สรุป
- กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนฝนตกหนักประเทศไทย ส่งผลกระทบถึง 9 ก.ย. ทำให้ขณะนี้หลายพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง
- ปภ. แจ้งมีหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก กำลังระดมเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือ
- ฟาร์มไก่ 6 โรงเรือนที่จังหวัดระยองถูกน้ำท่วมทำให้ไก่ 140,000 ที่เลี้ยงไว้ตายทั้งหมด คาดมูลค่าเสียหาย 10 ล้านบาท
- เทศบาลนครรังสิต - อบต.ราชาเทวะ แจ้งเตือนประชาชนให้เก็บของขึ้นที่สูง และอพยพออกจากทางน้ำไหล
- 'ชัชชาติ' คิดว่าลงทุนกับคลองดีกว่า ยุทธศาสตร์ระยะยาวคือต้องทำคลองให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงให้หมด
วานนี้ (11 ก.ย.) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมรับทราบปัญหาในเขตบางเขน ตามโครงการ “ผู้ว่าฯ สัญจร 50 เขต” ก่อนตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมขัง ได้แก่ ชุมชนหลังตลาดยิ่งเจริญ และคอนโดฯ บริเวณถนนเทพรักษ์ บริเวณจุดก่อสร้างสะพานข้ามแยกถนนเทพรักษ์ พร้อมตรวจเยี่ยมลานกีฬา ตลาดนัดชุมชน และดนตรีในสวน ณ ชุมชนสินทรัพย์นคร
ผู้ว่าฯ เปิดเผยว่า เขตบางเขนมีปัญหาหลักคือเรื่องน้ำท่วม มีคลองหลักคือคลองลาดพร้าวซึ่งขณะนี้น้ำยังสูงอยู่ เกิดจากฝนตกหนักในช่วงเดือนนี้ จะเห็นได้ว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ฝนตกเยอะ หลายปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนก.ย. มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งกรุงเทพฯ ประมาณ 320 มิลลิเมตร ตอนนี้เกินแล้ว จากวันที่ 1 - 10 ก.ย. 65 มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 330 มิลลิเมตร เป็นสภาวะที่ฝนตกรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบางเขน ปริมาณฝนสะสมสูงถึง 178 มิลลิเมตร ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดคือการดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากที่ดูเมื่อคืนนี้ถนนหลักในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากคลองที่มีปัญหาน้ำลดลงได้ค่อนข้างเร็ว
ปัจจุบัน กทม. มีคลองหลัก ๆ ที่มีปัญหาระดับน้ำในคลองเกินค่าวิกฤต อยู่ 3 คลอง ได้แก่ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และคลองประเวศบุรีรมย์ มีเขตที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ลาดกระบัง บางเขน ดอนเมือง สายไหม และหลักสี่ ซึ่งต้องเร่งระบายน้ำออกในช่วงจังหวะที่ฝนลดลง
จากการติดตามไล่ดูทั้งหมด ชุมชนฝั่งบางเขน บริเวณถนนรามอินทรา ฝั่งเลขคี่ จะมีปัญหาคือคลองไม่สามารถระบายน้ำไปลงคลองลาดพร้าวได้ จึงต้องมีแผนในการบล็อกน้ำแล้วดูดออก ซึ่งตามที่ผอ.เขตรายงานคาดว่าถ้าฝนไม่ตกลงมาหนักมาก ภายใน 2 วัน น้ำน่าจะยุบลงเกือบหมด โดยตอนนี้มีการช่วยดูแลและบรรเทาปัญหาให้แก่คนในพื้นที่น้ำท่วมแล้ว
น้ำท่วมด้วยข้อจำกัดทางกายภาพ ระยะยาวต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลอง
ในส่วนของถนนเทพรักษ์ ซึ่งเชื่อมกับถนนรามอินทราฝั่งเลขคี่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขังนานนั้น น้ำจะต้องไปลงคลองลำผักชีแล้วจึงไปลงคลองลาดพร้าวซึ่งตอนนี้น้ำเต็ม ตามหลักการระบายน้ำ น้ำต้องไปลงคลองย่อย แล้วค่อยไปลงคลองหลัก ซึ่งเมื่อคลองหลักเต็ม น้ำก็จะวนกลับหากสูบน้ำ จึงจะต้องมีการบล็อกตามพื้นที่ เพื่อให้สามารถดูดน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ แต่อย่างที่เรียนว่าเป็นอิทธิพลของฝนที่ตกมาเกินกำลังของคลอง ทั้งนี้ ได้กำชับสั่งการให้ไปดูว่ามีผลมาจากเรื่องของการก่อสร้างด้วยหรือไม่ มีเศษหิน เศษปูน หรือทรายในท่อระบายน้ำหรือไม่ และต้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในจุดที่น้ำท่วมขังนานด้วย
