ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทน 6 องค์กรสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย,สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี ผ่าน อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) และข้อกำหนดในฉบับที่ 29
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอบคุณและยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารที่ดีที่สุด ในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันในวันนี้ และจะสื่อสารไปยังนายกรัฐมนตรีด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังยืนยันข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ที่ออกมาเป็นเพียงการปิดช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบัน ซึ่งมีข้อจำกัดในการบังคับใช้ เช่น จำเป็นต้องมีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลมีเจตนารมณ์เพียงยกระดับการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวปลอมรวมทั้งการกระทำที่เป็นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารด้วยความตั้งใจ ซึ่งไม่ได้เจาะจงหรือตั้งใจบังคับใช้กับสื่อมวลชนวิชาชีพ แต่เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่ามีการสื่อสารสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้นำมาจากข้อเท็จจริง ซึ่งไม่สามารถควบคุมและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สังคม ประชาชนเกิดความหวาดระแวงหรือความหวาดกลัว โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งหลายประเทศก็พบปัญหาการเผยแพร่ข้อความเท็จ/ข่าวปลอม จำนวนมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีให้นโยบายแก่หน่วยที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องระมัดระวัง เป็นธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์
ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่า เนื่องจากองค์กรวิชาชีพมีข้อห่วงใยและความวิตกกังวล ในการที่ภาครัฐได้มีการออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27 และข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรสื่อฯ ได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะข้อกำหนดฉบับที่ 29 ได้มีการปรับเนื้อหา องค์การสื่อมองว่า หน่วยบังคับใช้กฎหมายอาจใช้เป็นโอกาสในการตีความเจตนารมณ์นำไปสู่การปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการแสดงความเห็นของประชาชน จึงตัดสินใจยื่นหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงข้อห่วงใยนี้ ที่ผ่านมาองค์การสื่อได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอดทั้งกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้ง ศปก. ศบค. อย่างใกล้ชิด ผ่านช่องทางไลน์อยู่แล้ว ขอยืนยันผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นด้วยกับรัฐบาล ที่สกัดกั้นข่าวปลอมไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง
โอกาสนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนวิชาชีพ พร้อมเชิญชวนสื่อมวลชนและองค์การสื่อวิชาชีพ ร่วมกับภาครัฐในการแสวงหาพื้นที่กลาง (Common Ground) เพื่อร่วมกันออกแบบกรอบการทำงานและเป็นช่องทางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐและสื่อมวลชน รวมทั้งยังได้เพิ่มเติมให้มีการใช้ช่องทางโฆษกกระทรวง ซึ่งมีภาระหน้าที่ สื่อสารให้ข้อมูล อำนวยความสะดวกเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อประสานข้อมูล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความยินดีว่า วันนี้สื่อมวลชนและรัฐบาลเห็นพ้องร่วมกัน มีความจำเป็นต้องสกัดกั้นข่าวปลอม เพราะข้อมูลที่ถูกต้องคือประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
จากนั้น 6 องค์กรสื่อมวลชน ได้ยื่นหนังสือกับประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่องขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมรัฐบาลคุกคามการแสดงออกเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน และหารือร่วมกันกับคณะกรรมการฯ ผ่านระบบซูม โดย กสม.เมื่อเห็นประเด็นทางสังคมเกิดขึ้น พยายามจะทำงานให้เร็ว เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน