ยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่คนแซวกันว่าเรามี "คำเรียกความสัมพันธ์เยอะยิ่งกว่าคำเรียกเพศ" แต่สิ่งที่มากกว่านั้น ก็คือคำเรียก "การคุกคาม" (harassment) ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ที่มีอย่างมหาศาล
เราจะมองว่าสังคมทุกวันนี้ "อ่อนไหวเกินไป" ก็ได้ แต่อีกด้าน การสร้างคอนเซ็ปต์ "การคุกคาม" เหล่านี้ ถ้าดูดีๆ ส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่กิจกรรมของ "ผู้ชาย" เป็นหลัก แน่นอน หลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่ "ผู้หญิงทำกันเอง" แต่ส่วนใหญ่น่าจะปฏิเสธได้ยากว่ามันเป็นกิจกรรมที่ "ผู้กระทำ" มักจะเป็นผู้ชาย และ "ผู้ถูกกระทำ" มักจะเป็นผู้หญิง
เราอาจพูดก็ได้ว่า ครึ่งแรกของทศวรรษ 2020 เป็นทศวรรษที่ "ผู้ชาย" โดนรุกไล่ไปกับแนวคิดแบบนี้ มันก็เลยเข้าไปหมกตัวกันในซอกหลืบของอินเทอร์เน็ตที่เป็นพื้นที่ชายล้วนที่เรียกรวมๆ ว่า Manosphere ซึ่งเต็มไปด้วยแนวคิดที่ "เหยียดผู้หญิง" และกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดแบบ "ขวาจัด"
จริงๆ ตลอดปี 2024 ผลการเลือกตั้งดูจะชี้ไปในทางเดียวกันว่า "ฝ่ายขวา" มีอำนาจมากขึ้นทั่วโลก แต่สิ่งที่ตอนแรกคนมองไม่เห็นแพตเทิร์นก็คือ จริงๆ แล้วฝ่ายขวาพวกนี้ได้กำลังสนับสนุนจาก Gen Z ผู้ชายซะเยอะ
หลังจากคนเริ่มเห็นความต่างกันในการมองโลกและบทบาทหญิงชายของ Gen Z ทาง King’s College ก็เลยไปทำการสำรวจทั่วโลกและเปิดเผยผลสำรวจมาช่วงต้นเดือนมีนาคม 2025 ถ้าจะให้อธิบายสั้นๆ คือ ในขณะที่คนรุ่นอื่นๆ ทั้งหมดมี "ทัศนคติเกี่ยวกับเพศและบทบาททางเพศ" ไปทางเดียวกันทั้งชายและหญิง Gen Z กลับเป็นคนรุ่นเดียวที่ความเห็นด้านนี้ระหว่างชายละหญิงไปคนละทาง
อันนี้หลายคนน่าจะจินตนาการออก ว่าหลังจากกระแส #MeToo ช่วงปลายทศวรรษ 2010 มันทำให้ผู้หญิงจำนวนมาก "ตื่นรู้" สิทธิและลุกขึ้นมาต่อสู้ และพอติดลมก็เรียกร้องสิทธิยิบย่อยเต็มไปหมด โดยจริงๆ แล้วนี่เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่ต่อเนื่อง
ถ้ามองในแง่นี้ผู้หญิง Gen Z น่าจะถือว่าสืบทอดการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี แต่ผู้ชาย Gen Z เลือกจะ "กลับลำ" และหันขวา
แต่ "ความน่าสนใจ" คือผลสำรวจไม่ได้ชี้แบบนั้น แต่ชี้ว่า ผู้ชาย Gen Z ต่างหากที่เป็น "ความต่อเนื่อง" ส่วนผู้หญิง Gen Z ต่างหากที่ผิดปกติจากแพตเทิร์น
ตัวอย่างง่ายๆ ผลสำรวจในคำถามที่ว่า "คุณคิดว่าสังคมปัจจุบันพยายามให้ความเท่าเทียมกับผู้หญิงจนถึงขั้นเหยียดผู้ชายหรือเปล่า?”