ข้อเท็จจริง แต่ก่อนรามอินทราคือคันกั้นน้ำของ กทม. ถนนรามอินทราเลขคี่เป็นถนนที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพน้อยลง ในระยะยาวคงต้องปรับถนนให้สูงขึ้น
ในส่วนของคอนโดฯ บริเวณถนนเทพรักษ์ ที่น้ำท่วมชั้นใต้ดิน ต้องแก้ด้วยการสูบน้ำออก ซึ่งตอนนี้ปั๊มน้ำเราเต็มกำลัง เนื่องจากกระจายไปอยู่ที่สุขุมวิท 71 ที่มีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ เช้านี้ก็ได้ให้ทางสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปช่วยดู รวมทั้งดับเพลิงด้วย สำหรับเคหะรามอินทราก็เป็นจุดต่ำ ต้องใช้วิธีสูบออกลงคลอง ยกเว้นจะยกพื้นให้สูงขึ้น เพราะนี่คือข้อเท็จจริงทางกายภาพ โดยในระยะยาวต้องทำคลองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านคลองลาดพร้าว คลองเปรมฯ เอง ก็มีปัญหาเรื่องเขื่อน จะเห็นว่าเรามีชุมชนบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองอยู่ พอทำเขื่อนไม่เสร็จ เราไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพคลองได้ ท้องคลองอยู่ระดับที่ -2 เมตร ควรจะกดไปถึง -3.5 เมตร ถ้ากดท้องคลองได้ก็สามารถรับน้ำและดันน้ำไปได้มากขึ้น เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันไม่ว่าจะเป็นการทำบ้านมั่นคง การดูแลคนที่อยู่ริมคลอง ทำเขื่อนต่อให้เสร็จ และทำการลอกคลอง ถ้ามีบ้านรุกล้ำอยู่ แล้วเราลอกคลองก็มีโอกาสที่บ้านจะสไลด์ลงมาได้
โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำบ้านมั่นคงที่ลาดพร้าว โดยทำเขื่อนได้หลายช่วงแล้ว คลองเปรมฯ ช่วงจตุจักรก็เช่นเดียวกันทำได้เยอะแล้ว แต่ก็ยังมีบ้านที่รุกล้ำอยู่ซึ่งเป็นอุปสรรค แต่ก่อนก็พอจะระบายได้เพราะบ้านเรือนไม่มี พอเราใช้ 2 แนวนี้เป็นตัวระบายน้ำหลักเหนือ-ใต้ อันนี้คือจุดหัวใจ
ถามว่าอุโมงค์ระบายน้ำช่วยไหม มันช่วยเป็นจุด อย่างคลองเปรมฯ ก็มีอุโมงค์ แต่อุโมงค์ระบายน้ำอยู่ปลายทาง น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์ มันต้องดันน้ำไปให้ถึง ถามว่าจะทำอุโมงค์รับน้ำได้ไหม ก็ต้องลงทุนอีกเป็นหมื่นล้าน จึงคิดว่าลงทุนกับคลองดีกว่า ยุทธศาสตร์ระยะยาวคือต้องทำคลองให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงให้หมด
'ชัชชาติ' เชื่อ ไม่มีการวางงาน ขอบคุณคำแนะนำ พร้อมรับไปปรับปรุง
ช่วงนี้ก็มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเยอะ ว่าเราต้องทำอะไร อันนี้ต้องเรียนว่ายุทธศาสตร์เรามีอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าอาทิตย์แรกที่เรามา เราได้คุยกับกรมราชทัณฑ์เลย เรื่องลอกท่อ เพราะรู้ว่าจุดบอดคือเส้นเลือดฝอยที่ไม่สามารถพาน้ำไปได้ เรามีการดูปั๊ม และพยายามลอกคลอง นี่คือสิ่งที่เราทำได้ในช่วงนี้ จริง ๆ แล้วเราก็มีแผนชัดเจนว่าจะทำอะไร เราร่วมมือกับทุกหน่วยไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ ทหาร กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด เพราะเราต้องประสานความร่วมมืออยู่แล้ว มันมีเงื่อนไขทางด้านกายภาพอยู่ คือฝนตกหนักจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ท่วมจังหวัดเดียว ปทุมธานีก็ท่วม ปากน้ำ สมุทรปราการก็ท่วม ส่วนในอนาคตต้องเพิ่มกำลังและประสิทธิภาพเขตในการช่วยเหลือประชาชน
ผู้ว่าฯ ได้ให้ความเห็นในเรื่องที่นักข่าวถามว่า มีการสร้างสถานการณ์หรือการวางงานหรือไม่ ว่าไม่ได้คิดเรื่องนี้ ชีวิตต้องมองบวก เชื่อว่าทุกคนอยากทำงานร่วมกันในข้อกำหนดที่มี ต้องขอบคุณที่ช่วยแนะนำในมุมมองที่เราอาจจะไม่เคยคิด อันไหนที่ปรับปรุงได้ก็จะปรับปรุง เท่าที่ดูคิดว่าทุกคนร่วมมือกัน
