Skip to main content

ไม่ว่าจะด้วยโชว์คอลเล็กชั่นโอต์กูตูร์ประจำฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 2022 ที่เพิ่งมีการจัดแสดงโชว์จบไปหมาดๆ ในปารีส การปรากฏตัวของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในชุดเดรสสีดำที่มีกระดุมสีทองปิดตรงหน้าอกอันเป็นชุดเดียวกันกับที่นักแสดงดาวรุ่ง Hunter Schafer จากซีรีส์เรื่อง Euphoria สวมใส่ออกรายการทอล์กโชว์ของ Jimmy Fallon ที่ทำให้ชื่อของแบรนด์ Schiaparelli เป็นที่พูดถึงอยู่ในตอนนี้ 

อะไร หรือใคร ที่ทำให้แบรนด์เก่าแก่ตั้งแต่ปี 1927 กลับมาฮอตสุดได้ในตอนนี้?

แบรนด์สเกียปาเรลลี (Schiaparelli) ก่อตั้งโดยเอลซ่า สเกียปาเรลลี (Elsa Schiaparelli) ดีไซเนอร์ชาวอิตาลี ที่ตีคู่มาด้วยกันกับโคโค่ ชาเนล ในสมัยนั้น แต่งานออกแบบของทั้งสองคนนั้นต่างกัน เอลซ่า สเกียปาเรลลี ได้ชื่อว่าเป็นดีไซเนอร์ที่มีเอกลักษณ์ในงานออกแบบเสื้อผ้าเครื่องประดับที่หยิบยืมเอาศิลปะในแนวเซอร์เรียลลิสต์มาใช้จนกลายเป็นซิกเนเจอร์ของเธอ 

ไม่ว่าจะเป็นเดรสล็อบสเตอร์ที่ได้ซัลวาดอร์ ดาลี ศิลปิลแนวเซอร์เรียลลิสต์มาร่วมออกแบบ บราที่มีรูปมือแปะอยู่เหมือนคนเอามือปิดเต้านม ชุดเดรสที่มีลวดลายนูนเป็นรูปโครงกระดูกหรือที่เรียกว่าสเกเลตันเดรส (Skeleton Dress) หรือหมวกที่เป็นรูปรองเท้า 

จะเห็นได้ว่านอกจากการนำเอาศิลปะในแบบเซอร์เรียลลิสต์มาใช้ในงานออกแบบแล้ว คอนเซ็ปต์การออกแบบเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของเอลซ่า สเกียปาเรลลี ยังเล่นอยู่กับร่างกายและอวัยวะของมนุษย์ (เหมือนที่ดาลีใช้ดวงตามาเป็นรูปทรงในงานศิลปะของเขา) สัตว์ต่างๆ และสีช็อกกิ้งพิงค์ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำห้องเสื้อแห่งนี้ไปแล้ว 

ที่จริงห้องเสื้อสเกียปาเรลลี ปิดตัวลงตั้งแต่ปี 1954 หลังจากที่เอลซ่า สเกียปาเรลลี ประกาศล้มละลาย ก่อนที่จะตั้งบริษัทมาอีกครั้งในปี 1957 เพื่อทำน้ำหอมขายเพียงเท่านั้น แบรนด์สเกียปาเรลลี กลับมาโลดแล่นในวงการแฟชั่นอีกครั้งในปี 2007 หลังจากที่บริษัท Diego Della Valle (บริษัทเจ้าของแบรนด์ Tod’s) ซื้อบริษัทน้ำหอมของเอลซ่า สเกียปาเรลลี กลับมาทำใหม่พร้อมด้วยแบรนด์เสื้อผ้าด้วย โดยให้คริสเตียน ลาครัวซ์ (Christian Lacroix) ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสมาเป็นดีไซเนอร์ในปี 2013 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ 

ตามมาด้วยมาร์โค ซานีนี (Marco Zanini) ด้วยแรงโปรโมทและเงินลงทุนก็ทำให้แบรนด์สเกียปาเรลลีเป็นที่พูดถึงอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่ถึงกลับเปรี้ยงปร้าง จากนั้นซานีนีก็ลาออก และได้แบร์ทรองด์ กิวยอง (Bertrand Guyon) มาทำงานแทน แต่ก็ยังไม่สามารถคืนชีพแบรนด์เก่าแก่เกือบร้อยปีนี้ได้ จนมาถึงมือของดีไซเนอร์คนปัจจุบัน แดเนียล โรสแบร์รี่ (Daniel Roseberry) ที่เข้ามาทำงานในปี 2019

การฟื้นคืนชีพของแบรนด์สเกียปาเรลลี อย่างแรกคงต้องให้เครดิตงานออกแบบของแดเนียล โรสแบร์รี่ และอย่างที่สองคงต้องขอบคุณ คิม คาร์ดาเชียน ที่ทำให้ชุดของสเกียปาเรลลีกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ จากการที่เธอเลือกชุดเกาะอกซิกซ์แพ็กสีเขียวของสเกียปาเรลลีใส่ในงานคริสต์มาสอีฟเมื่อปี 2020 จนกลายเป็นมีมไปทั่วอินเทอร์เน็ต ชุดดังกล่าวเกิดจากเทคนิคการหล่อแบบสามมิติ โดยนำเอาหนังมาขึ้นรูปเป็นเสื้อเกาะอกแต่ช่วงท้องนั้นทำเป็นลอนคลื่นซิกซ์แพ็ก และด้วยสีเขียวของชุดเลยทำให้ดูเหมือน The HulK จึงทำให้ชุดดังกล่าวกลายเป็นมีมไปในเวลาอันรวดเร็ว

