นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ในฐานะประธาน สอจร. กล่าวถึงกรณีเกิดอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสาร สายบึงกาฬ-กรุงเทพฯ ยางแตกเสียหลักและเกิดไฟไหม้ที่บริเวณเครื่องยนต์ด้านหลังตัวรถ มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ว่า อยากเห็นการจัดการเชิงระบบ โดยเรื่องดังกล่าวควรประมวลประเด็นเชิงนโยบายที่ควรได้รับการพิจารณาระบบเพื่อความปลอดภัยของรถโดยสาร โดยไม่ควรใช้รถ 2 ชั้น เพราะนอกจากขึ้นลงลำบากแล้ว ที่สำคัญศูนย์ถ่วงสูง เกิดอุบัติเหตุง่าย ไม่ควรอนุญาตให้ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ถ้ายังไม่มีข้อห้ามใช้แก๊สควรจะจำกัดจำนวนถังที่สามารถติดตั้งได้
นพ.วิทยา กล่าวว่า จะต้องมีมาตรฐานในเรื่องตัวรถและอุปกรณ์ เช่น โครงการที่แข็งแรงไม่ขาดออกจากกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ที่นั่งต้องมีการยึดตรึงที่มั่นคง มีเข็มขัดนิรภัยและการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน ประตูทางออกฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก อุปกรณ์ต่างๆ เช่นเบาะ พรม ไม่ติดไฟ ฯลฯ รวมถึงการตรวจสอบสภาพรถ โดยบริษัทรถทัวร์ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก
ขณะที่พนักงานขับรถ ต้องมีกำหนดเกณฑ์สมรรถนะทางร่างกายและจิตใจให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งอบรมการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีระเบียบแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย เช่น แต่ละคนขับรถไม่เกิน 4 ชั่วโมง ถ้าเกินจากนั้น ต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน ต้องไม่ดื่มสุราและเสพสารเสพติด ฯลฯ
ส่วนผู้โดยสารต้องมีแนวทางการปฏิบัติตัว และแจ้งให้ทราบทุกครั้งก่อนออกเดินทาง เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่วางของกีดขวางทางเดิน เมื่อเกิดเหตุให้ออกจากรถโดยเร็ว โดยทิ้งสัมภาระไว้ในรถ ฯลฯ รวมทั้งมีสายด่วนให้ผู้โดยสารแจ้งเหตุเมื่อพบความผิดปรกติ
นพ.วิทยา กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นต้องมีระเบียบการสอบสวนสาเหตุอย่างเป็นระบบโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ต้องมีระบบเอาผิดผู้ประกอบการที่มีส่วนทำให้เกิดเหตุ ต้องมีระบบเยียวยาผู้เสียหายอย่างเหมาะสม