ทุกวันนี้คนไทยใช้จ่ายน้อยลงมาก ไปถามคนทำธุรกิจร้านอาหารก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ "รู้สึก" มากที่สุด และก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่คนไทยทุกวันนี้ "รัดเข็มขัด" กันสุดๆ และคุณก็คงจะเป็นหนึ่งในนั้น
อาจเรียกว่าเป็นข้อดีของประเทศไทยก็ได้ที่ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ "ค่าครองชีพต่ำ" ระดับที่ต่างชาติวัยเกษียณสู้ค่าครองชีพในประเทศตัวเองไม่ไหว ก็มักจะย้ายมาอยู่ไทย
เรียกได้ว่าไทยเป็นประเทศที่รักษาอัตราเงินเฟ้อได้ดีมากตลอดช่วงการระบาดของ COVID-19 ในขณะที่ประเทศอื่นเงินเฟ้อกันโครมๆ ประเทศไทยภาวะเงินเฟ้อต่ำมาก อย่างน้อยๆ ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์ก็เป็นแบบนั้น
จริงๆ แล้วอัตราเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างคงที่มากแล้วในปี 2025 และสิ่งที่ราคาสูงขึ้นโดดเด่นคือ พวกกลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ไม่ใช่ของสด) กับพวกบริการด้านศิลปวัฒนธรรม (เช่น พวกบัตรคอนเสิร์ต) ซึ่งก็ไม่แปลกที่การกินข้าวนอกบ้านจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนตัดออกไปจากงบประมาณ เพราะนี่คือสิ่งที่คนรู้สึกจริงๆ ว่ามันราคาแพงขึ้น ไม่ว่าจะแพงขึ้นจากการขึ้นราคาเองของร้าน แพงขึ้นจากการที่ค่าเช่าพื้นที่แพงขึ้น หรือแพงขึ้นเพราะพวกแอปส่งอาหารเก็บค่าหัวคิวหนักขึ้น
แต่ในภาพรวม เราพูดได้แน่นอนว่าไทย "เงินเฟ้อ" (Inflation) ต่ำกว่าที่อื่นๆ โดยเปรียบเทียบ แต่อย่างไรก็ดี มันไม่จบแค่นั้น
คนที่อยู่ในไทยในรอบ 10 ปีนี้ ถ้าสังเกตดู อาจรู้สึกว่า "ค่าครองชีพ" รวมๆ มันไม่ได้เพิ่มขึ้นจริงๆ ถ้าไม่นับค่าอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิด ราคาสิ่งต่างๆ อยู่ในระดับเดิมหมด เรายังซื้อสบู่แชมพูและทิชชู่ราคาเท่าเดิม และเอาจริงๆ ลองไปเช็คดู ราคาพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ตั้งแต่เตาอบไมโครเวฟยันแอร์ก็ราคาแทบไม่ขึ้นเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
แต่ถามว่าเรารู้สึกว่า "ของมันคุณภาพเท่าเดิม" จริงเหรอ? เรารู้สึกหรือเปล่าว่า สบู่และแชมพูมันหมดเร็วขึ้น เรารู้สึกหรือเปล่าว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อายุใช้งานมันสั้นลง? หรือมากกว่านั้น คุณรู้สึกไหมว่าร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำที่กินมาตลอดเค้าไม่ขึ้นราคาก็จริง แต่ชามมันเล็กลงยังไงไม่รู้ กินชามเดียวไม่อิ่มอีกแล้ว
ถ้ารู้สึก มีแนวโน้มสูงมากว่าคุณจะเจอ "ภาวะเงินหด" หรือ Shrinkflation อยู่
คำๆ นี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2009 ในหนังสือชื่อ Econoclasts: The Rebels Who Sparked the Supply-Side Revolution and Restored American Prosperity ของนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน Brian Domitrovic ที่ตอนนั้น Domitrovic เสนอคำว่า Shrinkflation แทน Stagflation ซึ่งความหมายคือ เค้าจะบอกว่าภาวะเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่ถูกเรียกว่า Stagflation มันไม่ได้ "หยุดนิ่ง" (Stagnant) พร้อมมีเงินเฟ้อ แต่มัน "หดตัว" (Shrink) พร้อมภาวะเงินเฟ้อต่างหาก เค้าเลยเสนอว่าให้ให้ Shrinkflation แทน
นี่ไม่ใช่ความหมายของ Shrinkflation ที่ใช้กันทุกวันนี้ และว่ากันว่าคนที่เปลี่ยนความหมายของ Shrinkflation เป็นความหมายปัจจุบันที่หมายถึง "เงินลดมูลค่าลง แม้ว่าสินค้าจะราคาเท่าเดิม เพราะสินค้ามันหดลง" คือนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษอย่าง Pippa Malmgren โดยจุดเริ่มไม่ได้มาจากหนังสือหรือบทความวิชาการด้วยซ้ำ แต่มันเริ่มมาจากบทสนทนาของเธอใน Twitter ที่ถูกลบไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีใครแน่ใจว่ามันถูกใช้ในความหมายนี้ครั้งแรกในวันเดือนปีใด หรือกระทั่งว่ามันจริงหรือไม่?
