สรุป
- โซเชียลมีเดียช่วยกระจายข่าวสารการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา โดยเฉพาะบนทวิตเตอร์
- คนเมียนมาเรียนรู้กลยุทธ์การประท้วงจากพันธมิตรชานม
- เมียนมามีเครือข่ายประชาสังคมและสื่อที่เข้มแข็ง ทำให้การประท้วงเป็นไปอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ
- ขบวนการอารยะขัดขืน (CDM) ในปัจจุบันเข้มแข็งมาก เพราะเมียนมามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในการพัฒนาเครือข่ายภายในประเทศ ซึ่งแตกต่างจากไทย
เมียนมามีประวัติศาสตร์ที่ประชาชนถูกรัฐบาลทหารกดขี่มานานหลายทศวรรษ เมื่อมีการรัฐประหารในเมียนมาเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา การประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจจึงเป็นไปอย่างเข้มข้นมาก ทั้งบนท้องถนนและบนโซเชียลมีเดีย The Opener ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ลิซ่า บรูเทน อาจารย์ประจำคณะสื่อวิทยุ โทรทัศน์และดิจิทัล มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ ผู้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสื่อเมียนมาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเมืองเมียนมาในปัจจุบัน
รศ.บรูเทนกล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงบทบาทของสื่อและภาคประชาสังคมต่อการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา เธออยากจะอธิบายให้เห็นภาพเมียนมาตั้งแต่ก่อนเปิดประเทศ เธอเริ่มศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาตั้งแต่ปี 1989 ระหว่างที่ไปเป็นครูในค่ายผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงตรงชายแดน จากนั้นเธอก็ได้ติดตามพัฒนาการทางด้านสื่อมาจนถึงทุกวันนี้
“ควรทำความเข้าใจก่อนว่าการสื่อสารและโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในเมียนมา การเข้าถึงโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในเมียนมาต่ำมากก่อนปี 2011 ที่เมียนมาเปิดประเทศ แม้แต่กระทั่งเปิดประเทศแล้วในปี 2013 ก็มีคนเข้าถึงได้ไม่เกิน 10% จนปี 2014 บริษัทเอกชนได้รับใบอนุญาต และเริ่มให้บริการในปี 2015 จากนั้นเป็นต้นมาจำนวนคนเมียนมาที่เข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่คนรู้ไม่เท่าทันสื่อมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก นี่คือบริบทที่แตกต่างจากไทย”
ในปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การต่อต้านรัฐประหารในเมียนมามีพลังอย่างมาก รศ.บรูเทนกล่าวว่า “การเข้าถึงโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสำคัญมาก และการสื่อสาร ทั้งภายในประเทศเอง และกับนอกประเทศ และเราก็ได้เห็นผลของมัน ดูในทวิตเตอร์ เราได้เห็นความเคลื่อนไหวรายวัน แม้กระทั่งตอนนี้ที่มีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ ก่อนการรัฐประหาร”