คนอาจคิดว่าจริงๆ คนรุ่นแก่ๆ จะคิดว่าสังคมปัจจุบัน "ให้ความเท่าเทียมผู้หญิงมากไป?” และคนรุ่นใหม่ๆ ก็จะคิดแบบนี้น้อยลง คำตอบคือ ไม่ใช่ จริงๆ แล้วคนรุ่น Baby Boomer คือคนรุ่นที่มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมของผู้หญิงน้อยที่สุด แต่คนที่จะมีปัญหามากขึ้นคือ Gen X, Gen Y และ Gen Z มากขึ้นตามลำดับ หรือพูดง่ายๆ คนยิ่งอายุน้อย ก็จะยิ่งมีปัญหากับความเท่าเทียมของผู้หญิงมากขึ้นเป็นลำดับ
แพตเทิร์นแบบนี้เป็นจริงทั้งชายและหญิง เว้นหญิง Gen Z กล่าวคือ ชาย Baby Boomer ไล่มาถึง Gen Z ยิ่งอายุน้อยจะยิ่งรู้สึกว่า "ผู้หญิงได้รับความเท่าเทียมมากไป" และฝั่งผู้หญิงก็เช่นกัน ผู้หญิง Baby Boomer คือกลุ่มที่รู้สึกว่า "ผู้หญิงได้รับความเท่าเทียมมากไป" น้อยที่สุด Gen X ก็จะรู้สึกรองลงมา และ Gen Y คือผู้หญิงรุ่นที่รู้สึกมากสุดว่าผู้หญิงปัจจุบันได้รับความเท่าเทียมมากไป แต่พอมา Gen Z ฝั่งผู้หญิง เทรนด์กลับพลิกกลับ เพราะคน Gen Z ที่เห็นว่า "ผู้หญิงได้รับความเท่าเทียมมากไป" นั้น "มีน้อย" พอๆ กับ Gen X หรือพูดอีกแบบคือ ถ้าตามแพตเทิร์น ผู้หญิง Gen Z ควรจะเป็นผู้หญิงรุ่นที่ไม่พอใจกับความเท่าเทียมของผู้หญิงที่ล้นเกินมากที่สุด แต่ผู้หญิง Gen Z กลับฉีกแพตเทิร์น รู้สึกว่าผู้หญิงได้รับความเท่าเทียมน้อยเกินไป
เราจะพบแพตเทิร์นแบบเดียวกันในทุกคำถาม เช่นคำถามว่า "การช่วยงานบ้านลดความเป็นชายหรือไม่?” คนที่คิดว่าการทำงานบ้านไม่ได้ลดความเป็นชายคือพวก Baby Boomer และกลับกัน สัดส่วนคนที่มองว่าการทำงานบ้านมันลดความเป็นชายก็จะเพิ่มมากเรื่อยๆ ตามอายุที่ลดลง โดยไปพีคสุดคือ Gen Z ที่รู้สึกว่าการทำงานบ้านมันทำลายความเป็นชายแบบป่นปี้
ผลสำรวจมันพลิกความเข้าใจไปหลายส่วน มันเห็นเลยว่า "ความก้าวหน้าทางเพศ" ไม่ได้มี "แนวโน้ม" เพิ่มขึ้นเลยในคนรุ่นหลังๆ กลับกัน จริงๆ ความเชื่อเรื่อง "ความก้าวหน้าทางเพศ" เหมือนไปพีคตอนคนรุ่น Baby Boomer และค่อยๆ ลดลงทั้งฝั่งชายและหญิง และชาย Gen Z ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้
ซึ่งในแง่นี้ฝั่งหญิง Gen Z ต่างหากที่ถูก "ทำให้เกิดแนวคิดถอนรากถอนโคน" (radicalize) โดยกระแสอย่าง #MeToo และสิ่งที่รวมๆ ถูกเรียกว่า Woke จนทำให้มีความเห็นที่ฉีกจากแพตเทิร์นของคนรุ่นก่อนๆ ทั้งสองเพศ
ผลสำรวจนี้น่าสนใจ เพราะมันชี้เลยว่าจริงๆ แล้ว #MeToo ไม่ใช่ความต่อเนื่องในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่สตรีพึงประสงค์แบบที่เข้าใจกัน แต่มันเป็นการ "ปลุกชีพ" การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่มอดดับไปช้าๆ ตลอดครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ต่างหาก
