ในระบอบการบริหารแบบประชาธิปไตยย่อมต้องสร้างอำนาจถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ เพื่อมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจมากเกินไปและลุแก่อำนาจ จนสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศ อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ระลอกสามของไทยได้สร้างความโกลาหล ความเสียหายต่อเศรษฐกิจสังคมขึ้นอีกครั้ง ซึ่งรัฐที่มีหน้าที่ในการประกันความปลอดภัยของชีวิตประชาชนจึงต้องมีมาตรการบางอย่างเข้าแก้ไขช่วยเหลือ และปัญหาของโควิด-19 เป็นปัญหาซับซ้อนและวิกฤติที่ต้องอาศัยองคาพยพหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาลและประชาชน กระทรวงทุกกระทรวงในการบูรณาการแก้ปัญหาทั้งระบบไปด้วยกัน
รูปแบบการบริหารรัฐกิจในสถานการณ์ปกติจึงมิอาจแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีเมื่อมีวิกฤติโควิด-19 เกิดขึ้น และมีความจำเป็นที่รัฐต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นเพื่อรวบรวมอำนาจพิเศษแก่ฝ่ายบริหาร และใช้อำนาจดังกล่างเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ
อำนาจสถานการณ์ฉุกเฉินของฝรั่งเศส และเยอรมนี
อำนาจสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจเหลือล้น ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างเข้มงวดก่อนที่จะให้ผู้นำฝ่ายบริหารประกาศใช้ออกมา อย่างกรณีฝรั่งเศสได้กำหนดไว้ในมาตรา 16 แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสให้ประธานาธิบดีสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้ กรณีที่มีภัยอย่างร้ายแรงต่อสาธารณรัฐ ต่อเอกราช ต่อความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ หรือมีผลต่อการขัดขวางการทำงานของรัฐธรรมนูญ
ซึ่งหลักการที่ใช้อำนาจฉุกเฉินดังกล่าวรัฐบาลสามารถพิจารณาใช้เฉพาะบางส่วนของอำนาจหรือประกาศเฉพาะบางพื้นที่ รวมถึงอำนาจที่ใช้ต้องได้สัดส่วนกับภัยพิบัติที่เผชิญในปัจจุบัน และต้องไม่เป็นภัยพิบัติต่อเสรีภาพของประชาชน การประกาศสภาวะฉุกเฉินจึงมักประกาศใช้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติสงคราม กรณีเกิดภัยพิบัติต่อระบอบประชาธิปไตยภายในประเทศ หรือเกิดจากภัยธรรมชาติเป็นต้น
ส่วนประเทศเยอรมนีก็มีกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินในทิศทางเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ ของฝรั่งเศสระดับอำนาจฉุกเฉินมีหลายระดับโดยที่ระดับสูงสุดที่เรียกว่า presidential exceptional powers เป็นอำนาจที่ประธานาธิบดีสามารถประกาศใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา และต้องใช้ในกรณีร้ายแรงที่สุด รวมถึงภายหลังจากประกาศใช้ 30 วันแล้ว รัฐสภามีอำนาจตรวจสอบพิจารณาการยกเลิกใช้อำนาจดังกล่าว ส่วนของเยอรมนีจะต้องมีการรับรองจากเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาก่อนเพื่อพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่ประสบเป็นวิกฤติรุนแรงและจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ
ส่วนมาตรการที่ฝ่ายบริหารทำได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินในการควบคุมโควิด-19 ได้แก่ การจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชนออกนอกอาณาเขต การห้ามประชาชนออกนอกอาณาเขตุที่พักยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็นทางสุขภาพเร่งด่วน ให้อำนาจฝ่ายบริหารออกมาตรการต่างๆเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ อำนาจในการแยกผู้ติดเชื้อกักจัวออกจากผู้อื่น ประกาศปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ ร้านค้า ออกมาตรการรวบรวมสินค้า เวชภัณฑ์ของจำเป็นต่างๆเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ หรือให้แก่บุคคลที่จำเป็นต้องใช้ กำหนดราคาสินค้าบางชนิดอย่างชั่วคราว ออกมาตรการอื่นๆเพื่อผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล และมาตรการท้ายสุดที่ใช้ในกรณีรุนแรงคือ การออกมาตรการอื่นๆที่ละเมิดเสรีภาพประชาชน แต่มาตรการดังกล่าวต้องใช้เพื่อผลประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
ซึ่งการระบาดระลอกที่หนึ่งในยุโรปเมื่อปีที่แล้ว (63) รัฐบาลฝรั่งเศส และเยอรมนีก็ใช้อำนาจสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อผลประโยชน์สาธารณะและต่อสู้โควิด-19 อาทิเช่น การระดมทรัพยากรการแพทย์จากคลินิก โรงพยาบาลเอกชน ห้องตรวจปฏิบัติการการแพทย์เอกชน เพื่อนำมาใช้ในขยายวงกว้างการตรวจ ขยายการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของระชาชน มาตรการควบคุมราคาสินค้าของใช้จำเป็นประจำวัน รวมถึงสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันโรค มาตรการล็อกดาวน์ห้ามมิให้ประชาชนออกนอกที่พักหรือเคลื่อนที่ออกนอกพื้นที่ สั่งปิดสวนสาธารณะหรือร้านค้าต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวก็ต้องถูกใช้ให้ได้สัดส่วนต่อความเสี่ยง และต้องประกาศเลิกใช้ทันทีเมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติแล้ว อย่างเช่น กรณีเยอรมนีก็ได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดระลอกแรกสำเร็จ
แต่สำหรับประเทศไทยหลังจากมีการประกาศอำนาจสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อปลายเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ก็ไม่มีการประกาศยกเลิกแต่อย่างใดเมื่อสถานการณ์ระบาดได้คลี่คลายลง อำนาจของฝ่ายบริหารถูกแช่ค้างไว้อย่างไม่มีเหตุผล และไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ อีกทั้งมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการมาตลอดหนึ่งปีล้วนตั้งคำถามแก่ประชาชนว่า มาตรการควบคุมโรคที่รัฐบาลใช้มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมโควิด-19 หรือควบคุมสิทธิเสรีภาพประชาชนไทย?