แต่สิ่งที่น่าจะเดาได้คือคำว่า Shrinkflation ในความหมายแบบนี้น่าเกิดในทศวรรษ 2010 แน่ๆ ซึ่งในทศวรรษนี้ มีรายงานยาวเฟื้อยจากหลายประเทศว่าสินค้าสารพัดหมวดหมู่มีการ "หดตัว" ลง ไม่ว่าจะเป็น สบู่ แชมพู ช็อกโกแลต มันฝรั่งทอด มายองเนส ทิชชู่ ฯลฯ
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันแค่กลับมาในช่วงโควิดที่สินค้าหลายชนิดไม่ยอมขึ้นราคา แต่ไป "ลดปริมาณ" แทน โดยผู้จำนวนมากก็ไม่รู้ ซื้อไปบริโภคก็รู้สึกว่าหมดเร็วขึ้น เพราะสุดท้ายน้อยคนจะสังเกตและจำปริมาณหรือน้ำหนักของสินค้าได้ ซึ่งคนก็จะไม่เช็คตอนซื้อว่าปริมาณมันลดลงหรือไม่ และซื้อมาในราคาเท่าเดิมแบบปริมาณลดลงแบบไม่รู้ตัว
เราอาจบอกได้ว่า ภาวะแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากด้วย ซึ่งถ้าเราคุยกับ "ช่าง" ก็อาจได้ยินเรื่องคล้ายๆ กันว่า วัสดุที่ถูกเอามาใช้ผลิต ลดคุณภาพลงหมด ซึ่งหลายครั้งเราก็อาจสังเกตอายุใช้งานที่สั้นลงนี้ได้ จากเงื่อนไขการประกันสินค้าที่สั้นลงเช่นกัน
ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เหมือนว่าเงินของเรา "หด" มูลค่าลง เพราะสินค้าราคาเท่าเดิมที่เราซื้อ แต่ปริมาณและคุณภาพมันแย่ลงหมด และนี่เลยทำให้แม้ว่าค่าครองชีพเราจะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่คุณภาพชีวิตเราก็ต่ำลง หรือพูดอีกแบบก็คือ เราอาจต้องซื้อสินค้าบ่อยขึ้น โดยบางทีภาวะพวกนี้มันก็มาแบบเนียนๆ เงียบๆ เรามารู้ตัวอีกที ตอนเรารู้สึกว่าแชมพูมันหมดอีกแล้วเหรอ? แอร์เสียอีกแล้วเหรอ? หรือกระทั่งทำไมบะหมี่เจ้าประจำที่รสยังอร่อยเหมือนเดิมก็จริง แต่ทำไมชามมันเล็กจัง?
เอาจริงๆ แล้ว เหตุผลที่ภาวะนี้เกิดขึ้นจากมุมคนทำธุรกิจ การขึ้นราคาเป็นสิ่งที่เค้าหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว และถ้าทำได้ก็คือ จะทำการลดปริมาณลงนิดนึง เพราะผู้บริโภคยากจะรู้สึกได้ พูดง่ายๆ คือถ้าขึ้นราคาสินค้าไป 10% ผู้บริโภคโวยวายแน่ แต่ถ้าลดปริมาณเนียนๆ ไป 10% ผู้บริโภคจำนวนมากจะไม่สังเกต
อะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่ในบริบทโลก คำว่า Shrinkflation มันกลับมาเพราะภาคธุรกิจพร้อมใจกันลดขนาดสินค้าและคุณภาพบริการในภาวะเกิดเฟ้อกระหน่ำ จนรัฐบาลกลางสหรัฐต้องพยายามผลักกฎหมายมาคุ้มครองผู้บริโภค โดยการสั่งให้ภาคธุรกิจต้องมีการประกาศปริมาณสินค้าในฉลาดให้ชัด เพื่อให้ไม่สามารถลดปริมาณอย่างเนียนๆ ได้ โดยภาวะพวกนี้มันโหดจริงๆ เพราะมันเล่นกันไปถึงส่วนประกอบเลย เช่น มายองเนสอาจไม่ลดขนาดขวดลง แต่ลดส่วนประกอบที่มีราคาสูงสุดอย่างไข่แดงลง และใช้ไขมันราคาถูกอื่นทดแทน เป็นต้น
ตัดกลับมาเมืองไทย Shrinkflation หรือ "ภาวะเงินหด" น่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่ทรงพลังมากในการอธิบายคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลงของคนไทย เพราะจากสถิติค่าครองชีพในไทยมันถือว่าขึ้นน้อยกว่าที่อื่นจริงๆ อย่างเถียงแทบไม่ได้เลย แต่อีกด้าน เรากลับเห็นว่า Shrinkflation ทำให้มูลค่าเงินของเราหดลงมหาศาล
สิ่งที่ยากคือ Shrinkflation เป็นภาวะที่ "คำนวณ" ยาก มันไม่ตรงไปตรงมาแบบการ "ขึ้นราคา" อย่างภาวะเงินเฟ้อ เพราะการลดปริมาณและคุณภาพมันมาในหลายรูปแบบมาก พูดเป็นเชิงปริมาณยาก จนบางทีหลายคนปฏิเสธว่ามันไม่มีจริง เพราะไม่มีสถิติชัดๆ
ส่วนคำถามว่า Shrinkflation มีจริงมั้ยในดินเดน "เงินเฟ้อต่ำ" อย่างไทย คนทุกคนที่เคยรู้สึกว่าสบู่มันก้อนเล็กลง แชมพูมันหมดเร็วขึ้น แอร์มันเสียเร็วขึ้น หรือกระทั่งก๋วยเตี๋ยวมันกินเท่าเดิมไม่อิ่มแล้ว ก็น่าจะมีคำตอบในใจว่าภาวะที่ว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่
อ้างอิง
ดัชนีราคาผู้บริโภคชุดทั่วไป และอัตราการเปลี่ยนแปลง : ประเทศไทย
That Shrinking Feeling
Shrinkflation: What It Is, Reasons for It, How to Spot It
'Shrinkflation' isn't a trend – it's a permanent hit to your wallet
Shrinkflation 101: The Economics of Smaller Groceries
S.3819 - Shrinkflation Prevention Act of 2024
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน