สรุป
- การระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ที่โหมกระแสเรียกร้อง 'วัคซีนเสรี' เปิดให้เอกชนนำเข้า อาจเป็นตัวสะท้อนชัดถึงการขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐบาล
- ท่ามกลางเสียงวิจารณ์หนัก ล่าสุด นายกรัฐมนตรีไฟเขียว ดึงภาคเอกชนร่วมจัดหา “วัคซีนทางเลือก”
- นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเผย ได้วางแนวทางว่าหากฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลเอกชนต้องทำประกันพ่วง โดยบริษัทประกันจะรับผิดชอบหากต้องรักษาตัวหรือเสียชีวิตจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน
- นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพตั้งคำถามถึงประเด็นความรับผิดทางการแพทย์หากเกิดความผิดพลาดหรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนกับเอกชน ซึ่งถือเป็นการฉีดโดยสมัครใจ พร้อมชี้ว่าถึงที่สุดแล้ว "ไม่ควรปล่อยเสรี" รัฐยังต้องทำหน้าที่ดูแลเรื่องคุณภาพวัคซีน ความปลอดภัยและราคา
การระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ในประเทศเรียกได้ว่าสร้างความกังวลอย่างยิ่ง ทั้งในทางสุขภาพและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่น่าจะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดและมาตรการรัฐในการควบคุมโรคจาก 2 ครั้งก่อนหน้านี้
นอกจากความไม่พอใจต่อประเด็น “ติดคนรวย-ซวยคนจน” จากกรณี “คลัสเตอร์ทองหล่อ” สิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักไม่แพ้กันคือแผนการจัดหาและกระจายการฉีดวัคซีนของรัฐบาลไทย ที่ล่าช้าเมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านและรัฐยังจัดหาวัคซีนไว้เพียงแค่ 2 ตัว ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามอีกเช่นกันต่อประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ จนเกิดกระแสเรียกร้องของคนจำนวนไม่น้อยให้รัฐเปิด “วัคซีนเสรี” ให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ เพื่อให้ประชาชนที่พอมีกำลังจ่ายเข้าถึงวัคซีนได้กว้างขวางขึ้น มีตัวเลือกวัคซีนมากขึ้น ลดความรุนแรงของการระบาด และสามารถกลับมาเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปรากฏการณ์เรียกร้องให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม คือตัวสะท้อนชัดเจนว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐ
ล่าสุด (9 เม.ย.) 'พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรีเปิดไฟเขียวให้ภาคเอกชนจัดหา “วัคซีนทางเลือก” ให้กับประชาชน หลังการหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยระบุว่าที่ประชุม ศบค. เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม มี 'นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร' อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธาน
ในวันเดียวกัน 'นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน' โฆษกศบค. ก็ได้เผยว่า เพื่อให้วัคซีนเพียงพอกับการฉีดให้ประชาชนครบ 45 ล้านคนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ยังจำเป็นต้องมีวัคซีนเพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส จึงต้องหาวัคซีนทางเลือก ซึ่งทางโรงพยาบาลเอกชนเสนอตัวว่ามีความสามารถเชื่อมโยงกับเอกชน แต่ขอให้รัฐอำนวยความสะดวก เพราะผู้ผลิตวัคซีนต้องการจดหมายรับรองจากภาครัฐ หรือให้องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อแล้วให้เอกชนไปขอแบ่งซื้อ ซึ่งมีการคุยกันในหลายแนวทาง
ฉีดวัคซีนกับเอกชน ประกันรับผิดชอบ
คำถามสำคัญที่ตามมากรณีเปิดทางให้สามารถเลือกฉีดวัคซีนกับเอกชนได้ นั่นคือหากเกิดอาการแพ้หรืออาการไม่พึงประสงค์ขึ้นมาจากการฉีด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?