“คนส่วนใหญ่เล่นเฟซบุ๊ก และก็ยังมีคนเล่นอยู่ แต่หลังรัฐประหาร เราเห็นว่ามีคนใช้ทวิตเตอร์มากขึ้น ในหมู่นักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วง รวมถึงผู้สังเกตุการณ์จากต่างประเทศด้วย ดังนั้น การใช้ทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นทำให้มีการเชื่อมต่อกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น พันธมิตรชานม ก็มีความสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างมาก”
คนเมียนมาเชื่อมต่อกับโลก
อินเทอร์เน็ตไม่เพียงแต่ทำให้เมียนมาได้สื่อสารกันเอง แต่ยังทำให้คนเมียนมาได้เรียนรู้วิธีการป้องกันตัว ยืมกลยุทธ์ในการประท้วงจากประเทศอื่นๆ รศ.บรูเทนกล่าวว่า “วิธีที่นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่เรียนรู้จากประสบการณ์ของไทย ฮ่องกงและไต้หวัน โดยเฉพาะในแง่ของการประท้วงบนท้องถนน ยุทธ์ศาสตร์และกลยุทธ์หลากหลาย ถูกแปลจากภาษาจีนเป็นภาษาพม่า เช่น วิธีการหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ วิธีการวางถุงทราย หลายๆ สิ่ง”
“ฉันคิดจริงๆ ว่า ในช่วงต้นของการประท้วง เราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ พรั่งพรูออกมาอย่างจริงจัง และหลายครั้งก็ตลกมาก แต่พื้นที่ตรงนั้นหายไปทันทีที่การกดขี่เริ่มต้นขึ้น แต่มีความสร้างสรรค์มากมาย มีศิลปะมากมาย ศิลปะพรั่งพรูออกมา ทัศนศิลป์ เพลง มีเพลงใหม่ออกมามหาศาล ซึ่งช่วยเติมไฟให้คนยังรู้สึกเข้มแข็ง เพลงแร็ปบางเพลง ฉันคิดว่าเพลงแร็ปที่ออกมาแรกๆ บางแรก ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากกลุ่ม Rap Against Dictatorship ของไทย ฉันเห็นความคล้ายกันในบางเพลง”
“สิ่งหนึ่งที่ฉันรับรู้คือคนเมียนมารู้สึกขอบคุณความช่วยเหลือใดๆ จากต่างประเทศ การรับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาไม่อาจยอมรับได้เลยนั้น มันสำคัญมากจริงๆ ดังนั้น ยิ่งไทย ฉันคิดว่ากลุ่มภาคประชาสังคมของไทยและสื่ออิสระที่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผย อะไรก็ตามที่สามารถทำได้เพื่อสนับสนุนคนเมียนมา จะเห็นผลอย่างมาก”
เมียนมามีเครือข่ายประชาสังคมและสื่อที่เข้มแข็ง
รศ.บรูเทนย้ำว่า การต่อต้านรัฐประหารอย่างแข็งขันในเมียนมานั้นไม่ได้อุบัติขึ้นมาเองในทันที แต่เป็นผลมาจากการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมและสื่อที่เข้มแข็งมากตั้งแต่ที่เมียนมาจะเปิดประเทศ
“หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เมียนมา ขบวนการอารยะขัดขืน (CDM) ในปัจจุบันเข้มแข็งมากคือ ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในการพัฒนาเครือข่ายภายในประเทศ คนเมียนมาเจอการกดขี่มาหลายทศวรรษ เคยมีเครือข่ายมากมาย ทั้งภายในประเทศ รวมถึงชุมชนใหญ่ของสื่อพลัดถิ่น นักศึกษาหลายคนที่ลี้ภัยมาทางชายแดนในปี 1988 ได้ก่อตั้งสื่อพลัดถิ่น และพัฒนาวิธีที่สร้างสรรค์มากในการรับส่งข้อมูลจากเมียนมา”
“หลังจากที่สื่อพลัดถิ่นกลับไปในประเทศ ก็มีช่วงแรกๆ ที่ไม่ไว้ใจกัน ระหว่างสื่อที่ทำงานอยู่ในประเทศกับคนที่กลับมาจากต่างประเทศ ในช่วงเปิดประเทศใหม่ๆ เป็นช่วงที่สำคัญมากในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ผู้สื่อข่าวกลุ่มต่างๆดังนั้น แม้แต่ตอนนี้ กลุ่มที่ใหม่กว่า เพิ่งเกิดขึ้นมาแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ยังยึดบทเรียนจากช่วงทศวรรษนั้น และปัจจุบันเราได้เห็นประโยชน์จากการทำงานเหล่านั้น”