ส่วนเรื่องโยกย้าย อาจจะมีคนที่ผิดหวัง แต่เชื่อว่าไม่มีผลอะไรทำให้เกิดผลลบได้ เชื่อว่าข้าราชการส่วนใหญ่อยากจะทำงานอยู่แล้ว และทุกคนก็คิดถึงอนาคตอีกไกล อย่าง ผอ.เขตทุกท่านก็ร่วมลงลุยกับเรา ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่ก็ขอขอบคุณสำหรับข้อสังเกต เราก็รับดูทุกท่าน หรืออย่างการระบายน้ำลาดกระบัง เรารู้อยู่แล้วว่าต้องออกไปคลองพระองค์เจ้าฯ เข้ามาด้านล่าง หรือลงด้านใต้ แต่การออกไปพื้นที่อื่นนั้น กรมชลประทานเป็นผู้ตัดสินใจ เราไม่สามารถทำได้เพราะเกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ ถ้าต่างคนต่างบริหารน้ำตัวเอง สุดท้ายอาจทะเลาะกันหมด ฉะนั้น ต้องให้กรมชลประทาน ซึ่งดูแลรับผิดชอบภาพรวมเป็นผู้กำหนดว่าจะสูบออกเท่าไร ให้เข้ามาข้างในเท่าไร ที่เหลือข้างในเราจัดการเองว่าจะส่งน้ำเข้าอย่างไร
"มีคนติ เราก็ต้องไปปรับปรุง สำหรับการทำงานร้อยวันที่ผ่านมาคิดว่าเราทำเต็มที่ เชื่อว่าเรื่องน้ำท่วม เราทำได้ดี อย่างเมื่อคืนถนนหลัก ๆ ก็แห้ง ถ้าไม่ติดเงื่อนไขเรื่องกายภาพ ที่คลองมันล้นจริง ๆ อย่างเมื่อวานเส้นเลือดฝอยที่เราไปขุดไปลอกท่อหลายจุดก็ลงได้เร็วขึ้น ซึ่งการทำงานก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด แต่ก็น้อมรับทุกความเห็นและจะพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น" ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
หลายพื้นที่ทั่วประเทศเผชิญน้ำท่วมหลังฝนตกหนักหลายวัน ทำให้น้ำระบายไม่ทัน
ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่าน กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนเรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และจะมีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 5-9 ก.ย. เป็นต้นไป
ภายหลังที่มีการประกาศของกรมอุตุฯ ทั่วประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่ภาคเหนือไปจนถึงภาคใต้ของประเทศไทย และไม่ใช่ว่าฝนเพิ่งจะตกหนัก เพราะก่อนหน้าช่วงเดือน ส.ค. 2565 ประเทศได้รับผลกระทบจากพายุ 2 ลูกคือ 'มู่หลาน' ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเหนือกับภาคอีสานของไทย และ 'หมาอ๊อน' พายุที่กรมอุตุฯ ประกาศว่าไม่ส่งกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง
พายุทั้งสองลูกทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องมาตลอด จนกระทั่งประกาศเตือนล่าสุดของกรมอุตุฯ ที่ออกเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ทำให้ขณะนี้หลายจังหวัดทั่วประเทศตกอยู่ในสภาพน้ำท่วมทั้งบ้านเรือน และถนนทำให้สัญจรเดินทางลำบาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. แจ้งข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ว่า ขณะนี้มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว 7 จังหวัด คือ จันทบุรี, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุทธยา, แพร่, ระยอง, ลำปาง และลำพูน แต่ตอนนี้คาดว่าจะมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกและทำให้น้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น
เทศบาลนครรังสิต ขึ้น 'ธงแดง' เตือน ปชช. ขึ้นที่สูง
วันนี้ (8 ก.ย.) ปภ. รายงานว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณสะพานแดง ในพื้นที่ตำบลประชาธิปปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับเทศบาลนครรังสิต พบว่าหลายพื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ได้ตามธรรมชาติ โดยสถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำสูงในระดับเดียวกับริมเขื่อนสะพานแดง ซึ่งทางเทศบาลนครรังสิตได้วางแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังนี้
1. จัดตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์น้ำท่วม โดยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถเขียนคำร้องได้ที่จุดดังกล่าว
2. เร่งดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง โดยใช้เครื่องสูบน้ำ จำนวน 50 เครื่อง โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจาก อบจ. และศูนย์ ปภ.เขต 1 ปทุมธานี
3. ดำเนินการแจกกระสอบและทราย เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ป้องกันบ้านเรือน
4. ดำเนินการปั้นคันดิน และนำกระสอบทรายปิดท่อระบายน้ำ บริเวณสะพานแดง ในจุดที่ต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ล้นเข้ามาในพื้นที่
ส่วนที่เขตเทศบาลนครรังสิต โดยเพจเทศบาลนครรังสิต ได้โพสต์แจ้งเตือนประชาชน โดยรายงานสถานการณ์ระดับน้ำ ในเขตพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ย.565 เวลา 08.00 น. ระบุว่า ระดับน้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เขื่อนสะพานแดง ระดับน้ำ : 1.78 เมตร "ธงส้ม" สภาวะระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงอันตราย ให้อพยพเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และต่อมาเมื่อเวลา 13.07 น. เว็บไซต์เทศบาลนครรังสิต ได้โพสต์แจ้งเตือน "ขึ้นธงแดง" ระบุสถานการณ์น้ำว่า ระดับน้ำบริเวณริมเขื่อนสะพานแดง อยู่ที่ระดับ 1.81 เมตร มีความเสี่ยงอันตรายสูงสุด ให้อาศัยอยู่ในที่ปลอดภัย พร้อมแจ้งปิดถนนตั้งแต่สะพานฟ้า - สะพานแดง คลองหนึ่ง เนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์เอ่อล้นเข้ามาท่วมในถนนเป็นจำนวนมาก โดย ห้ามรถทุกชนิด สัญจรผ่านแล้ว
ส่วนที่จังหวัดสระแก้ว รายงาน เกิดฝนตกหนักวัดปริมาณน้ำฝนได้ 96.3 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่อำเภอวังน้ำเย็น ดังนี้
-ตำบลวังน้ำเย็น เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 10 บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 20 หลังคาเรือน รวมถึงถนนสาย317 (จันทบุรี-สระแก้ว) หน้าปั้ม PT – บ้านจัดสรร ส.สุริยันต์ ระดับน้ำสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตรทั้งสองฝั่ง โดยรถสามารถผ่านได้เพียงฝั่งละ 1 ช่องจราจร
-ตำบลคลองหินปูน เกิดน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมในพื้นที่หมู่ที่ 3 และหมู่ 10 มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 10 หลังคาเรือน
-ตำบลทุ่งมหาเจริญเกิดน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมในพื้นที่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 16 มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 10 หลังคาเรือน รวมถึงถนนภายในหมู่บ้าน แต่รถยังสามารถสัญจรผ่านได้
เบื้องต้น ปภ.สระแก้ว ประสานหน่วยงานในพื้นที่เข้าให้ความช่วยเหลือ และเร่งสำรวจความเสียหาย ทั้งนี้ ยังคงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ออกประกาศด่วน เตรียมอพยพของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะประชาชนที่บ้านเรือนอยู่ริมคลอง หลังมีรายงานว่าระดับน้ำในคลองสำโรง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
น้ำป่าไหลทะลักท่วมฟาร์มไก่ที่ อ.แกลง ตายหมด 1.4 แสนตัว
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคตะวันออกที่ จ.จันทบุรี, ระยอง และปราจีนบุรี มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยแต่ละพื้นที่มี ปภ.จังหวัดเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว
