พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์กรณีรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2564 พร้อมย้ำ "ชาติคือประชาชน"
ตามที่เมื่อวานนี้ (วันที่ 29 กรกฎาคม 2564) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การห้ามเสนอข่าวหรือเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงให้อำนาจแก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว และส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีต่อไปนั้น
ต่อกรณีดังกล่าว พรรคก้าวไกลมีความเห็นดังนี้
1, การระบาดของไวรัสโควิด 19 ในปัจจุบัน อยู่ในสถานการณ์วิกฤตรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเพราะการบริหารที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเจตนาที่จะแทงม้าตัวเดียวเรื่องวัคซีน และความบกพร่องในการยกระดับระบบสาธารณะให้เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด มิได้เกิดจากการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เมื่อสถานการณ์การระบาดเข้าขั้นวิกฤตในขณะนี้ แทนที่รัฐบาลจะใช้อำนาจที่มีเร่งแก้ไขความบกพร่องผิดพลาดของตนเองในอดีต และสื่อสารกับประชาชนด้วยข้อมูลที่รอบด้านและชัดเจนไม่สับสน รัฐบาลกลับมองสื่อมวลชนและประชาชนเป็นภัยความมั่นคง แล้วใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจำกัดการเสนอข่าวสารอย่างรอบด้านของสื่อมวลชน และปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดจากการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 เมื่อวานนี้
2. การกำหนดข้อห้ามในลักษณะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ในข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ออกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 และแม้จะมีเสียงคัดค้านเป็นวงกว้างจากทั้งประชาชน นักวิชาการ รวมถึง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็หาได้รับฟังไม่ ยังคงเนื้อหาข้อห้ามไว้เช่นเดิมในข้อบังคับฉบับล่าสุดคือฉบับที่ 29 ซึ่งการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. สามารถระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้นั้นถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 ที่รับรองเสรีภาพของบุคคลในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ เนื่องจากการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการรายใดๆ นั้นหมายความว่าผู้ใช้บริการนั้นมิอาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานประการใดก็ตาม
3. พรรคก้าวไกลเคยเตือน พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลไว้ตั้งแต่ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในแถลงการณ์ของพรรคเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ว่าหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาการระบาดของโรค COVID-19 มิใช่อำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากแต่เป็นการมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนอย่างรอบคอบ เตรียมความพร้อมและประเมินผลกระทบมาอย่างรอบด้านแล้ว รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนหนักแน่นและการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังได้กำชับรัฐบาลต้องไม่ฉวยโอกาสใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินตามอำเภอใจ แต่ต้องใช้อย่างจำกัดและระมัดระวังเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหา COVID-19 เท่านั้น รวมถึงต้องไม่ฉวยโอกาสลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมีความสำคัญในช่วงเวลาวิกฤต เพื่อให้ประชาชนเท่าทันกับสถานการณ์ที่เป็นจริงและสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
ทว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา ตลอดการประกาศและต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วทั้งสิ้น 14 ครั้ง เรากลับเห็นรัฐบาลเน้นใช้อำนาจพิเศษไปกับการปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ในขณะที่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชนทั้งประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤต ทั้งการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคมาฉีดโดยเร็วที่สุด ทั้งการอนุมัติยา เครื่องมือตรวจโรค และอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ทั้งหมดนี้ควรได้รับประโยชน์จากการรวมศูนย์บริหารจัดการและลดขั้นตอนดำเนินงานโดยผลของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่กลับกลายเป็นว่าในทางปฏิบัติก็ยังคงต้องมาติดหล่มของระเบียบวิธีราชการเหมือนที่เคยเป็นมา เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และขาดหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน ทุกอย่างสับสนวุ่นวายท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนต้องเสียชีวิตไปวันละนับร้อยคน
4. ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ทันที และจากนั้นควรยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แล้วกลับไปสู่การรับมือและแก้ไขสถานการณ์ COVID-19 อย่างจริงจังภายใต้ระบบกฎหมายปรกติ โดยรัฐบาลที่สามารถแก้ไขวิกฤตได้ ไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกต่อไปแล้ว เพราะในวันนี้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นภาระอันหนักอึ้งเหลือเกินสำหรับประเทศนี้