มันเป็นการ "เปลี่ยนแพตเทิร์น" ซึ่งนั่นหมายความว่าคนที่เคยชินกับแพตเทิร์นเดิม ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง ก็จะรู้สึกว่ามัน "มากเกินไป" กับแนวทางแบบนี้ ซึ่งในปี 2024 เราอาจได้ยิน "ผู้หญิงวัยทำงาน" บ่นกระแส Woke มากขึ้น และจริงๆ คนไปถล่มหนัง Disney ยุคหลังๆ ตั้งแต่ Little Mermaid ยัน Snow White ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ "ผู้ชาย" แต่เป็น "ผู้หญิง" โดยเราก็จะเห็นว่าผู้หญิงที่มีอายุหน่อยจะไม่ชอบแนวทางนี้ของ Disney แต่ผู้หญิงรุ่นเด็กๆ จะเชียร์
และ "ผลสำรวจ" ที่ว่านี่ก็เป็นการร่างให้เห็นถึงความต่างของทัศนคติเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศของ "ผู้หญิงต่างรุ่น" ให้เป็นรูปธรรม อธิบายง่ายๆ คือคนทุกรุ่น ยิ่งอายุน้อย ก็ยิ่งเชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศน้อย โดยมีข้อยกเว้นอย่างเดียวคือ ผู้หญิง Gen Z ที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเยอะแบบผิดแพตเทิร์น และก็ไม่แปลกเลยที่ผู้หญิง Gen Z จะดีกับผู้หญิง Gen Y เกี่ยวกับบทบาททางเพศ เพราะผลสำรวจก็ชี้ว่าสองรุ่นนี้มีแนวโน้มที่ต่างจริงๆ
ทั้งหมดคือ ภาวะที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ซึ่งถ้าไปดูในรายละเอียด เราก็จะเห็นว่า ประเทศที่ผู้ชายกับผู้หญิง Gen Z มองเรื่องบทบาททางเพศต่างกันมากๆ คือ พวกประเทศพัฒนาแล้วทั้งนั้น พวกประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา "ช่องว่างความเห็นระหว่างเพศ" พวกนี้จะมีน้อยกว่ามากหรือแทบไม่มีเลย
ดังนั้นเอาจริงๆ จะบอกก็ได้ว่านี่คือ "ปัญหาโลกที่หนึ่ง" (First World Problem) ก็ได้ แต่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ด้วย เพราะในยุคที่ประชากรคนรุ่นใหม่น้อย รัฐต้องการให้คนมีลูกกันเยอะๆ เร็วๆ แต่คน Gen Z กลับมีความขัดแย้งด้านทัศนคติเกี่ยวกับเพศกันอย่างรุนแรงมากๆ มันทำให้คนรุ่นนี้ ยากจะคบหาและแต่งงานกันด้วยซ้ำ หากยังมีความต่างกันด้านโลกทัศน์ขนาดนี้ ยังไม่ต้องไปพูดถึงการมีลูก
นี่เป็นสิ่งที่คน "รู้สึก" กันมาสักพักแล้ว แต่ไม่รู้จะอธิบายมายังไงและ ผู้ใหญ่ก็งงๆ โลกของเด็กรุ่นนี้ ซึ่งมันก็ไม่แปลกเลยว่าทำไมซีรีส์ Netflix ที่ถูกถึงประเด็นนี้แบบตรงๆ อย่าง Adolescence (ที่เป็นผลงานของทางอังกฤษเช่นกัน และออกมาหลังผลสำรวจของ King’s College ไม่นาน) ถึงโด่งดังมาก
เพราะมันพูดถึงปัญหาของผู้ชายผู้หญิง Gen Z ผ่านเรื่องที่ดูเล็กๆ ที่ลึกๆ ทุกคนรู้สึกว่ามันไม่เล็ก
อ้างอิง
The Backlash to Gender Equality Is Here, but Why?
Gen Z men and women most divided on gender equality, global study shows