สำหรับชาวไทย เวลาพูดถึงประเทศที่เจริญแล้ว มิติอย่างหนึ่งที่คนไทยชอบพูดถึงคือ เรื่องที่หลายๆ ชาติไม่ต้องมีการเกณฑ์ทหารอย่างไทย ซึ่งก็แน่นอนถ้าหันไปมองประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีก็น่าจะเป็นแบบนั้น แต่เราก็อาจต้องไม่ลืมว่าประเทศใกล้เคียงเราอย่าง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวันตามหลัก "ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่" ทุกคนต้องผ่านการเกณฑ์ทหารทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ถ้าหันไปมองในตะวันตก จริงๆ ก็ไม่ใช่ทุกชาติที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร และประเทศที่คุณภาพชีวิตสูงจัดอย่างฟินแลนด์และสวีเดนก็ล้วนมีการเกณฑ์ทหาร โดยฟินแลนด์ ระบบคล้ายๆ พวกสิงคโปร์และเกาหลีใต้คือ ผู้ชายต้องเกณฑ์ทหาร 1 ปีตอนอายุครบ 18 ปี นอร์เวย์ก็มีระบบเกณฑ์ทหารมายาวนานและเป็นประเทศ นาโต้ ประเทศแรกที่ต้องเกณฑ์ทหารทั้งชายและหญิงมาตั้งแต่ปี 2015 ส่วนสวีเดนซึ่งเป็นสมาชิกน้องใหม่ นาโต้ นั้นก็มีระบบที่น่าสนใจที่เราจะพูดถึงในที่นี้ในรายละเอียด
คำถาม คือ ทำไมประเทศพวกนี้ต้องเกณฑ์ทหาร?
คำตอบสั้นสุดคือ "โซเวียตรัสเซีย"
ประเทศนอร์ดิกทั้งหมดเป็นประเทศประชาธิปไตยที่อยู่ติดรัสเซีย ซึ่งในอดีตสถานะของฟินแลนด์กับสวีเดนเป็นรัฐกันชน ส่วนนอร์เวย์ชิงไปเป็นสมาชิกนาโต้มาตั้งแต่ตอนก่อตั้งในปี 1949
สิ่งที่ประเทศพวกนี้ตระหนักและ "กลัว" มาตลอดช่วงสงครามเย็น คือ สหภาพโซเวียตอาจบุกมาได้ตลอดเวลา ดังนั้นต้องป้องกันตัว จึงไม่แปลกที่ไม่ใช่แค่ 2 รัฐกันชนจะมีการเกณฑ์ทหารมาตลอด ส่วนนอร์เวย์ที่อยู่ห่างมาหน่อยก็ไม่เคยรู้สึกปลอดภัย และก็มีการเกณฑ์ทหารตลอดเช่นกัน โดยใน "ความเท่าเทียมทางเพศ" ผู้หญิงก็ต้องเกณฑ์ด้วยมาตั้งแต่ปี 2015 ปัจจุบันทหารนอร์เวย์ 1 ใน 3 เป็นผู้หญิง
ตามหลักทุกคนที่อายุถึงเกณฑ์ต้องเกณฑ์ทหารไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์หรือนอร์เวย์ อันนี้ปกติและเข้าใจได้ สวีเดนที่เคยยกเลิกเกณฑ์ทหารไปช่วงสั้นๆ ในปี 2010 ก่อนจะกลับมาเกณฑ์อีกในปี 2017 โดยเป็นการกลับมาพร้อมกลับ "ความเท่าเทียมทางเพศ" เพราะคราวนี้บังคับให้ผู้หญิงอายุครบ 18 ปีมา "รายงานตัว" ด้วย
ระบบสวีเดนต่างจากชาติอื่นที่มักจะบังคับคนอายุ 18 ปี "ทุกคน" ต้องเกณฑ์ทหาร แต่ระบบสวีเดนจะมีการ "เรียกรายงานตัว" พลเมืองอายุครบ 18 ปีทุกคนก่อน โดยจะทำการคัดกรองรอบแรกด้วยการทดสอบจิตวิทยา เอาคนออกไป 3 ใน 4 แล้วเอาคนที่สภาพจิตใจพร้อมมาทดสอบร่างกายเพื่อคัดคนออกอีก 2 ใน 3 และที่เหลือก็จะได้เป็นทหาร ไม่ว่าจะอยากเป็นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งถ้าจะเอาตัวเลขก็คือปีๆ หนึ่งจะมีเด็กอายุ 18 ปีต้องเข้าคัดกรองประมาณ 100,000 กว่าคน และคนที่จะต้องเป็นทหารจริงๆ คือเกือบ 10,000 คน