ก่อนหน้านี้ก็มีคำอธิบายของ 'ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ' หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊กเพื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมเอกชนถึงนำเข้าวัคซีนไม่ได้ว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่การรับผิดชอบหากเกิดอาการข้างเคียง เพราะวัคซีนโควิดในปัจุบันทั่วโลกขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉินเกือบทั้งหมด ดังนั้นการใช้ในแต่ละประเทศ รัฐบาลก็จะรับผิดชอบเอง บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะไม่เจรจากับภาคเอกชน และไม่เข้ามารับผิดชอบร่วมด้วยกรณีผู้รับวัคซีนเกิดอาการแทรกซ้อนหรือไม่พึงประสงค์
ซึ่ง ศ.นพ. ยง ยังได้เคยเสนอไว้ในโพต์ดังกล่าวว่า ทางออกที่จะทำให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ก็อย่างเช่น “ภาคเอกชนต้องรวมตัวกันเจรจากับภาครัฐ และทางฝ่ายรัฐหรือตัวแทนภาครัฐจะต้องเป็นคนเจรจากับบริษัทวัคซีน จะต้องรับรองหรือมีเงินกองทุนรับผิดชอบ กรณีมีปัญหาของวัคซีน เช่น อาการไม่พึงประสงค์ เพราะถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาครัฐ”
ล่าสุด 'the Opener' ได้สอบถาม 'ศ.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์' นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ถึงการคุ้มครอง หากเปิดให้ฉีดวัคซีนจากเอกชนได้แล้วผู้รับวัคซีนเกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ โดยนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนระบุว่า มี 2 ประเด็นสำคัญที่เห็นชอบร่วมกันเป็นแนวทาง คือ
1.เมื่อโรงพยาบาลซื้อวัคซีนป้องกันโควิดผ่านองค์การเภสัชกรรม ภาคเอกชนก็ต้องบันทึกหลักการของ 'หมอพร้อม' เหมือนกัน และ 2. การฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลเอกชนว่าจะต้องมีประกันพ่วงด้วย โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ หรือแม้แต่การเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน
“ภาคเอกชนเมื่อฉีดวัคซีน เราจะมีค่าฉีดนะครับ ส่วนค่าวัคซีนเนี่ย เราอยากจะทำให้เหมือนราคาเดียวกันเพื่อทุกคนที่เดือดร้อนอยู่ตอนนี้ แล้วก็จะแถม ก็จะมีค่าประกันในกรณีต้องแอดมิดจากผลข้างเคียงของวัคซีน ก็จะเบิกได้ 100,000 บาท ในกรณีเสียชีวิตก็เบิกได้ 1 ล้านบาท ค่ากรมธรรม์ไม่เกิน 100 บาท เป็นการพ่วงกันไปเลยครับ” ศ.นพ.เฉลิม กล่าว
ปล่อยเสรีเลยไม่ได้ รัฐยังต้องดูแลความปลอดภัย-ราคา
ยังมีความเห็นจาก 'ภาคภูมิ แสงกนกกุล' อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องความรับผิดทางการแพทย์หากเกิดผลกระทบจากวัคซีนในประเด็นวัคซีนเสรี ซึ่งอาจารย์ภาคภูมิมองว่าที่ไทยกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนนัก อย่างกรณีฝรั่งเศส หากเป็นวัคซีนที่มีการบังคับฉีดจากภาครัฐ หากเกิดความผิดพลาดก็คือรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่การฉีดกับเอกชน เป็นการฉีดโดยสมัครใจระหว่างคนฉีดกับคนรับการฉีด หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ในแง่กฎหมายสากล บริษัทยาหรือโรงพยาบาลเอกชนปัดความรับผิดไม่ได้ แม้จะมีหนังสือสละสิทธิ์ฟ้องร้องก็ตาม
ทั้งนี้ อาจารย์ภาคภูมิยังมองว่าประเทศที่เปิดให้เอกชนเข้ามารับหน้าที่จัดการเป็นเพราะเกิดจากการจองวัคซีนไม่ทัน ซึ่งถึงที่สุดแล้วจะปล่อยเสรีไม่ได้ ยังคงต้องมีการกำกับดูให้ดี ถ้าเอกชนนำเข้าก็ต้องดูเรื่องความปลอดภัย หากเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงเรื่องราคาด้วย