“พวกเขาทั้งหมดต่างยังเก็บวิธีทำงานแบบไม่พึ่งพาเสรีภาพสื่อภายในประเทศอยู่ ยกตัวอย่างเช่น Democratic Voice of Burma เชื่อมต่อกับดาวเทียมผ่านทางไทย ซึ่งนำมาใช้ และยังถูกใช้ในการดำเนินธุรกิจ และก็มีอีกหลายยุทธศาสตร์ที่ใช้ในยุคเผด็จการทหารในการรับส่งข้อมูลจากเมียนมา ซึ่งเป็นประโยชน์มากในปัจจุบัน”
“มันไม่ใช่แค่สื่อ มันเป็นเรื่องภาคประชาสังคมด้วย มันเป็นเรื่องการหาทุน มันเกี่ยวกับการพัฒนาภาคประชาสังคม โดยเฉพาะภายใต้ระบอบเผด็จการ ที่พวกเขาจะต้อง ‘ไม่การเมือง’ เป็นเหตุผลที่ CDM ขบวนการอารยะขัดขืนถึงอยู่มายาวนานขนาดนี้ เพราะพวกเขามีวิธีในการหาทรัพยากร ซึ่งถูกพัฒนามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ”
คนเมียนมารู้เท่าทันข้อมูลบิดเบือนบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น
จากวิกฤตโรฮิงญาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกได้เห็นพิษภัยของข้อมูลบิดเบือนที่สร้างความเกลียดชังในสังคมก็นำไปสู่การปราบปรามกวาดล้างครั้งใหญ่ ส่วนหนึ่งก็มาจากความรู้ไม่เท่าทันสื่อและโซเชียลมีเดีย แต่รศ.บรูเทนก็มองเห็นว่า คนเมียนมาระมัดระวังเรื่องนี้กันมากขึ้น
“หลังจากความเฟื่องฟูอย่างรวดเร็วของโทรคมนาคมในช่วงปี 2016-2017 โดยเฉพาะในช่วงที่มีประเด็นชาวโรฮิงญา เราเห็นข้อมูลบิดเบือนจำนวนมาก แต่เราก็เห็นแคมเปญจำนวนมากที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนนั้น ภาคประชาสังคมหลายกลุ่มก่อตั้งขึ้นมา และทำงานหลายอย่าง ฝึกอบรมคนที่จะไปกระจายความรู้ให้คนอื่นต่อไป ช่วยเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในประเทศ”
“ปัจจุบัน คนเมียนมามีความตระหนักอย่างมาก โดยเฉพาะตอนนี้ เพราะภายใต้การรัฐประหาร รัฐบาลทหารพยายามจะใช้โซเชียลมีเดีย แต่ก็อีกนั่นแหละ เฟซบุ๊กกำจัดบัญชีของกองทัพและบัญชีที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบนแพลตฟอร์ม"
"เหตุผลเดียวที่ทำได้รวดเร็ว ก็เพราะภาพประชาสังคมในเมียนมาได้ ติดต่อกับเฟซบุ๊กมาสักพัก ทำงานร่วมกับเฟซบุ๊ก พวกเขาทำอย่างยากลำบาก และในช่วงแรกก็หงุดหงิดกันมากที่ไม่มีการตอบสนองในเชิงบวกจากเฟซบุ๊ก และด้วยการผลักดันๆๆ ปัจจุบัน พวกเขามีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับเฟซบุ๊ก และสามารถจะส่งข้อมูลออกไปได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก อีกครั้งที่เราเห็นผลของการทำงานหนักในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”
มองอนาคตสื่อในเมียนมา
รศ.บรูเทนกล่าวว่า เธอไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า สื่อเมียนมาจะเป็นอย่างไร หลังการรัฐประหารครั้งนี้ แต่อาจอธิบายให้ฟังได้ว่า สื่อในเมียนมาควรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เธอได้พูดคุยกับสื่อและภาคประชาสังคมในเมียนมาจำนวนมาก
