Skip to main content

 

มนุษย์รู้จัก “ดนตรี” มายาวนานตลอดอารยธรรมของมนุษยชาติ และดนตรีถูกใช้เป็นเครื่องมือบำบัดความเจ็บปวดที่เก่าแก่ที่สุดของโลก โดยเป็นยาสารพัดโรคที่เหนือกาลเวลาและวัฒนธรรม ยุคกรีกโบราณ แพทย์ใช้การบรรเลงฟลุตและพิณในการรักษาคนป่วย โดยเชื่อว่า การสั่นสะเทือนจากเสียงดนตรีจะช่วยเรื่องการย่อยอาหาร ช่วยทำให้จิตใจของผู้ป่วยสงบ และช่วยทำให้นอนหลับ

นักวิทยาศาสตร์พบว่า การบำบัดด้วยดนตรีสามารถลดความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ป่วยลงได้ การศึกษาของ เซเนกา บล็อก ผู้อำนวยการศิลปะบำบัดที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสุขภาพ Connor Whole ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ของสหรัฐอเมริกา พบว่า ดนตรีสามารถช่วยลดการรับรู้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ป่วยลงได้ราว 20 เปอร์เซ็นต์ และสามารถทำควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับประสบการณ์ในการรักษาอาการป่วยที่ดีขึ้นกว่าเดิม

“การบำบัดด้วยดนตรีเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากดนตรีเป็นภาษาสากล และยังทรงพลังมาก เพราะเราใช้ดนตรีในการแพทย์เพื่อช่วยเยียวยาผู้คน” เซเนก้ากล่าว

ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสุขภาพ Connor Whole โครงการดนตรีบำบัดถูกนำมาใช้นานกว่า 25 ปีแล้ว และถือได้ว่าเป็นโครงการที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐ โดยถูกนำมาใช้เพื่อผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล และความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย

เอเมียร์ ชาห์ จิตแพทย์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Connor Whole บอกว่า ดนตรีบำบัดสามารถช่วยผู้ป่วยในเรื่องของสมอง เช่น เรื่องอารมณ์ การรับรู้

ล่าสุดการรักษาด้วยดนตรีบำบัด ได้รับการสนับสนุนจากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยนอร์ทสเตทแคลิฟอร์เนีย ที่พบว่า การฟังดนตรีสามารถช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดของคนไข้ลงได้ และยังช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยคนไข้ที่ฟังดนตรีจะใช้มอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวดในปริมาณที่น้อยกว่าราวครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับคนไข้หลังผ่าตัดที่ไม่ฟังดนตรี ขณะเดียวกันก็พบว่า อัตราการเต้นของหัวใจของคนไข้หลังผ่าตัดที่ฟังดนตรีอยู่ในระดับที่ดีกว่า

“เมื่อคนไข้ตื่นขึ้นมาหลังการผ่าตัด บางครั้งพวกเขารู้สึกกลัว ดนตรีสามารถช่วยปรับสภาวะการตื่นให้เข้าสู่ภาวะปรกติได้ง่ายขึ้น และอาจช่วยบรรเทาความเครียดในระหว่างการเปลี่ยนผ่านสภาวะนั้นของคนไข้” อัลโด เฟรซซา ศาสตราจารย์ศัลยแพทย์จากวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทสเตทแคลิฟอร์เนียกล่าว

มีการศึกษาของ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานฟรานซิสโก พบสิ่งที่อาจจะอธิบายได้ถึงวิธีที่ดนตรีบำบัดสามารถช่วยจัดการความเจ็บปวดได้ โดยพบว่า คนไข้ที่ผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดระดับสูง สัญญาณสมองจะเพิ่มสูงขึ้นที่บริเวณกลีบสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดนตรีจะส่งผลกระทบได้สูง โดยการทำให้สมองโฟกัสกับการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงจากดนตรีแทนการโฟกัสที่ความเจ็บปวด

นอกจากนี้ การฟังดนตรียังส่งผลที่ลึกซึ้งกว่านั้น มีหลักฐานชี้ว่า การฟังดนตรีมีส่วนทำให้เกิดการปรับสมดุลของเคมีในสมองในกรณีการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพทุกข์ทรมาน ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยจิตเภท และผู้ป่วยซึมเศร้า

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่า สุนัขที่เข้ารับการผ่าตัด เมื่อได้ยินเสียงดนตรีที่ประพันธ์โดยโมซาร์ทหรือโชแปง สุนัขจะมีอาการสงบมากกว่า

ขณะที่ แดเนียล เลวิติน นักประสาทวิทยาและนักเขียน กล่าวว่า การฟังดนตรีจะช่วยกระตุ้นความจำระยะสั้นและระยะยาว และยังช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหวและเรื่องอารมณ์

แดเนียลกล่าวว่า ผู้สูงอายุที่ฟังดนตรีสัปดาห์ละครั้ง และเล่นดนตรีเพียงวันละครึ่งชั่วโมง นาน 6 เดือน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ มีการเพิ่มขึ้นอย่างหนาแน่นของเนื้อสมองสีเทา ซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ความรู้สึก ประสาทสัมผัส ความนึกคิด ความจำ การเห็น การพูด และยังช่วยทำให้ความจำจากสิ่งที่ได้ยินดีขึ้นด้วย

มีคำถามที่นักวิทยาศาสตร์และหมอต่างได้ยินได้ฟังบ่อยครั้งว่า เพลงแบบไหนที่ให้ผลดีมากกว่ากัน ระหว่างเพลงที่คนไข้ชอบ กับเพลงที่หมอเลือกให้ ข้อค้นพบจากงานวิจัยเผยว่า การได้ฟังเพลงที่ชื่นชอบนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด การที่คนไข้สามารถเลือกฟังเพลงที่พวกเขาชื่นชอบ ผลที่ออกมาย่อมดีกว่าการฟังเพลงที่หมอหรือนักวิจัยเลือกให้


ที่มา
We’ve Long Known That Music Eases Pain. Now, Science Is Proving It.