แต่ที่จังหวัดระยอง อธิพงษ์ ตันศิริ ปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอแกลง จ.ระยอง รับแจ้งว่าเกิดกระแสน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และ ฟาร์มไก่ ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ในพื้นที่ ต.บ้านนา ต.กระแสบน อ.แกลง จึงพร้อมด้วยบุญสืบ แกล้วกล้า กำนัน ต.กระแสบน, สมคิด ปราดเปรื่อง กำนัน ต.บ้านนา และ เจ้าหน้าที่ อส.อำเภอแกลง เจ้าหน้าที่กู้ภัยพุทธศาสตร์สงเคราะห์ และ ภาคเอกชน เดินทางไปตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือ จากการตรวจสอบพบว่า ต.กระแสบนพบมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ที่ถูกน้ำท่วมสูง ส่วนที่ ต.บ้านนา มีพื้นที่ทั้งหมด 13 หมู่บ้านถูกน้ำท่วม ถ.สายอู่ทอง ซึ่งเป็นถนนสายหลักเข้าหมู่บ้าน ไม่สามารถสัญจรไปมาได้
เบื้องต้นได้มีเจ้าหน้าที่อส. และ กู้ภัย ใช้เรือท้องแบนเดินทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในพื้นที่ที่ถูกตัดขาด โดยสามารถช่วยเหลือชาวบ้านออกมายังที่ปลอดภัยทั้งหมดแล้ว
นอกจากนี้ยังพบว่าฟาร์มเลี้ยงไก่ ของบุญสืบ กำนัน ต.กระแสบน ซึ่งถูกน้ำท่วมจนเสียหายทั้งหมด เข้าไปตรวจสอบพบว่า ไก่ที่เลี้ยงไว้ 6 โรงเรือน ถูกน้ำท่วมจนตายทั้งหมด โดยมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร
บุญสืบ เล่าว่า ไก่ที่เลี้ยงไว้ ทั้งหมด 6 โรงเรือน จำนวน 140,000 ตัว ตายทั้งหมด น้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ช่วยอะไรไม่ได้เลย โรงเรือนยังได้รับความเสียหายด้วย สำหรับมูลค่าความเสียหาย ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ส่วนซากไก่ ได้มีผู้เลี้ยงปลาดุกมาขอรับซื้อไปทำอาหารปลาดุกแล้ว
กทม. แถลงสถานการณ์ "น้ำฝน" คาดแนวคันกั้นน้ำยังรับมือได้
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. แถลงสถานการณ์น้ำ (ฝน) ระบุว่า ฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้ นอกจากจะเป็นฝนในฤดู แล้วยังได้รับแจ้งจากกรมอุตุฯ ว่า ในช่วงนี้ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนครอบคลุมมาทางด้านบนทางภาคเหนือของประเทศ ประกอบกับมีร่องมรสุมที่พาดผ่านทางภาคกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก รวมถึงลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดอยู่แล้วในฤดูฝน พาความชื้นเข้ามาจากอันดามัน และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้พื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีฝนตกหนักในพื้นที่
ด้านเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. ขยายความถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติว่า เนื่องจากร่องมรสุมที่ลงมาบวกกับลมตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เมฆขยับตัวช้า เป็นเหตุให้ฝนตกนานหลายชั่วโมง ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีจำนวนมาก
ขณะที่ กทม.บ่ายนี้เป็นต้นไปมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง และจะตกมาเติมน้ำในโซนบางเขน หลักสี่ รังสิต และลาดกระบัง ขอประชาชนติดตามข่าวสารของ กทม. เพราะจะมีการมอนิเตอร์และรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 3 ชม.
ส่วนเรื่องการจราจร การเดินทางเย็นนี้ หากน้ำท่วมสูง ประชาชนสัญจรกลับบ้านไม่ได้ กทม.จะประสานและจัดเตรียมรถทหาร เทศกิจ บริการตามสถานีรถไฟฟ้าหลัก
ขณะที่สถานการณ์น้ำตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับมือได้ เพราะมีแนวคันกั้นน้ำสูงกว่า 3 เมตร ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำสูง 1.85 เมตร แต่จุดฟันหลอยังต้องเสริมความแข็งแรงให้แนวกั้น