ตามมาด้วยเลดี้ กาก้า กับชุดเดรสที่เธอสวมใส่ไปงานพิธีสาบานตน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน เป็นชุดเดรสกระโปรงสุ่มสีแดงท่อนบนเป็นสีน้ำเงินเข้ม โดดเด่นที่มีการปักรูปนกพิราบ (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของแบรนด์สเกียปาเรลลีด้วย) สีทองบนหน้าอกเสื้อ และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเบลลา ฮาดิด (Bella Hadid) ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีที่ผ่านมา กับชุดเดรสเว้าช่วงอกโดยสวมสร้อยคอสีทองที่หล่อเป็นรูปปอดปกปิดหน้าอกของเธอไว้ ผลงานของแดเนียล โรสแบร์รี่ จากแบรนด์สเกียปาเรลลีนั่นเอง

และอาจจะประกอบกับ ‘เทรนด์’ ชุดงานพรมแดงที่เปลี่ยนไป ที่ไม่ใช่กระโปรงสุ่มฟูฟ่องหรือชุดราตรีหางปลาลากยาวสามเมตรอีกต่อไปแล้ว แต่กลายมาเป็นชุดที่มีการออกแบบที่ทำให้เรา ‘จึ้ง’ ได้ และนั่นเองที่ทำให้งานออกแบบที่มีกลิ่นอายของงานศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสต์ของแบรนด์สเกียปาเรลลีที่เป็นงานออกแบบระดับโอต์กูตูร์ที่มีเอกลักษณ์ แปลกแตกต่าง และทำให้ ‘จึ้ง’ ได้ กลายมาเป็นตัวเลือกแบบใหม่สำหรังานพรมแดงและงานฟร้อนต์โรว์แฟชั่น 

กลับมาที่ชุดที่กำลังเป็นที่ฮือฮาอยู่ในตอนนี้ การใช้กระดุมที่มีลวดลายหรือรูปทรงน่าสนใจในแบบต่างๆ เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์มาสเกียปาเรลลีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่น่าสนใจของชุดนี้คือการนำเอากระดุมสีทองมาติดตรงที่ ‘หัวนม’ เพื่อที่เวลาใส่เดรสในแบบโนบราจะได้ไม่เห็นรูปทรงของหัวนมได้อย่างชัดเจนเพราะมีกระดุมปิดทับอยู่ แต่ถึงแม้จะเป็นการปิด แต่มันกลับไปขับเน้นให้ดูโดดเด่นยิ่งกว่าเดิม เมื่อตำแหน่งของกระดุมสีทองบนผ้าสีดำมันอยู่ตรงนั้น 

งานออกแบบนี้ ไม่ใช่แค่งานออกแบบเก๋ๆ หรืองานออกแบบเชิงฟังก์ชั่น (เอากระดุมมาปิดทับจะได้โนบราได้โดยไม่ต้องเขินอาย) เท่านั้น แต่หากย้อนไปดูงานออกแบบของแดเนียล โรสแบร์รี่ ก็จะเห็นว่ารูปทรงของ ‘นม’ นั้นถูกนำมาใช้ออกแบบเสื้อผ้ามาตั้งแต่ต้น ทั้งเสื้อหรือเครื่องประดับที่นำหนังหรือวัสดุอื่นๆ มาหล่อเป็นรูปทรงหน้าอกหน้าใจ หรือเสื้อรูปทรงกรวยเหมือนที่ครั้งหนึ่งมาดอนน่าเคยใส่ (ผลงานการออกแบบของฌอง ปอล โกลติเยร์) เสื้อสูทหรือแจ็กเก็ตที่มีกระเปราะด้านหน้าเป็นรูปหน้าอก หรือชุดที่จงใจเปิดให้เห็นหน้าอกอย่างตรงไปตรงมา

ความตั้งใจ หรือจะเรียกได้ว่าหมกมุ่นกับ ‘หน้าอก’ ของผู้หญิงผ่านงานออกแบบเสื้อผ้าของแดเนียล โรสแบร์รี่ ในแบรนด์สเกียปาเรลลี นี้คือการส่งสารประท้วงไปยังปรากฏการณ์การเซ็นเซอร์หน้าอกผู้หญิงที่เกิดขึ้นในโซเซียลมีเดียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม ที่ตั้ง ‘มาตรฐานชุมชน’ ไว้ว่ารูปที่โชว์หน้าอกนั้นต้องถูกลบจากแพลตฟอร์ม เพราะผิดมาตรฐานชุมชนของโซเชียลมีเดีย อันยังมาสู่การตั้งคำถามว่า หน้าอกและหัวนมผู้หญิงนั้นผิดอะไร 

แดเนียล โรสแบร์รี่ จึงเลือกที่จะทำให้เห็นหน้าอกหน้าใจอย่างโจ่งแจ้งไปเลยผ่านงานออกแบบเสื้อผ้าเครื่องประดับที่เป็นรูปนม (ที่มีหัวนมด้วยซ้ำไป) แฟชั่นของสเกียปาเรลลี โดย แดเนียล โรสแบร์รี่ จึงไม่ใช่แค่งานออกแบบที่นำเอากลิ่นอายศิลปะเซอร์เรียลลิสต์อันเป็นเอกบักษณืดั้งเดิมงของแบรนด์มาใช้ในการทำเสื้อผ้าเครื่องประดับเท่านั้น แต่มันยังเป็นเหมือนคำประกาศทางการเมืองสังคมที่เขามีต่อโลก (โซเชียลมีเดีย) ใบนี้อีกด้วย