Skip to main content

6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชน จัดเวทีเสวนาออนไลน์หัวข้อ 'หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน'

สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลไม่พอใจสิ่งที่สื่อทำหน้าที่ขณะนี้ และมองว่าเป็นบ่อนทำลาย เป็นภัยคุกคามประเทศ เพราะรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ข่าวสารที่ออกมาจากสื่อหลักที่เริ่มจะตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะรับมือได้หรือไม่ได้กับสถานการณ์โควิด ถ้ารับไม่ได้จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ เพราะเสียงเรียกร้องดังขึ้นที่ไม่ใช่เกิดขึ้นจากสื่อ แต่เป็นเสียงที่คนหลายๆกลุ่มๆหลายฝ่าย ทั้งที่เคยสนับสนุนรัฐบาลก็เริ่มมาบอกว่าไม่ไหวแล้ว  

“แต่สื่อก็เป็นแพะที่สะดวกที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะนี่เป็นสงครามโรคระบาดที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนไทยและสื่อควรรับทราบคือ โควิดจะอยู่ยาวนานกว่ารัฐบาลชุดนี้ สิ่งที่แสดงต่อสื่อเป็นเพียงอาการเท่านั้น แต่สาเหตุของโรคคือความไม่มั่นใจ ความแตกแยกกันในรัฐบาลผสม เมื่อเห็นข่าวสารที่ตั้งคำถามแล้วตอบไม่ได้ สื่อเริ่มจับผิดนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หน่วยราชการ ถูกจับผิดมากขึ้น เมื่อ 2 เดือน 3 เดือนพูดอย่างนี้ แต่วันนี้พูดอย่างนี้ และมีความล้มเหลวในการบริหารมากขึ้น และส่วนใหญ่สื่อหลักไม่ได้ออกมาเล่นงานหนักเท่าโซเชียลมีเดีย แต่รัฐบาลก็จับแพะตัวใหญ่ก่อนคือสื่อ” สุทธิชัยกล่าว 

สุทธิชัย กล่าวว่า เมื่อมีดารา คนดัง คอลเอาท์ คนรอบข้างนายกฯ ต้องการเอาใจนายกรัฐมนตรี ว่าคนที่ออกมาคือคนที่อยู่คนละข้างกับนายกรัฐมนตรี ดังนั้นควรระงับตรงจุดนั้น รวมทั้งยังมีบรรดาหมอ นักวิชาการโดนเตือนก่อนหน้านี้ ทั้งหมอหน้างานที่เจอภาวะจริงๆ ที่สะท้อนปัญหาผ่านโซเชียลมีเดีย สื่อที่ไปทำหน้าที่หน้างานจึงรายงานตามนั้น  คำสั่งล่าสุดที่ออกมานั้นไม่ใช่เพียงดำเนินการกับสื่อแต่ยังหมายถึงดำเนินการกับคนทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามอาวุธของสื่อคือข้อเท็จจริงและความน่าเชื่อถือ เราไม่มีอาวุธอย่างอื่น อาวุธนี้จะทำให้ให้ประชาชนเห็นว่าเราทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน แน่นอนว่าเป้าของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของเขาอาจจะไม่ใช่สื่ออย่างพวกรา แต่หมายถึงทั้งประเทศ นักวิชาการ หมอ หมอชนบท หมอเกษียณ อาสาสมัคร ที่ขึ้นภาพคนนอนตายที่บ้าน ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีและครม.หวั่นไหวจริงๆ แต่ถามว่าใครจะเป็นคนรับกรรมตรงนี้ก่อน ก็ตกมาที่สื่อก่อน

กิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ กล่าวว่า เราไม่ได้อยู่ในหัวใจของผู้ออกระเบียบว่าเขาคิดอย่างไร แต่ตนตีความว่า ไม่จำเป็นในการออกกฎหมาย และมองว่าเป็นการออกมาไม่แยกแยะ และหลายเรื่องสะท้อนความคิดลึกๆ ของรัฐบาลหรือไม่ อย่างไรก็ตามยืนยันเราไม่ได้หากินกับเฟคนิวส์อยู่แล้ว แต่ปัญหาที่จะตามมาคือการนำไปสู่การตีความ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะเมื่อมีคำว่า “กระทบกับความมั่นคงของรัฐ” เมื่อไรจะมีคนตกเป็นเหยื่อเสมอ ขอให้องค์กรสื่อติดตามเรื่องนี้ต่อไป ตนเห็นด้วยกับสมาคมวิชาชีพ เพราะตนเป็นคนหนึ่งในประชาคม ตนเห็นด้วยกับความพยายามในเรื่องที่จำเป็นเวลามีวิกฤติ ยืนยันว่าเรามีจริยธรรมจรรยาบรรณในการนำเสนอ การเลือกข่าวเราอยู่บนประโยชน์สาธารณจริงๆ เราไม่เลือกข่าวที่ไม่มีประโยชน์ หลักที่เรายึดถือ คือเราทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยโสโอหัง ไม่ได้วิเศษมาจากไหน เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่เมื่องานเราทำออกไปแล้วมีผลกระทบ ก็ต้องพร้อมรับฟังและน้อมรับคำติชม หรือวิจารณ์ ถ้ารัฐบาลเข้าใจหลักอันนี้ก็ไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษควบคุมบังคับ เพราะเรามีจริธรรมของเราที่ต้องเดินตามอยู่แล้ว 

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard กล่าวว่า การจะจับหรือจะปิดสื่อปัจจุบันยากมาก เพราะประชาชนสนับสนุนสื่ออยู่ แต่การออกกฎหมายมาแบบนี้คือข่มขู่ เพราะรู้ว่าตัวเองกำลังเพลี่ยงพล้ำ เพราะการควบคุมข้อมูลทางทหารคือให้คนเชื่อข้อมูลจากรัฐเท่านั้น จึงเกิด IO (ไอโอ) การควบคุมความจริงได้ คือการสั่งการให้เกิดน่าความเชื่อถือให้ตัวเองได้  ยืนยันว่าสื่ออยู่บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงเสมอ กองทัพข้าศึกมาอยู่หน้าประตูแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธว่ามันคือศัตรู ที่เป็นข้อเท็จจริง สื่อทำตรวจสอบและเตือนว่าผิดพลาดตรงไหนอย่างไร ที่ไมได้ทำหน้าที่นำเสนออย่างที่รัฐต้องการ เพราะเขามีกรมประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว และสิ่งที่กังวลกับกฎหมายฉบับนี้คือ กับประชาชนทั่วไป ที่กลัวว่าจะโดนอุ้มไหม เพราะกฎหมายกินความเป็นถึงตรงนั้นตามที่นายกรัฐมนตรีโพสต์แล้ว 

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง Cofact Thailand กล่าวว่า คำว่า เฟกนิวส์ หลายองค์กรระหว่างประเทศ ไม่อยากให้ใช้ เพราะมีอดีตผู้นำนำมาใช้ดิสเครดิสสื่อ ส่วนการที่รัฐใช้กฎหมาย มองว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา ถ้าปิดกั้นให้สื่อนำเสนอ จะส่งผลกับชีวิตของคนได้  อย่างไรก็ตามสิทธิเสรีภาต้องอยู่บนความรับผิดชอบ ที่รัฐบาลทำได้คือการทำโอเพ่นดาต้าในระยะยาว เพราะอย่างเช่นเรื่องวัคซีน ถามว่าจะเช็กข้อมูลจากไหน คนจำชื่อเว็บไม่ได้ จำสายด่วนก็ไม่ได้ นั่นเป็นประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลของรัฐ และนอกจากนี้สุดท้ายแล้วก็ยังมีกฎหมายปกติในการดำเนินการกับสื่อ อาทิ พ.ร.บ.คอมฯ กฎหมายหมิ่นประมาทฯ ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกฉิน เพราะสื่อไม่ใช่อาชญากร อย่าเสียเวลาในการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ส่วนสื่อเองก็ต้องระวังพาดหัวมากขึ้น ช่วยลดดราม่าลงได้ และรัฐต้องนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้ง แล้วให้ประชาชนตัดสินว่าควรจะเชื่อใคร 

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อได้ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลหลายครั้งเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องการนำเสนอข่าวสารต่างๆ และทวงถามในที่ประชุมที่ ศบค.เชิญสื่อเข้าร่วม ก็ไม่มีคำตอบมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีคำสั่งให้ใช้กฎหมายออกมาอีก จึงไม่ทราบว่าที่ส่งเสียงไปได้ยินหรือไม่ วันนี้สิ่งที่ต้องทำจึงต้องขอให้ยกเลิกคำสั่งทั้งหมดอย่างเดียว