“พวกเขายืนยันอย่างจริงจังว่า จะต้องมีการรื้อถอนการควบคุมของรัฐออกไปโครงสร้างพื้นฐานในการออกอากาศและการกระจายสื่อสิ่งพิมพ์ ภายใต้ระบอบเผด็จการ สื่อของรัฐบาลมีพลังมากในแง่ที่ว่ามันสถาปนาการจัดจำหน่ายแบบทั่วประเทศ และมีอำนาจควบคุมระบบการจัดจำหน่าย การออกอากาศเช่นกัน มีผู้ประกอบการกระจายเสียงเอกชน ที่ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศ ก่อนการรัฐประหาร รวมถึงสื่อพลัดถิ่นที่กลับไปบางส่วน"
"พวกเขาก็ไม่ได้ใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการร่วมทุนกันเท่านั้น ดังนั้น ถึงแม้กลุ่มนี้จะรู้ว่าพวกเขาสามารถออกอากาศในประเทศได้ แต่เขาก็รู้ว่าก๊อกนั้นถูกปิดได้ทุกเมื่อ ถ้ากองทัพหรือรัฐบาลตัดสินใจว่า ไม่ แม้แต่ช่วงก่อนรัฐประหาร ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สื่ออิสระจะสามารถตั้งได้แบบทั่วประเทศ เพราะมันมีค่าใช้จ่ายสูงมากในการจัดจำหน่าย”
การเลือกตั้งไม่ได้การันตีประชาธิปไตย
แม้พรรคเอ็นแอลดีจะเข้ามาเป็นรัฐบาลอยู่ 5 ปี แต่การทำงานของสื่อไม่ได้ง่ายหรือเสรีขึ้นกว่าช่วงที่เมียนมาอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารนัก สื่อและภาคประชาสังคมบางส่วนกล่าวว่า ยุคที่ เต็งเส่ง อดีตนายพลเป็นประธานาธิบดีเมียนมายังมีเสรีภาพมากกว่ายุคของอองซาน ซูจี
“สิ่งหนึ่งที่ฉันเรียนรู้จากภาคประชาสังคมและสื่อหลายองค์กรในช่วง 2 ที่ผ่านมาคือ ความอึดอัดใจของพวกเขาภายใต้การปกครองของรัฐบาลเอ็นแอลดี เพราะในยุคเต็งเส่ง พวกเขามีเสรีภาพมากกว่า เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและดำเนินงาน แต่น่าเสียดาย ภายใต้รัฐบาลเอ็นแอลดี มีการปราบปรามสื่ออิสระและองค์กรภาคประชาสังคม”
“หลายคนอธิบายว่า เต็งเส่งต้องการพวกเขาเพื่อความน่าเชื่อถือ เพราะรัฐบาลเต็งเส่งไม่ได้เป็นที่นิยมนัก ดังนั้น จึงต้องการสื่อในการสร้างความไว้ใจและความน่าเชื่อถือจากภาคประชาสังคม อองซาน ซูจีไม่ต้องการมัน เธอเป็นที่นิยมมากอยู่แล้วตอนเข้ามาเป็นรัฐบาล ดังนั้น มันจึงเป็นแบบนี้ว่า แค่เพียงเขาเป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ไม่ได้หมายความว่าจะมีประชาธิปไตยมากกว่า การเลือกตั้งไม่ได้การันตีประชาธิปไตย”
แม้สื่อและภาคประชาสังคมจะรู้สึกอึดอัดในการทำงานภายใต้รัฐบาลของอองซาน ซูจี แต่การรัฐประหารก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหา และพวกเขาก็ยังมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านการที่กองทัพเข้ามายุ่งกับเรื่องการเมือง
“ภาคประชาสังคมตอนนี้ ขบวนการอารยะขัดขืนไม่ยอมอ่อนข้อ นี่เป็นอีกหนึ่งความแตกต่างระหว่างไทยกับเมียนมา เมียนมาไม่มีการแบ่งขั้ว [ทางการเมือง] ทั้งประเทศ ยกเว้นไม่กี่คนที่เป็นทหาร ครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับทหาร พวกพ้องผลประโยชน์ ทั้งประเทศต่อต้านกองทัพ นั่นเป็นจุดแข็งที่ทรงพลัง ที่กองทัพไม่ได้คาดคิดไว้ พวกเขาใช้ตำราเดิมๆ แต่มันใช้ไม่ได้ผล ฉันคิดว่า พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง”