิเคราะห์เพิ่มเติมของ WPFI ยังระบุด้วยว่า หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกเข้าข่าย ‘ประชาธิปไตยเผด็จการ’ (dictatorial democracies) เพราะใช้ทั้ง ‘อำนาจทางกฎหมาย’ และ ‘การโฆษณาชวนเชื่อ’ คุกคามกดดันผู้เห็นต่าง โดยพบหลายเหตุการณ์ที่รัฐใช้อำนาจปิดกั้นการตั้งคำถามของสื่อมวลชนด้วยข้อกล่าวหา ‘เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จ’ 

กรณีของไทย ซึ่งถูกจัดอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย ติดกลุ่มประเทศสถานการณ์สื่อย่ำแย่ต่ออีกปี แม้อันดับของไทยจะดีขึ้น 3 จุด จากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับ 140 ขึ้นมาเป็น 137 แต่คะแนนรวมที่เพิ่มจากเดิม 44.94 เป็น 45.22 คะแนน บ่งชี้ว่ายังคงมีการละเมิดหรือปิดกั้นสื่อเกิดขึ้น เพราะการประเมินดัชนี WPFI ที่มีคะแนนรวมทั้งหมด 100 คะแนนใช้เกณฑ์ว่าประเทศที่คะแนนรวมน้อยคือประเทศที่มีเสรีภาพสื่อ 'สูงกว่า' ประเทศที่มีคะแนนรวมมาก

Angela_Yuriko_Smith/ Pixabay

ส่วนเกณฑ์การชี้วัดเสรีภาพสื่อของ RSF และผู้จัดทำรายงาน 2021 WPFI พิจารณาจากหลายด้านรวมกัน แต่มีประเด็นสำคัญหลักๆ อยู่ 7 ข้อ ประกอบด้วย

(1) การเป็นพหุนิยม (Pluralism) โดยเก็บข้อมูลว่าแต่ละประเทศมีสื่อที่เป็นตัวแทนกลุ่มคนซึ่งคิดและเชื่ออย่างแตกต่างหลากหลายรอบด้านหรือไม่ หรือว่ากิจการด้านสื่อสารมวลชนถูกควบคุมโดยรัฐ

(2) ความเป็นอิสระขององค์กรสื่อ (Media independence) มีการแทรกแซงจากทุน ผู้มีอำนาจทางการเมือง รัฐ หรือค่านิยมเชิงจารีตอื่นๆ หรือไม่

(3) การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ (Environment and self-censorship) สำรวจจากประเด็นต้องห้ามที่สื่อในแต่ละประเทศพยายามหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการนำเสนอข้อมูลโดยละเอียด

(4) การชี้วัดและประเมินผลมาตรการกำกับดูแลสื่อมวลชนของภาครัฐ (Legislative framework) กระทบต่อการทำงานของสื่อหรือไม่ อย่างไร

(5) ความโปร่งใสในกระบวนการผลิตข้อมูลข่าวสาร (Transparency) ตรวจสอบได้หรือไม่

(6) มีกลไกเชิงโครงสร้าง (Infrastructure) ที่สนับสนุนหรือคุ้มครองการทำงานของสื่อในประเทศหรือไม่ 

(7) มีการคุกคามหรือละเมิดสื่อมวลชน (Abuse) เกิดขึ้นหรือไม่