Skip to main content

 

รายงานชิ้นใหม่ เผยผลการสำรวจ “คนเจนซี” ที่เกิดในช่วงปี 1996 ถึง 2005 จำนวน 20,000 คนจากทั่วโลก รวมถึงคนเจนซีในออสเตรเลียอีกมากกว่า 4,300 คน พบว่า ความตึงเครียดทางการเงินเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินซื้อสิ่งของต่างๆ และพบว่า ชาวออสเตรเลียรุ่นใหม่กำลังหันหลังให้กับบัตรเครดิต เพราะมองว่าเสี่ยงที่จะทำให้เกิดหายนะทางการเงิน

การศึกษาของแพลตฟอร์มชำระเงินที่ชื่อ Afterpay เผยว่า คนเจนซีมากกว่า 1 ใน 3 ระบุว่า ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตทำให้พวกเขาเครียดและวิตกกังวล โดยเฉพาะกับดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงลิ่ว ซึ่งยากที่จะเข้าใจว่าทำไมเป็นเช่นนั้น

ขณะที่มากกว่า 1 ใน 5 ของคนเจนซีที่ตอบแบบสำรวจ กำลังเผชิญกับการเป็นหนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มมากขึ้น โดยเป็นหนี้บัตรเครดิตเฉลี่ยที่ 8,000 ดอลลาร์ หรือราว 270,000 บาทหรือมากกว่านั้น

ผลสำรวจพบว่า คนเจนซีร้อยละ 75 เลือกที่จะใช้บัตรเดบิตในการจ่ายเงินซื้อของจนเป็นเรื่องปรกติ ตามมาด้วยการซื้อของด้วยเงินสด และการโอนเงินผ่านสมาร์ทโฟน ขณะที่มีการใช้บัตรเครดิตในการจับจ่ายซื้อของน้อยที่สุด

4 ใน 5 ของชาวออสเตรเลียมีการตั้งงบสำหรับซื้อของ เพื่อบริหารค่าใช้จ่ายในการชอปปิ้ง โดยที่ 3 ใน 4 ระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำตามนั้นได้อย่างเคร่งครัด และเมื่อเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดการณ์เอาไว้ก่อน พบว่า เกือบร้อยละ 38 มีเงินเก็บไม่ถึง 800 ดอลลาร์ หรือไม่ถึง 27,000 บาทสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเหล่านั้น

เช่นเดียวกับ RFI Global บริษัทให้บริการข้อมูลด้านการเงินในออสเตรเลีย ที่ชี้ว่า ในปี 2024 ชาวออสเตรเลียมีการจ่ายเงินซื้อสินค้าผ่านการโอนเงินจากสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2021 ที่มีสัดส่วนผู้จ่ายเงินซื้อของผ่านสมาร์ทโฟนร้อยละ 30 มาเป็นร้อยละ 69 ในปี 2024

RFI Global พบเช่นกันว่า คนรุ่นใหม่ของออสเตรเลียมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยที่ไม่สนับสนุนการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการ

RFI Global เผยว่า โดยรวมแล้วจำนวนของคนที่มีบัตรเครดิตลดน้อยลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วราวร้อยละ 30 โดยในปี 2016 มีผู้ที่เป็นเจ้าของบัตรเครดิตสูงสุดที่ 22.3 ล้านคน และเมื่อถึงกลางปี 2024 จำนวนผู้มีบัตรเครดิตลดลงเหลือเพียง 15.8 ล้านคน


อ้างอิง
Younger Australians turning away from credit cards in favour of cash and debit cards, according to new report
The future of credit cards – is there a proposition problem?