Skip to main content

'ศูนย์ซ่อมแซมเสื้อผ้า' ที่ดำเนินการโดย ‘กลุ่มผู้ลี้ภัย’ ในอัมสเตอร์ดัม ช่วยคืนชีวิตใหม่ให้กับเสื้อผ้าเก่าของแบรนด์ใหญ่ในประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าในตัวเองให้กับผู้ลี้ภัย กับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน

‘Fast Fashion’ หรือ แฟชั่นแบบมาไวไปเร็ว ซึ่งขายในราคาถูกเพื่อเร่งการบริโภค กำลังเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนทั้งโลกในขณะนี้ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนมากมายเพื่อหยุดยั้งวงจรแฟชั่นที่ไม่เป็นมิตรกับโลกเหล่านี้ และหนึ่งในนั้นคือ ‘United Repair Center’ ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

United Repair Center เป็นโครงการที่พยายามสร้างเมืองที่มี ‘ความเชื่อมโยง’ และ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ และสิ่งแวดล้อม โดยเปิดศูนย์รับซ่อมเสื้อผ้าที่ขาดชำรุด กำลังจะถูกนำไปทิ้ง โดยพนักงานซ่อมแซมเสื้อผ้าทั้งหมดล้วนเป็น “ผู้ลี้ภัย”

โครงการ United Repair Center ดำเนินการในฐานะกิจการเพื่อสังคมที่แสวงหาผลกำไร และเป้าหมายของศูนย์รับซ่อมเสื้อผ้าก็มีทั้งการช่วยเหลือสังคม เช่นเดียวกับการสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยพวกเขารับซ่อมเสื้อผ้าให้กับแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ และมอบโอกาสในการจ้างงานผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย หรือที่ Thami Schweichler ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการนี้เรียกว่า “ผู้มาใหม่”

Ramzi คือ ผู้มาใหม่ชาวปาเลสไตน์ วัย 50 ปี ที่ขอลี้ภัยจากซีเรียมาที่อัมสเตอร์ดัม และได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมผู้ซ่อมแซมเสื้อผ้าของศูนย์ เขาเล่าว่า เคยทำงานเป็นช่างตัดเสื้อในเมืองดามัสกัส และมีความเชี่ยวชาญด้านเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง ทุกวันนี้ Ramzi ยินดีรับซ่อมเสื้อผ้าที่ขาดชำรุดทุกชนิด

“เสื้อผ้าทุกชิ้นมักจะมีอะไรใหม่ๆ ให้ผมซ่อมแซมอยู่เสมอ ซึ่งตรงนั้นแหละที่ทำให้งานที่ผมทำอยู่น่าสนใจ” Ramzi กล่าว

ผู้ลี้ภัยหลายคนที่เข้าร่วมโครงการต่างมีทักษะด้านการตัดเย็บอยู่แล้ว และพวกเขาสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ขณะที่หลายคนที่ไม่มีทักษะด้านนี้มาก่อน โครงการนี้ก็มีการจัดอบรมภาคปฏิบัติให้ โดยร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคในท้องถิ่น และรับประกันว่าผู้ที่เข้าร่วมการอบรมจะมีงานทำหลังจบการอบรมอย่างแน่นอน

ไม่ใช่แค่การสร้างงานให้กับผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอัมสเตอร์ดัมเท่านั้น แต่โครงการ United Repair Center ยังช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในด้านต่างๆ ที่จำเป็น ตั้งแต่การแนะนำสถานที่เรียนภาษา ไปจนถึงการสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย และคำแนะนำด้านกฎหมาย

แม้โครงการนี้จะเพิ่งเริ่มต้นและยังมีพนักงานไม่มากนัก แต่เป้าหมายของศูนย์รับซ่อมเสื้อผ้าแห่งนี้ คือ การเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 150 คนภายใน 5 ปี และเพิ่มจำนวนเสื้อผ้าให้มากขึ้นเป็น 300,000 ชิ้นต่อปี (ขณะนี้ศูนย์สามารถซ่อมเสื้อผ้าได้ 25,000 ชิ้นต่อปี) พร้อมๆ กับการสร้างความตระหนักเรื่องการหมุนเวียนเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อมนุษยชาติ


อ้างอิง
เว็บไซต์  United Repair Center 
อินสตาแกรม United Repair Center 
How refugees are helping Amsterdam become one of the first circular cities