วันนี้ (20 ต.ค.) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อดำเนินการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา ระหว่างกรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยการลงนามความร่วมมือได้รับเกียรติจาก ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปาฐกถาพิเศษ และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม ประกอบด้วย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร, ภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
โดยชัชชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า “การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของกทม. แต่เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ แต่จริงๆ แล้วกทม. ดูแลเด็กประถมศึกษาจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กวัยประถมศึกษาทั้งหมดของ กทม. ซึ่งเด็กวัยนี้สิ่งสำคัญคือการพัฒนาการยาก และการพัฒนาการในที่นี้อาจหมายถึงการดูแลตั้งแต่ 9 เดือน จนถึงวัย 6 ขวบ และหากเด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการที่ไม่ดีหรือหลุดจากระบบการศึกษาจะกลับคืนได้ยาก หน้าที่หลักของ กทม. คือการดูแลการศึกษาให้ไม่แพ้เรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ในเรื่องของพันธะสัญญาของสังคม หรือ Social Contract โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญที่ กทม. ต้องดูแล และเป็นพันธะสัญญาที่เราต้องดูแลให้ประชาชนทุกคนได้รับความเท่าเทียมกัน ทั้งทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข เงินลงทุนที่เราให้เด็กในวันนี้คือการลงทุนให้เมืองและประเทศในอนาคต เพราะหากเด็กมีศักยภาพที่ดีได้ ในอนาคตเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ จ่ายภาษีให้เมืองและดูแลด้านอื่นๆ ต่อไป”
ซึ่งกองทุนกสศ. จะเป็นการลงทุนที่ได้ผลคุ้มค่ามากที่กว่าการลงทุนใดๆ ที่เคยมีมา เป็นผลตอบแทนที่มหาศาลมากกว่าตัวเงิน ซึ่งกทม.ควรร่วมกับกองทุนกสศ. มานานแล้ว เพราะกทม. น่าจะมีเด็กขาดโอกาสมากที่สุด เนื่องจากเราเป็นศูนย์รวมของเมืองที่มีอาชีพที่หลากหลาย และมีเด็กที่หลุดจากระบบมากมายแต่เรามองไม่เห็น ถือเป็นโอกาสดีที่เราได้มีการสำรวจเด็กกลุ่มนี้ว่ามีมากถึง 9,000 คน การเข้ามาดูแลเด็กกลุ่มนี้ของกองทุนถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่จะไม่ใช่การมีประโยชน์กับเด็กและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับเมืองและประเทศ เนื่องจากเราจะมีบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นส่วนที่เข้มแข็งในการพัฒนาเมืองและประเทศต่อไป
ด้าน ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรุงเทพมหานครครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามเจตนารมย์ในการจัดตั้ง กสศ. ในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาให้ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาอย่างเสมอภาคและทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้กองทุนดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความยั่งยืน โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระยะเวลา 3 ปีฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ 5 ประการที่สำคัญ ได้แก่
1. สนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข และระบบการติดตามของสถานศึกษาสังกัด กทม. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ที่สอดคล้องกับความถนัดและพัฒนาตนเองตามศักยภาพเป็นรายบุคคล
2. ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการหรือด้อยโอกาสให้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ
3.สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาครู และสถานศึกษาสังกัด กทม. ที่สอดคล้องกับความต้องการและส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของนักเรียน
4.บูรณาการฐานข้อมูลการความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
5.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออื่นใดที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือ ส่งเสริมนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ และด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูของสถานศึกษาสังกัด กทม.
ไกรยส กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ กสศ. และ กทม. จะร่วมกับสำนักการศึกษา สำนักงานเขต และสถานศึกษาสังกัด กทม. ในการร่วมกันวิจัยพัฒนานวัตกรรมต้นแบบระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนในสถานศึกษาสังกัด กทม. ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาฐานและเชื่อมโยงฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของ กทม. และ กสศ. รวมทั้งการจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือและส่งต่อโอกาสสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ และด้อยโอกาส ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาระดับที่สูงกว่าภาคบังคับทั้งในและนอกระบบการศึกษาให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนา หรือเพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ หรือการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์หรือวิกฤตต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น
โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำแก่กลุ่มเป้าหมายใน กทม. 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่
1. นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด กทม. กสศ. จะสนับสนุนเครื่องมือการคัดกรองข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ และเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนมอภาคในสถานศึกษาสังกัด กทม. ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอน
2. เด็กเยาวชนวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่ กทม. กสศ. จะสนับสนุนกลไกการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัด กทม. ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนของ กสศ. เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติทางการศึกษา หรือได้รับการศึกษาตามศักยภาพหรือบริบทของตนเองต่อไป
3. ครู และสถานศึกษาสังกัด กทม. กสศ. จะสนับสนุนการพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาในสถานศึกษาสังกัด กทม. ต้นแบบทั้ง 50 เขต เพื่อสนับสนุนการขยายผลยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาสังกัด กทม.
นอกจากนั้น กสศ. และองค์กรภาคีทั้งในประเทศ และต่างประเทศจะร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ นวัตกรรมการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การติดตามผลการดำเนินงานตามความร่วมมือนี้ รวมทั้งการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