เพื่อช่วยโลกลดขยะเสื้อผ้าและรักษาโลกใบนี้ ราเชล คีรูติ จึงตัดสินใจก่อตั้ง Reclypt ขึ้นในปี 2021 ธุรกิจที่มุ่งมั่นที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับแฟชั่นหมุนเวียน ก่อนจะกลายเป็นชมรมเย็บผ้า (the Mending Club) ที่สร้างพื้นที่ให้ผู้ชื่นชอบงานฝีมือ ได้มาแบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุขและทักษะงานฝีมือ
ลองนึกถึงเสื้อผ้าที่คุณซื้อในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หรือตลอดชีวิตของคุณ เสื้อผ้าบางตัวแม้จะซื้อมาหลายปี แต่ก็ยังถูกหยิบมาใส่อยู่เสมอ แต่อีกหลายตัวก็ต้องลงเอยในถังขยะ เพราะมีคราบสกปรก รอยขาด หรือกระดุมหลุดหายไป ซึ่งขยะเสื้อผ้าที่เกิดในครัวเรือนเหล่านี้แหละ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และกำลังส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ประมาณปริมาณเสื้อผ้าและวัสดุสิ่งทอที่ถูกทิ้ง ตั้งแต่ปี 1960 ถึง 2018 พบว่า เสื้อผ้าและสิ่งทอที่ถูกฝังกลบในสหรัฐฯ มีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านตัน เป็น 11.3 ล้านตัน โดยที่จำนวนยังคงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นปัญหาที่ผู้คนต้องเริ่มมองหาหนทางแก้ไข เพื่อช่วยโลกลดขยะเสื้อผ้าและรักษาโลก ซึ่ง ราเชล คีรูติ ก็เป็นหนึ่งในคนที่อยากร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว และนำเธอไปสู่การก่อตั้ง Reclypt ในปี 2021
Reclypt คือ ธุรกิจในเมืองนิวยอร์กซิตี้ ที่มุ่งมั่นจะให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเรื่องแฟชั่นหมุนเวียน การลดขยะด้วยการอัปไซเคิล และเป็นพื้นที่สำหรับคนรักแฟชั่นและนักเคลื่อนไหวทางสังคม มารวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าและทำกิจกรรมอื่นๆ
Reclypt เริ่มต้นจากการเป็นตลาดแฟชั่นอัปไซเคิล แต่เมื่อเวลาผ่านไป ราเชลเริ่มรู้จักคนมากขึ้น เธอจึงตัดสินใจผนึกกำลังกับเพื่อนฝูงและพันธมิตรในชุมชนแฟชั่น เปิดพื้นที่สอนพื้นฐานการซ่อมแซมเสื้อผ้า ทั้งการตัดเย็บ การปัก และการประดับตกแต่ง ก่อนจะกลายมาเป็น The Mending Club ชมรมเย็บผ้าที่สร้างพื้นที่ให้ผู้ชื่นชอบงานฝีมือ ได้มาแบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุขและทักษะงานฝีมือ
“เราเชื่อว่าการสร้างสไตล์จะอยู่ร่วมกับชุมชนได้นานกว่า และชุมชน Reclypt ก็เป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังทุกอย่างที่เราทำ ตั้งแต่ชุมชนแฟชั่นอัปไซเคิล ไปจนถึงการทำชมรมเย็บผ้า ซึ่งชมรมเย็บผ้าของเราก็เหมือนห้องเรียนเย็บผ้าระดับเริ่มต้น ที่เราจัดขึ้นในร้านกาแฟ” ราเชลกล่าว
The Mending Club ช่วยให้ผู้คนมองเห็นการซื้อเสื้อผ้าในมุมมองใหม่ และเรียนรู้ที่จะซ่อมแซมเสื้อผ้าตัวเก่า มากกว่าจะโยนทิ้งให้กลายเป็นขยะของโลก ยิ่งไปกว่านั้น ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลให้ผู้คนมากมายก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชมรมเย็บผ้าแห่งนี้ ซึ่งพวกเขาก็จะมีความเข้าใจเรื่องขยะเสื้อผ้ามากขึ้น หลังจากได้เข้ามาสัมผัสชุมชนคนรักงานฝีมือและรักโลก
อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จที่เพิ่มมากขึ้นของ Reclypt เกิดจากการอุทิศตัวเพื่อสร้างความร่วมมือในชุมชน ไปจนถึงความพยายามด้านอื่นๆ ของราเชลและทีมงาน ซึ่งพวกเขาทุกคนก็หวังว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อลดปัญหาขยะเสื้อผ้า และรักษาโลกใบนี้ให้อยู่กับเราไปได้อีกนานแสนนาน
อ้างอิง
เว็บไซต์ Reclypt
Meet Rachel Ceruti
Reclypt's Mending Club is Combatting Fast Fashion One Stitch At a Time