ตรงนี้หลายคนอาจฟังดูคุ้นๆ เพราะในทางปฏิบัติ หากตัดระบบ "จับใบดำใบแดง" ออกไป ระบบที่สวีเดนใช้คล้ายกับไทยมาก คือ เรียกคนอายุถึงเกณฑ์รายงานตัวทั้งหมด แต่ทำการ "คัดแค่บางส่วน" ไปเป็นทหาร
ระบบนี้ เอาจริงๆ ชาติตะวันตกหลายชาติมองว่า น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากในการเอาการ "เกณฑ์ทหาร" กลับมาในประเทศตัวเอง
ต้องเข้าใจก่อนว่าในอดีต การเกณฑ์ทหารหรือเอาคนที่อายุถึงเกณฑ์ออกมา "รับใช้ชาติ" ในภาวะสงครามคือเรื่องปกติมาก แต่หลังหลังโลกมี "สันติสุข" จากช่วงสงครามเย็น ชาติต่างๆ ก็ค่อยๆ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณมาก และใช้ระบบการจูงใจให้มาสมัครงานแบบงานปกติก็เพียงพอแล้วที่จะมีทหารพอใช้งาน
สถานการณ์เปลี่ยน หลังรัสเซียยึดแหลมไครเมีย และยกทัพบุกยูเครน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนหลังจากรัฐเซียไปยึดแคว้นไครเมียในปี 2014 ซึ่งทำให้นอร์เวย์ต้องเกณฑ์ทหารผู้หญิง และสวีเดนกลับมาเกณฑ์ทหาร การเคลื่อนไหวทางการทหารของรัสเซียทำให้สถานการณ์ไม่ดี และหนักขึ้นในปี 2022 เมื่อรัฐเซียยกทัพบุกเข้ายูเครนแบบหน้าตาเฉยโดยไม่แคร์สายตาของชาวโลก
แน่นอน นี่ทำให้ประเทศที่อยู่ติดๆ กับรัสเซียร้อนๆ หนาวๆ กันหมด ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้ก็เข้าร่วมนาโต้ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ประเทศอื่นนิ่งนอนใจ ทุกประเทศที่ "ไม่เป็นมิตร" กับรัสเซีย ตั้งแต่เยอรมันยันอังกฤษกำลังพิจารณาจะเอาการเกณฑ์ทหารกลับมาในบางรูปแบบ แต่ชาติที่มีประชากรมหาศาลเหล่านี้ก็มองว่าการเกณฑ์คนในวัย 18 ปีมาเป็นทหารเป็นการ "เล่นใหญ่" เกินไป เปลืองทั้งงบประมาณและบุคคลากร รวมถึงแนวโน้มที่ในทางการเมืองก็อาจเป็นสิ่งที่จะทำให้คนต่อต้านในวงกว้างแน่ๆ และนี่ทำให้แนวทางเรียกคนอายุถึงเกณฑ์มาคัดกรองให้หมดและคัดกรองแค่บางส่วนไปเป็นทหารในแนวสวีเดนนั้นเป็นแนวทางที่พึงประสงค์กว่ามาก
แน่นอน เรื่องพวกนี้มีบริบททางภูมิศาสตร์การเมืองที่เฉพาะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้การ "เอาเกณฑ์ทหารกลับมา" มันเป็นกระแสโลกจริงๆ ซึ่งเวลาแบบนี้ก็ไม่ใช่บรรยากาศที่เอื้อเลยกับไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมหรือนักการเมืองที่ต้องการ "ยกเลิก" การเกณฑ์ทหาร
อ้างอิง
Europe eyes Sweden’s conscription model to solve troop shortage
Sweden’s New Model Army
Conscription in Finland
Norwegian Armed Forces
Member states of NATO