Skip to main content

 

เด็กๆ ในเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะมีความสุขมากขึ้นกว่าเด็กในอดีต โดยเด็กเกาหลีปัจจุบันมีความรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตในระดับที่สูงกว่าเด็กรุ่นเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องระดับความสุข ซึ่งเกิดจากฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวที่แตกต่างกัน

รายงานเรื่อง ความสุขที่แตกต่างกันเด็กเกาหลี ของ สถาบันสุขภาพและกิจการสังคมเกาหลีใต้ เผยว่า คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจกับชีวิตของเด็กชาวเกาหลีใต้จากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2023 พบว่าอยู่ที่ 7.14 จาก 10 คะแนนเต็ม เพิ่มขึ้นจากปี 2013 ที่มีการสำรวจครั้งแรก ซึ่งคะแนนความพึงพอใจอยู่ที่ 6.10 และในการสำรวจเมื่อปี 2018 คะแนนความพึงพอใจในชีวิตของเด็กเฉลี่ยอยู่ที่ 6.57 คะแนน

แม้คะแนนความพึงพอใจในชีวิตของเด็กๆ ชาวเกาหลีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยระดับความสุขของเด็กขึ้นอยู่กับรายได้ครัวเรือนของแต่ละบ้าน

สำหรับเด็กที่ฐานะทางบ้านดี ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนเกาหลีอีกครึ่งประเทศ ในปี 2023 คะแนนความพึงพอใจในชีวิตของเด็กกลุ่มนี้อยู่ที่ 7.19 จาก 10 คะแนนเต็ม เทียบกับเด็กที่บ้านยากจน ครอบครัวมีรายได้อยู่ในกลุ่มร้อยละ 50 ล่าง คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจในชีวิตของเด็กกลุ่มนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.20

รายงานระบุว่า เด็กที่ครอบครัวมีรายได้น้อย จะมีแนวโน้มของการให้คะแนนสูงกับคำถามเพื่อตรวจวัดระดับความเครียดและความวิตกกังวล ขณะที่ให้คะแนนต่ำกับคำถามเรื่องความพอใจกับชีวิตที่ใช้วัดระดับความสุข

การสำรวจของสถาบันสุขภาพและกิจการสังคมเกาหลีใต้ ยังพบด้วยว่า เด็กที่ปู่ย่าตายายเป็นคนเลี้ยงดู หรือโตมากับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว คะแนนความพึงพอใจในชีวิตจะต่ำกว่าเด็กที่โตมาแบบพร้อมหน้ากับพ่อแม่ โดยคะแนนความพึงพอใจอยู่ที่ 6.33 และ 7.26 ตามลำดับ

“ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระดับความสุขที่ต่างกันหว่างเด็กที่มีพื้นหลังทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกัน แสดงให้ห็นว่า การเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของระดับความสุขในเด็กนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กมีความสุขที่เท่าเทียมกัน เพื่อบรรลุถึงความความสุขที่เสมอภาคกันของเด็กทั้งหมด นโยบายต่างๆ ที่มุ่งเป้าไปที่ระดับความพึงพอใจในชีวิตของเด็ก ควรจะต้องยกระดับ โดยการลดความแตกต่างที่เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำในเรื่องทางเศรษฐกิจและสังคม” ยู มินซัง นักวิจัยของสถาบันสุขภาพและกิจการสังคมเกาหลีใต้กล่าว

ที่มา
Korean kids are happier than before, but economic divide still shapes life satisfaction